“สนธิรัตน์' ชง ปรับลดราคาหน้าโรงกลั่น แก้วิกฤติน้ำมันแพง

“สนธิรัตน์' ชง ปรับลดราคาหน้าโรงกลั่น แก้วิกฤติน้ำมันแพง

อดีตรัฐมนตรีพลังงาน “สนธิรัตน์' เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย เสนอปรับลดราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมัน แก้วิกฤติน้ำมันแพง

วันนี้ (17 มิ.ย.65) ที่ทำการพรรคสร้างอนาคตไทย พรรคสร้างอนาคตไทย นำโดย นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค นายสันติ กีระนันทน์ กรรมการบริหารพรรค และนายนริศ เชยกลิ่น โฆษกพรรค ร่วมแถลงข่าวถึงมาตรการการแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพง เพื่อลดผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน และการเติบโตของเศรษฐกิจ ในช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวนในระดับสูงจากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน

 

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า พรรคสร้างอนาคตไทยมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ราคาน้ำแพง ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในขณะนี้ ซึ่งตนในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมองว่ายังมีแนวทางที่สามารถบริหารต้นทุนราคาน้ำมันให้ถูกลงเพื่อลดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนได้ โดยได้เคยทำมาแล้วสมัยตนเป็น รัฐมนตรีแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องมีทั้งมาตรการแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วน และการแก้ปัญหาเชิงรุกในระยะยาวให้ครอบคลุม สำหรับมาตรการระยะเร่งด่วนที่สามารถทำได้ และต้องทำทันทีคือ การลดราคาหน้าโรงกลั่น ลงโดยทบทวนการอ้างอิงราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์ชั่วคราว ด้วยการหักค่า FIL ได้แก่ ค่าขนส่ง ประกันภัย และค่าความสูญเสีย ออกในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤติเช่นนี้ 

“มาตรการที่เสนอมานี้สามารถทำได้ และต้องทำทันที ในช่วงที่ประชาชนลำบาก การงดการอ้างอิงชั่วคราวถือเป็นการลดต้นทุนแฝงในราคาน้ำมันได้ โดยรัฐต้องเป็นเจ้าภาพในการเข้าไปดูแล และหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการโรงกลั่น เพื่อหาจุดตรงกลางที่สามารถเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขร่วมกันได้ ที่สำคัญรัฐไม่ควรปล่อยให้ราคาน้ำมันดีเซลเกินเพดานที่สูงเกินไปเพราะจะทำให้ราคาสินค้าต่างๆ ขยับขึ้นตามค่าขนส่ง กระทบค่าครองชีพประชาชน ขณะเดียวกันก็ยังกระทบไปถึงต้นทุน และการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ เหมือนวิกฤติซ้ำวิกฤติอีกด้วย”

ขณะที่ การแก้ปัญหาเชิงรุกระยะยาว นายสนธิรัตน์ ได้เสนอ 3 แนวทางสำคัญ คือ1. การพิจารณาเพดานค่าการกลั่นให้มีความเป็นธรรมทั้งต่อประชาชนผู้บริโภค และผู้ประกอบการโรงกลั่น โดยพิจารณาในส่วนของค่าพรีเมียม และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ยืดหยุ่นได้ ซึ่งตรงนี้รัฐต้องเป็นเจ้าภาพเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน 2.การหาแหล่งพลังงานราคาถูกในต่างประเทศเพิ่มเติม และ 3. การสร้างยุทธศาสตร์พลังงานระยะยาว 2 แนวทาง คือ  1. การวางแผนการสำรองน้ำมันในภาวะวิกฤติ (Storage Petroleum Reserve) ซึ่งเป็นแผนที่ใช้รองรับช่วงที่เกิดวิกฤติ โดยสามารถดำเนินการในช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีราคาถูกลง เพื่อสำรองใช้เมื่อเกิดวิกฤติ นอกเหนือจากการใช้เพียงกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบันเพียงอย่างเดียว 2. การหันมาใช้ภาษีคาร์บอน ที่สามารถนำมาปรับใช้ร่วมกับภาษีสรรพสามิต เพื่อนำเงินภาษีนี้มาใช้ส่งเสริมการลงทุนในพลังงานทางเลือก ซึ่งพรรคมีนโยบายการส่งเสริมการใช้ พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell)ทั่วประเทศ ซึ่งจะลดการพึ่งพิงพลังงานจากปีโตรเลียมลง

ด้านนายสันติ ได้ชี้ให้เห็นว่า ที่ผ่านมากลุ่มผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน มีกำไรที่ไต่ระดับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเทียบตัวเลขย้อนหลัง 5 ปี พบว่ามีกำไรมหาศาล และคาดการณ์จากผลประกอบการในไตรมาสแรกของปี 2565 มีแนวโน้มที่จะเห็น กลุ่มโรงกลั่นจะมีกำไรพุ่งขึ้นกว่า 28 เปอร์เซ็นต์ หากคิดเป็นผลประกอบการเต็มปี นอกจากนั้น โรงกลั่นใหญ่ 3 โรง ซึ่งเป็นผู้นำตลาด ล้วนแล้วแต่มี ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นแต่ละบริษัทไม่น้อยกว่า 45% ของหุ้นทั้งหมด และ ปตท. เอง ก็มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น 51.11% และยังมีกองทุนรวมวายุภักษ์ถือหุ้นอีก 12.16% ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของโรงกลั่น ก็คือ รัฐนั่นเอง เชื่อว่ารัฐสามารถมีมาตรการเพื่อให้บริษัทเหล่านั้นเปลี่ยนจากการมุ่งทำกำไรระยะสั้นลง แต่หันไปมองผลกำไรระยะยาว ตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development)แทน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์