สะพานข้ามโขงแห่งใหม่ หนุนโครงข่ายขนส่งไทย-ลาว-จีน
โครงการรถไฟลาว - จีน เปิดบริการอย่างเป็นทางการ 4 ธ.ค.2564 ที่ผ่านมา ส่งเสริมการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างลาวและจีนให้มีความสะดวกและรวดเร็ว อยู่ใกล้กับจังหวัดหนองคาย เป็นโอกาสทางการค้าและการเดินทางระหว่างประเทศ
อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ประชุมหารือโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างไทย - ลาว – จีน (ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์) ร่วมกับเวียงสะหวัด สีพันดอน รัฐมนตรีโยธาธิการและขนส่ง ผู้แทนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ณ กรมโยธาธิการและขนส่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมฉายภาพถึงความพร้อมของไทยในการเชื่อมต่อโครงข่ายระบบรางดังกล่าว
สำหรับเส้นทางรถไฟลาว - จีน มีความสำคัญในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เมื่อมีการเชื่อมต่อโครงข่ายโดยสมบูรณ์จากจีน ลาว มายังไทย โดยขณะนี้ไทยได้มีแผนเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟหนองคายไปยังสถานีรถไฟเวียงจันทน์ ด้วยการพัฒนาสถานีรถไฟหนองคาย ให้สามารถรองรับการขนส่งผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1
โดยปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้แบ่งพื้นที่ย่านสถานีหนองคาย ซึ่งมีขนาดพื้นที่ 1.3 แสนตารางเมตร ขณะนี้เป็นสถานีตรวจปล่อยสินค้าขนาด 46,800 ตารางเมตรที่ดำเนินการโดยกรมศุลกากร และ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างพิจารณาแบ่งพื้นที่คงเหลือจากพื้นที่ตรวจปล่อยเป็น 6 แปลง พื้นที่แปลงละ 16,640 ตารางเมตร เพื่อออกประกาศเชิญชวนเอกชนลงทุน จำนวน 4 แปลง และกันไว้เป็นพื้นที่ส่วนกลางอีก 2 แปลง
ขณะเดียวกัน ไทยยังมีแผนพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทาประมาณ 268 ไร่ เป็นย่านขนถ่ายสินค้า (Transshipment Yard) ในรูปแบบ One Stop Service ที่สำคัญทั้งขาเข้า – ขาออกรองรับการขนส่งสินค้าเชื่อมรถไฟไทย - ลาว - จีน โดยอยู่ระหว่างจัดหาเอกชนร่วมลงทุน ซึ่งสถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดโครงการ คาดว่าจะสามารถเสนอแผนพัฒนาให้กระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาในปีหน้า ก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
อธิรัฐ ยังหารือร่วมกับ สปป.ลาว ถึงแนวทางการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเชื่อมต่อรถไฟ หนองคาย - เวียงจันทน์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสะพานมิตรภาพไทย - ลาว (หนองคาย - เวียงจันทน์) ในปัจจุบัน ห่างจากสะพานเดิมประมาณ 30 เมตร โดยสะพานแห่งใหม่จะมีทางรถไฟขนาดทางมาตรฐานและขนาดทาง 1 เมตร และ 1.435 เมตร อีกทั้งยังสามารถรองรับรถยนต์ได้ด้วย
โดยการพัฒนาโครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ฝ่ายไทยจะเป็นผู้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดการก่อสร้าง ซึ่งจากการหารือร่วมกัน ผู้แทน สปป.ลาว แจ้งว่าฝ่ายลาวยินดีให้ความร่วมมือกับฝ่ายไทยในการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ โดยขอให้ฝ่ายไทยออกแบบและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการประชุมหารือร่วมกันในการประชุมครั้งถัดไป
ขณะเดียวกันผลการหารือครั้งนี้ สปป.ลาวยังมีข้อเสนอเกี่ยวกับการเชื่อมโยงระบบขนส่งระหว่างประเทศ ประกอบด้วย
1. ฝ่ายลาวเสนอให้มีการใช้มาตรฐานระบบรางเดียวกันทั้งฝ่ายไทยและลาว เพื่อความสะดวกในการใช้งาน
2. ฝ่ายลาวยินดีให้ไทยศึกษาแนวทางการก่อสร้างสะพานแม่น้ำโขงทั้งสะพานรถไฟและรถยนต์ ซึ่งจะได้พิจารณาผลการศึกษาร่วมกันต่อไป โดยเบื้องต้นฝ่ายลาวเสนอว่าสะพานรถไฟและสะพานรถยนต์ควรแยกจากกัน
3. ฝ่ายลาวรับไปพิจารณาการขยายเวลาการให้บริการการขนส่งข้ามสะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 ภายหลัง 22.00 น. ตามข้อเสนอของฝ่ายไทย
4. สปป.ลาว ยินดีที่จะขอเรียนเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมศักดิ์สยาม ชิดชอบ มาเยื่อนลาว เพื่อประชุมหารือเกี่ยวกับโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟ ช่วงหนองคาย - เวียงจันทน์ ณ สปป.ลาว พร้อมคณะอีกครั้ง ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกันในเดือน ก.ค.นี้
อีกทั้งยังมีแผนเดินขบวนรถโดยสารระหว่างสถานีหนองคาย – ท่านาแล้ง โดยกลางปีนี้จะขยายต้นทางและปลายทางขบวนรถจากสิ้นสุดฝั่งลาวสถานีท่านาแล้ง ขยายเป็นสถานีบ้านคำสะหวาด ให้บริการวันละ 4 ขบวนไป-กลับ ส่วนแผนระยะกลางดำเนินการในปี 2566 จะขยายสถานีฝั่งไทยจากหนองคายเป็นอุดรธานี 4 ขบวนไป-กลับ และเพิ่มเส้นทางเดินรถจากสถานีนครราชสีมา - บ้านคำสะหวาด 2 ขบวนไป-กลับ
ทั้งนี้ จากการเดินทางมาเยือน สปป.ลาว ในครั้งนี้ ถือเป็นการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศจีน มายัง สปป.ลาว และประเทศไทย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและลดต้นทุนการขนส่งสินค้าตลอดเส้นทาง เมื่อเกิดการเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างสามประเทศ รวมทั้งมีเป้าหมายหลักในการยกระดับชีวิตของประชาชน ส่งเสริมเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงทางคมนาคม ตลอดจนความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนทั้งสามประเทศ