6 เดือนแรก “โออาร์” ควักเงินซื้อธุรกิจอะไร ? !
เปิด “ขุมทรัพย์ใหม่” ต่อยอดธุรกิจของ “ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก” บ่งชี้ผ่าน 6 เดือนแรกปี 2565 เข้าลงทุน “4 ดีล” มูลค่ากว่า 2.4 พันล้านบาท !! เติมเต็มการ "ขยายธุรกิจ" ให้รวดเร็ว และสร้าง "การเติบโต" มากขึ้น ด้วยการจับมือกันจึงเป็นกลยุทธ์ Short cut ที่ทำให้ทั้งสองฝ่าย Win-Win
ภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-19 รุมเร้าทั่วโลก !! ดูเหมือนทำธุรกิจทั่วโลกชะลอตัว หรือล้มหายไปบ้าง แต่นั้น...ไม่ใช่องค์กรขนาดใหญ่ที่มี “ศักยภาพและเงินลงทุน” ที่เป็นเครื่องมือติดอาวุธพร้อมแสวงหาโอกาสทางธุรกิจเพื่อเป็นบันไดสร้างการเติบโต การจับมือกันจึงเป็นกลยุทธ์เพิ่มยอดขาย (Short cut) ที่ทำให้ทั้งสองฝ่าย Win-Win สะท้อนผ่านภาพองค์กรขนาดใหญ่ควักเงินลงทุนในธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก และสตาร์ทอัพมากมาย ในหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น การเข้าถือหุ้น , ซื้อกิจการ (M&A) รวมไปถึงร่วมทุน ...
หนึ่งในองค์กรขนาดใหญ่ที่นอกจากสร้างการเติบโตแบบ Organic Growth แล้ว ยังให้ความสำคัญกับ Inorganic Growth ด้วยการลงทุนในบริษัทต่างๆ ที่มีศักยภาพ และมีวิสัยทัศน์สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน คือ บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR ซึ่ง “โออาร์” เป็นหนึ่งธุรกิจแขน-ขาที่เป็น “เรือธง” สร้างการเติบโตของผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง บมจ. ปตท. หรือ PTT ถือหุ้น OR สัดส่วน 75% (ตัวเลข ณ วันที่ 1 มี.ค.2565)
ผ่านมาครึ่งแรกของปี 2565 !! OR ควักเงินซื้อหุ้นหรือลงทุนในธุรกิจอะไรบ้าง ? เพื่อเตรียมความพร้อมขยายธุรกิจให้มากกว่า “สถานีเติมน้ำมัน” และขยาย “ระบบนิเวศ” (Ecosystem) ให้มากกว่า “ธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม” โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ หรือ Non-oil ในเครือ เข้ากับ Digital Platform ซึ่งจะทำให้เห็นยุทธศาสตร์เสริมความแข็งแกร่ง Portfolio กลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์
6 เดือนแรก ! เดินหน้าลุยลงทุนต่อเนื่อง โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 2,433 ล้านบาท สะท้อนผ่าน การให้ บริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด (Modulus) บริษัทย่อยที่ OR ถือหุ้น 100% เป็น “หัวหอก” เข้าลงทุน โดย 20 พ.ค. 2565 OR แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า คณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) มีมติอนุมัติให้ “มอดูลัส เวนเจอร์” เข้าลงทุนซื้อหุ้นบุริมสิทธิออกใหม่ของ บริษัท โพลาร์แบร์มิชชั่น จำกัด (Freshket) ในวงเงินไม่เกิน 14.5 ล้านดอลลาร์ หรือ 500 ล้านบาท เสริมความแข็งแกร่งธุรกิจค้าปลีก
โดย Freshket สตาร์ทอัพไทยเป็นผู้ให้บริการธุรกิจห่วงโซ่อุปทานด้านอาหาร (Food Supply Chain Service) ซึ่งดำเนินการจัดหา นำเข้า และจัดจำหน่ายวัตถุดิบคุณภาพดีสำหรับลูกค้าร้านอาหาร โรงแรม และผู้บริโภค โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการระบบห่วงโซ่อุปทานด้านอาหารให้มีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใส
การลงทุนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ ความแข็งแกร่งของธุรกิจค้าปลีกของ OR และบริษัทในเครือ และตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค รวมทั้งสร้างโอกาสในการเติบโตร่วมกันแบบ inclusive growth ทั้งในและต่างประเทศ
ต่อมา 6 มิ.ย. 2565 แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า บอร์ดมีมติอนุมัติให้ OR หรือ บริษัทในกลุ่ม OR โดยให้บริษัท พีทีทีโออาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้งส์ (สิงคโปร์) จำกัด (SG HoldCo) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ OR ผ่านบริษัท พีทีที โออาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด (OR Holdings) ลงทุนในระบบบริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ณ สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
ในรูปแบบการร่วมลงทุนในบริษัทร่วมค้า (Joint Venture) ระหว่าง SG HoldCo, บริษัท China National Aviation Fuel International Holdings Limited (CNAF) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน และบริษัท Total Energies Marketing (Cambodia) Co., Ltd. (TOTAL) บริษัท ในกลุ่มของบริษัท TotalEnergies จากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งทั้ง 3 บริษัทฯจะถือหุ้นในสัดส่วนเท่ากัน โดย SG HoldCo ถือหุ้นในสัดส่วน 33.33%, CNAF 33.33% และ TOTAL 33.33% ตามลำดับ
ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวมีแหล่งเงินลงทุนมาจากเงินกู้ยืมและเงินทุนจากผู้ถือหุ้น ซึ่งเงินลงทุนในส่วนของ OR จะอยู่ภายในวงเงินไม่เกิน 18.20 ล้านดอลลาร์ หรือ 618 ล้านบาท
โดยมีวัตถุประสงค์ของการร่วมทุนเพื่อเป็นการสร้างศักยภาพในการแข่งขันและเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานในต่างประเทศ และรักษาโอกาสและสิทธิในการขายน้ำมันอากาศยานในประเทศกัมพูชา
8 มิ.ย. 2565 แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า บอร์ดมีมติอนุมัติให้ “มอดูลัส เวนเจอร์” จัดตั้งบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) ร่วมกับ บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด (บุญรอดฯ) ซึ่ง Modulus ถือหุ้นในสัดส่วน 50% และบุญรอดฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 50% ของทุนจดทะเบียน
ทั้งนี้ เงินลงทุนในส่วนของ Modulus จะอยู่ภายในวงเงินไม่เกิน 210 ล้านบาท !!
โดยมีวัตถุประสงค์การลงทุนเพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสำเร็จรูปพร้อมดื่มโดย Modulusได้เข้าลงนามสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นร่วมกับบุญรอดฯ แล้วเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565 และคาดว่าจะสามารถจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ปี 2565
17 มิ.ย. 2565 แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ บอร์ดมีมติให้ “มอดูลัส เวนเจอร์” เข้าลงทุน โดยการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บริษัท เค-เนกซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (KNEX) ในวงเงินไม่เกิน 1,105 ล้านบาท โดยภายหลังการเข้าลงทุนดังกล่าวจะทำให้ Modulus มีสัดส่วนการถือหุ้น 40% และกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของ KNEX มีสัดส่วนการถือหุ้น 60%
โดย KNEX เป็นผู้ดำเนินธุรกิจจำหน่ายเครื่องซักผ้า และเครื่องอบผ้าแบบอุตสาหกรรม รวมถึงประกอบกิจการร้านสะดวกซักภายใต้แบรนด์ “Otteri Wash & Dry” การลงทุนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายสู่ธุรกิจใหม่ เสริมสร้างศักยภาพธุรกิจค้าปลีกของ OR โดยเพิ่มความหลากหลายของสินค้าและบริการให้กับผู้บริโภค รวมทั้งสร้างโอกาสในการเติบโตร่วมกัน ทั้งในและต่างประเทศ
** หากย้อนเส้นทางการลงทุนของ “OR” ปี 2564 เข้าลงทุนในธุรกิจ
เข้าถือหุ้น 20% ใน บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด เจ้าของร้านอาหารโอ้กะจู๋ ด้วยเงินลงทุน 500 ล้านบาท โดยต่อยอดให้โอ้กะจู๋ เปิดสาขาใน PTT Station และพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบ Grab & Go เช่น แซนด์วิช วางจำหน่ายในร้าน Café Amazon
เข้าลงทุนใน Flash Express ต่อยอดสู่การให้บริการจุดรับส่งพัสดุของ Flash Express ภายในร้าน Café Amazon บางสาขา , ใช้ Distribution Center ร่วมกับ OR และมีแผนต่อยอดธุรกิจรูปแบบ O2O
เข้าร่วมทุนกับ บมจ. บลูบิค กรุ๊ป หรือ BBIK ตั้งบริษัท Orbit Digital มีสัดส่วนการถือหุ้น OR 40% และ BBIK 60% เพื่อยกระดับขีดความสามารถขององค์กรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่การเพิ่มมูลค่าและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
การเปิดตัวธุรกิจใหม่ “Care4Car” (Care for Car) เพื่อให้บริการ O2O Maintenance ที่เชื่อมต่อกับศูนย์ให้บริการด้านรถยนต์ “Fit Auto” ของ OR โดยลูกค้าสามารถเลือกอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถที่ต้องการ และเลือกวัน-เวลา-สาขาของ Fit Auto ที่สะดวกมาใช้บริการผ่าน Care4Car
การร่วมทุนกับ บมจ. บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ หรือ BAFS จัดตั้ง บริษัท โกลเบิลแอโร่แอสโซซิเอทส์ จำกัด หรือ GAA ให้บริการระบบน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก รองรับการเติบโตของ EEC
นอกจากนี้ ยังมีการเข้าลงทุนใน “สตาร์ทอัพ” นั่นคือ จับมือกองทุน 500 Startups หรือ 500 TukTuks ตั้ง ORZON Ventures โดย OR ถือหุ้น 99% และ 500 Startups ถือหุ้น 1% เพื่อสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ และเติมเต็ม Business Ecosystem ของ OR ด้วยกองทุนมูลค่า 25–50 ล้านเหรียญดอลลาร์ภายใน 5 ปี
การร่วมลงทุนในกองทุน “ฟินโนเวนเจอร์ ไพรเวท อิควิตี้ ทรัสต์ I” ของกรุงศรีฟินโนเวต ด้วยมูลค่าเงินลงทุน 300 ล้านบาท จากมูลค่ากองทุนขนาด 3,000 ล้านบาท เพื่อแสวงหาสตาร์ทอัพที่จะขยาย OR Ecosystem ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
การตั้งหน่วยงานภายในองค์กร OR ชื่อว่า “ORion” ทำหน้าที่เฟ้นหาสตาร์ทอัพ และนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาของสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นทิศทางการสร้างความยั่งยืนของ OR การจับมือกับ “สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (PMCU) ติดตั้งสถานี “EV Station PluZ” ครอบคลุมทั้งสยามสแควร์ และสามย่าน
การเข้าถือหุ้น 25% ใน “บริษัท อิ่มทรัพย์ โกลบอล คูซีน จำกัด” ผู้ให้บริการร้านอาหาร KOUEN เพื่อเติมเต็มพอร์ตฯ ธุรกิจอาหาร โดย synergy ให้ร้าน KOUEN และ ONO Sushi มาเปิดในสถานีบริการ PTT Station โดยในปี 2565 มีแผนขยาย ONO Sushi 10 แห่งใน PTT Station และขยาย KOUEN 6 สาขาใน PTT Station และการเข้าถือหุ้น 25% ใน “บริษัท คามุ คามุ จำกัด” ผู้ให้บริการร้าน KAMU KAMU เพื่อเจาะตลาดกลาง–บน ขณะที่อีกแบรนด์ร้านเครื่องดื่มชาของ OR คือ Pearly Tea สำหรับทำตลาดทั่วไป (Mass)
การขยายลงทุนของ OR ได้เข้าไปลงทุน Inorganic Growth โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะธุรกิจ SME , สตาร์ทอัพเท่านั้น แต่ยังรวมถึง Corporate ด้วยเช่นกัน เราสนใจหาพาร์ทเนอร์ร่วมลงทุน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อเติมเต็มการเติบโต “จิราพร ขาวสวัสดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ OR ตอกย้ำแผนธุรกิจสร้างการเติบโตของ OR !!