สอน.-ม.เกษตร เร่งจดสิทธิบัตรผลวิจัยพันธุ์อ้อยและเครื่องมือ ปกป้องอุตฯไทย

สอน.-ม.เกษตร เร่งจดสิทธิบัตรผลวิจัยพันธุ์อ้อยและเครื่องมือ ปกป้องอุตฯไทย

สอน. ร่วมมือ ม.เกษตรศาสตร์ เร่งจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรงานวิจัยเรื่องพันธุ์อ้อย เครื่องมือเกษตร เทคนิคการปลูก ปกป้องอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย พร้อมเพิ่มศักยภาพแข่งขันในตลาดโลก

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า สอน. มีกระบวนการในการวิจัยและพัฒนาอ้อยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของ “โครงการสร้างนวัตกรรมเพื่อการผลิตอ้อยพันธุ์ดีและส่งเสริมอ้อยพันธุ์ใหม่” ซึ่งมีนวัตกรรมและองค์ความรู้เกิดขึ้นมากมาย รวมถึงพันธุ์อ้อยที่มีหลากหลายสายพันธุ์ก็เป็นผลจากการวิจัยในโครงการดังกล่าว

ทั้งนี้ สอน. ได้เล็งเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างกลไกในการจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร เพื่อขอรับรองชนิดพันธุ์พืชอ้อยและคุ้มครองกระบวนการพร้อมกลไกกระบวนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อย โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย และปกป้องเกษตรกรชาวไร่อ้อย และยังคงสามารถแข่งขันในระดับโลกได้ต่อไป จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการดำเนินโครงการจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร

โดยผลการวิจัยตามโครงการดังกล่าว สามารถนำไปสู่ขบวนการจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร และอื่นๆ ได้ ดังนี้
​1. จดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร จำนวน 11 รายการ
​2. ความลับทางการค้า จำนวน 8 รายการ
​3. ลิขสิทธิ์ จำนวน 10 รายการ
​4. จดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ (สิทธิบัตรพันธุ์พืช) จำนวน 20 รายการ
​5. จดทะเบียนแบบผังภูมิของวงจรรวม 1 รายการ

"ทั้งนี้ได้ดำเนินการยื่นแจ้งจดอนุสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาไปแล้ว 1 รายการ คือ เครื่องฆ่าเชื้อข้อตาอ้อยด้วยความร้อนขนาดเล็ก"

นายเอกภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า สอน. ยังประสบความสำเร็จในการศึกษา Whole Genome Sequence Sugarcane BA16017-01 โดยการวิเคราะห์ข้อมูลทาง DNA ของอ้อยพันธุ์ BA16017-01 ด้วยเทคนิค DNA Sequencing เพื่อบันทึกข้อมูล DNA ของอ้อยลงในฐานข้อมูล NCBI ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยมีขนาดของการบันทึกถึง 111 G of Bases ถือได้ว่าเป็นข้อมูลทาง DNA ที่มีขนาดใหญ่มากระดับ Meta ซึ่งน่าจะเป็นขนาดใหญ่ที่สุดขนาดหนึ่งเท่าที่ได้เคยรับการบันทึกจากประเทศไทย ถือเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจในงานวิชาการด้าน Bio -Tech กระทรวงอุตสาหกรรม