‘ยูเออี’ ชวนไทย ทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ
พาณิชย์ หารือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เดินหน้าเปิดประตูเชื่อมโยงการค้า ด้านยูเออี สนใจทำสัญญาซื้อข้าวพร้อมชวนไทย จัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (CEPA) ส่วนไทย พร้อมผลักดันเร่งหาข้อสรุป MoU จัดตั้งJTC
นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นผู้แทนเข้าร่วมหารือกับนายอับดุลนัซเซอร์ จามาล อัลชะลี (H.E.Mr. Abdulnasser Jamal Alshaali) ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ด้านเศรษฐกิจและการค้า เนื่องในโอกาสที่นำคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนของยูเออีเดินทางเยือนไทย เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา ณ กระทรวงพาณิชย์
ไทยได้ใช้โอกาสนี้ เน้นย้ำถึงศักยภาพของไทยและยูเออีที่สามารถพัฒนาไปเป็นประตูการค้าระหว่างกันได้ โดยยูเออีสามารถเป็นจุดเชื่อมโยงสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก ประกอบกับมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยมีผลบังคับใช้แล้วถึง 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ทำให้ไทยมีศักยภาพในการเป็นจุดหมายการลงทุนและเป็นประตูการค้าให้ยูเออีสามารถเข้าถึงตลาดอาเซียนได้ สำหรับยูเออีได้แสดงความสนใจที่จะทำสัญญาซื้อข้าวจากไทย และเห็นโอกาสที่เอกชนสองฝ่ายสามารถร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตข้าวได้ในอนาคต รวมทั้งได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาดำเนินกิจการด้านโทรคมนาคมในไทยอีกด้วย
นายสรรเสริญ กล่าวว่า ยูเออีอยู่ระหว่างเดินหน้าจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศ และให้ความสนใจกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นอย่างมาก โดยยูเออีได้เชิญชวนไทยพิจารณาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement: CEPA) ระหว่างไทยกับยูเออี ซึ่งไทยเล็งเห็นประโยชน์ในการจัดทำ CEPA กับยูเออีเช่นกัน โดยได้แจ้งกับฝ่ายยูเออีเกี่ยวกับเรื่องกระบวนการภายในของไทยก่อนเข้าร่วมการเจรจา อาทิ การศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบต่อไทยทั้งเชิงบวกและเชิงลบ และการรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
นอกจากนี้ ไทยได้ผลักดันให้สองฝ่ายเร่งหาข้อสรุปต่อร่างบันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย – ยูเออี ที่ไทยได้เสนอให้ยูเออีพิจารณาก่อนหน้านี้ เพื่อใช้ JTC เป็นเวทีหารือโดยตรงระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของไทยและกระทรวงเศรษฐกิจของยูเออี และหารือเกี่ยวกับการจัดทำ CEPA ระหว่างกันได้ ทั้งนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศฯ ยูเออี รับจะหารือเรื่องดังกล่าวกับกระทรวงเศรษฐกิจต่อไป
นอกจากนี้ ยูเออียังต้องการผลักดันการจัดทำ MoU ว่าด้วยการจัดตั้งสภาธุรกิจร่วมระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมยูเออี เพื่อเป็นเวทีหารือของภาคเอกชนสองฝ่าย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ของไทยเห็นประโยชน์ของกลไกดังกล่าว และจะช่วยติดตามเรื่องกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยต่อไป นอกจากนี้ ได้เชิญชวนนักธุรกิจยูเออีเข้าร่วมงานแสดงสินค้าของไทยที่มีกำหนดจัดในปีนี้ ได้แก่ งานแสดงสินค้าและบริการด้านโลจิสติกส์ (TILOG VE/TILOG-LOGISTIX) งานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (BGJF) และงานแสดงสินค้าครื่องปรับอากาศและเครื่องทําความเย็น (RHVAC)
ทั้งนี้ ในปี 2564 ยูเออี เป็นคู่ค้าอันดับที่ 13 ของไทยในตลาดโลก และอันดับ 1 ในตะวันออกกลาง โดยการค้าระหว่างไทยกับยูเออี มีมูลค่า 12,322.1 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 66.2% จากปี 2563 สัดส่วนการค้าคิดเป็น 2.3 % ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย โดยไทยส่งออกไปยูเออี มูลค่า 2,781.6 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ส่วนไทยนำเข้าจากยูเออี มูลค่า 9,540.5 ล้านดอลลาร์ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ และก๊าซธรรมชาติ