"โรงแรม" แบกต้นทุนพุ่งสู้ศึกรอบทิศ! วอนรัฐลดภาษีที่ดินฯ ต่อลมหายใจธุรกิจ
แม้รัฐบาลไทยจะใส่เกียร์เดินหน้านโยบาย “เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเต็มรูปแบบ” ไม่มีการกักตัว ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2565 เป็นต้นมา แต่ผู้ประกอบการ “โรงแรม” ต่างประสบปัญหา “แบกรับภาระต้นทุน” หลายด้าน!!
ทั้งต้นทุนทางการเงิน ครอบคลุมเงินต้นและดอกเบี้ยธนาคาร ต้นทุนค่าแรง ราคาพลังงานที่ใช้ในโรงแรม ต้นทุนสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ที่สูงขึ้นตาม “ภาวะเงินเฟ้อ”
มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า สมาคมฯต้องการขอความเห็นใจจากภาครัฐ ช่วยลดอัตราการจัดเก็บ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ปี 2565 แก่ภาคธุรกิจโรงแรม ซึ่งภาครัฐกลับมาจัดเก็บเต็มอัตรา 100% พร้อมขออนุโลมให้ผ่อนจ่ายระยะยาว เพื่อ “ต่อลมหายใจ” ผู้ประกอบการโรงแรม
เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการโรงแรมประสบปัญหาภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ เพราะภาษีที่ดินฯประเมินจากมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่ได้ขึ้นกับรายได้ของที่ดิน ทั้งยังประสบปัญหาขาดทุนระยะยาวจากการดำเนินธุรกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่โควิด-19 ระบาด และขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ แต่ต้องจ่ายภาษีในอัตรา 100% ส่งผลให้รายได้ลดน้อยลง จากปัจจุบันที่น้อยอยู่แล้ว
“แม้วิกฤติโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายแล้วก็จริง แต่นักท่องเที่ยวยังกลับมาไม่มากนัก ทำให้ตอนนี้ภาคธุรกิจโรงแรมเจอศึกรอบด้านหลังการเปิดประเทศ มีอุปสรรคต่อการกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนในการเปิดดำเนินการที่สูง นอกเหนือจากค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้ว ยังมีค่าสาธารณูปโภค ค่าจ้างแรงงาน ราคาสินค้าและพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานจากแรงงานบางส่วนลาออก หรือย้ายกลับภูมิลำเนาในช่วงก่อนหน้า”
ตามสถิติช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค.ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 1.33 ล้านคน เฉพาะเดือน พ.ค.มีจำนวน 5.32 แสนคน หากในช่วงโลว์ซีซั่น 4 เดือนที่เหลือ ตั้งแต่ มิ.ย.-ก.ย.มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเฉลี่ยเดือนละไม่น้อยกว่า 6 แสนคน และในไตรมาส 4 ซึ่งเข้าสู่ไฮซีซั่นเข้ามาอีกเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านคน จะทำให้ตลอดทั้งปีนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยประมาณ 7 ล้านกว่าคน เป็นไปตามเป้าหมายที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งไว้ที่ 7-10 ล้านคนในปีนี้ แต่ก็คิดเป็นการฟื้นตัวราว 20-25% เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวชาติเกือบ 40 ล้านคนเมื่อปี 2562
“เมื่อเจอศึกรอบด้านเช่นนี้ แนวทางการปรับตัวของธุรกิจโรงแรมในช่วงหลังเปิดประเทศ จำเป็นต้องควบคุมต้นทุนการดำเนินงาน บริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องหลังผ่านจุดต่ำสุดจากวิกฤติโควิด-19 มาแล้ว ขณะเดียวกันต้องแข่งขัน ช่วงชิงลูกค้าเข้าพักมากขึ้นด้วย”
ทั้งนี้จากผลการสำรวจ “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม” เดือน พ.ค.2565 โดยสมาคมโรงแรมไทย ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระหว่างวันที่ 11-25 พ.ค.ที่ผ่านมา จากผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 164 แห่ง (รวมโรงแรมที่เป็น AQ, Hospitel และ Hotel Isolation) ระบุว่า หลังการเปิดประเทศ ธุรกิจโรงแรมยังคงมีอุปสรรคต่อการกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ โดย 57% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด ชี้ว่าต้นทุนในการเปิดดำเนินการที่สูง เช่น ค่าสาธารณูปโภค ค่าจ้างแรงงาน ราคาสินค้าและพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น เป็นอุปสรรคสำคัญที่สุด!!
รองลงมา 46% คือดีมานด์อยู่ในระดับต่ำ จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังเข้ามาไม่มากนัก ขณะที่ 34% ระบุว่าสถานที่หรือกิจกรรมท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเปิดตามปกติ และ 30% มีปัญหาขาดแคลนแรงงานจากแรงงานบางส่วนลาออก หรือย้ายกลับภูมิลำเนาในช่วงก่อนหน้า
เมื่อเจาะประเด็น “ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในธุรกิจโรงแรม” พบว่า
- โรงแรมกว่า 54% เผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานไทยที่มีทักษะ
- สำหรับโรงแรมที่มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ส่วนใหญ่ 43% จ้างเพิ่มเป็นพนักงานชั่วคราว และยังคงจ้างด้วยอัตราจ้างเท่าเดิมในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้า
- ขณะที่ 21% ไม่มีการจ้างเพิ่ม แต่ปฏิบัติงานตามความสามารถที่ทำได้ด้วยอัตราค่าจ้างเท่าเดิม
- อย่างไรก็ตามมีโรงแรม 18% จ้างเพิ่ม โดยเพิ่มค่าจ้างเพื่อดึงดูดแรงงานใหม่
- ส่วน 16% ไม่จ้างเพิ่ม แต่มี OT ด้วยอัตราค่าจ้างเท่าเดิม
- และ 3% ไม่จ้างเพิ่ม แต่เพิ่มค่าจ้างเพื่อรักษาแรงงานเดิม
“จากการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ และนโยบายของรัฐบาลที่ให้ขยายระยะเวลาปีส่งเสริมท่องเที่ยวไทย หรือ Visit Thailand Year เพิ่มอีก 1 ปี เป็นตั้งแต่ปี 2565-2566 รวมถึงอานิสงส์จากการขยายสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 เพิ่มเติม สัญญาณจากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจเชื่อมโยงทยอยเปิดให้บริการกันอีกครั้ง หมายถึงการรับสมัครพนักงานกลับเข้ามาทำงาน หลังจากเลิกจ้างพนักงานไปเกือบทั้งหมดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ แรงงานในภาคธุรกิจโรงแรมที่ออกไปแล้วไม่กลับมา ธุรกิจกำลังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานการให้บริการ ความเชี่ยวชาญอย่างหนัก เนื่องจากเป็นธุรกิจโรงแรมที่รวมแรงงานที่มีความสามารถจากหลากหลายด้าน ถ้าไม่แก้ตอนนี้จะประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระยะยาว”
โดยจากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นฯดังกล่าว ระบุด้วยว่า เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โรงแรมมีการจ้างงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 68.2% ของการจ้างงานเดิมก่อนเกิดโควิด-19 สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั่วประเทศที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 36% จากเดือน เม.ย.ที่มี 35% ส่วนหนึ่งมาจากการจ้างพนักงานเพิ่มเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะทยอยเข้ามาหลังการเปิดประเทศแบบไม่กักตัว ตั้งแต่ 1 มิ.ย.2565
ทั้งนี้ในเดือน พ.ค. โรงแรมส่วนหนึ่งมีรายได้เริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ในภาพรวมยังคงมีรายได้อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับก่อนโควิด-19 โดยเกือบครึ่งหนึ่ง (46%) ยังมีรายได้กลับมาไม่ถึง 30% อย่างไรก็ดี โรงแรมที่มีรายได้กลับมาแล้วเกินครึ่งหนึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 26% จากเดือนก่อนที่มี 14%