‘สมช.’ ดัน 3 แผนสู้ ‘วิกฤติพลังงาน’ เปิดทางตั้ง ‘วอร์รูม’รับสถานการณ์

‘สมช.’ ดัน 3 แผนสู้ ‘วิกฤติพลังงาน’  เปิดทางตั้ง ‘วอร์รูม’รับสถานการณ์

“ประยุทธ์” วางเกณฑ์ 3 ข้อแก้ปัญหาพลังงานหลังสงครามยืด ชี้ต้องไม่ขาดแคลน ธุรกิจเดินต่อได้ เล็งดูแลเฉพาะกลุ่มเปราะบาง สมช.ถกนัดแรก สั่งปรับแผนเผชิญเหตุ เสริมแผนรองรับวิกฤติพลังงาน “ปณิธาน” ชี้กลไก สมช.เหมาะยกเคสชี้ขาดปัญหา “พลังงาน-พาณิชย์” ขัดแย้งปมค่าการกลั่น

สถานการณ์ราคาพลังงานที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องมากตั้งแต่เกิดสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เมื่อปลายเดือน ก.พ.2565 ได้ทำให้หลายประเทศเจอปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งรัฐบาลได้สั่งการให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหน่วยงานหลักในการหารือร่วมกับหน่วยงานด้านต่างประเทศ และหน่วยงานด้านพลังงาน เพื่อทำแผนเผชิญเหตุรองรับวิกฤติพลังงานในช่วง 3-6 เดือน ข้างหน้า

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยกำลังเผชิญกับปัญหาด้านพลังงานมากพอสมควร ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกที่จำเป็นต้องเร่งคลี่คลายสถานการณ์ให้ได้มากที่สุด โดยปัญหาเรื่องราคาพลังงานที่สูงขึ้นไม่ได้เกิดเฉพาะประเทศไทยแต่เกิดกับทุกประเทศทั้งโลก และมีปัจจัยจากหลายกลุ่ม หลายฝ่ายเกี่ยวข้อง

“ผมยืนยันว่าทุกประเทศที่มีการนำเข้าต้นทุนพลังงานจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย ของเราทราบดีอยู่แล้วว่ามีพลังงานของเราเองเท่าไหร่ ทั้งทางบก ทางทะเล อะไรก็แล้วแต่ รัฐบาลก็พยายามหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติมเพื่อทดแทนแก้ปัญหาในอนาคตอย่างยั่งยืน ซึ่งจะมีการพิจารณา เพราะเราจะต้องแก้ปัญหาให้ได้”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ทั้งนี้ ได้ให้ นโยบายในการดูแลราคาพลังงานในประเทศไทยต้องอยู่บนหลักการ 3 ข้อได้แก่

1.รัฐบาลต้องดูแลความมั่นคงในเรื่องของเสถียรภาพพลังงานในประเทศ ไม่ให้เกิดการขาดแคลนพลังงาน ที่จะส่งผลต่อการใช้พลังงานของประชาชนและภาคธุรกิจ

2.รัฐบาลต้องดูแลราคาพลังงานไม่ให้กระทบประชาชนมากเกินไป โดยเฉพาะราคาดีเซลและก๊าซหุงต้มที่กระทบค่าครองชีพประชาชนวงกว้าง ซึ่งวันนี้ราคาน้ำมันขายปลีกไทยถ้าเทียบประเทศเพื่อนบ้านยังต่ำอยู่ในลำดับที่ 7 หรือ 8 จาก 10 ประเทศในอาเซียน

3.การดูแลช่วยเหลือราคาพลังงานในระยะต่อไปรัฐบาลจะต้องดูแลช่วยเหลือครอบครัวหรือกลุ่มเปราะบาง ผ่านมาตรการที่มีอยู่ เช่นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรืออาจให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายเป็นรายกิจกรรม หรือช่วยเหลือผู้ประกอบการเฉพาะราย

“รัฐบาลต้องรักษาสมดุล การใช้เงินต่างๆ เหล่านี้เพื่อช่วยเหลือประคับประคองพลังงานและการเจริญเติบโตเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงินการคลัง เพื่อเติบโตให้ได้ในอนาคต ถ้ามีภาระมากเกินไป วันหน้าทุกอย่างจะย้อนกลับมาเป็นปัญหาต่อไปอีกในอนาคต”

สมช.เร่งถกทำแผนพลังงาน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นัดประชุมจัดทำแผนรับมือวิกฤติพลังงานนัดแรกวานนี้ (22 มิ.ย.) เป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง เพื่อรวบรวมข้อมูลสถานการณ์และปัญหาต่อความมั่นคงพลังงานและอาหาร รวมถึงผลจากสถานการณ์การสู้รบระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยืดเยื้อ 

ทั้งนี้ หน่วยงานเศรษฐกิจที่เข้าร่วมประชุม เช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือแผนการรองรับวิกฤติระดับประเทศที่มีหลายแผนและหลายด้าน โดย สมช.มีแผนบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤติ ซึ่งจัดทำแผนแล้วเสร็จตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2565 ในช่วงยังไม่มีสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย และราคาพลังงานยังไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นเท่าในปัจจุบัน ดังนั้นจำเป็นต้องปรับปรุงแผนการบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤติของ สมช.ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน

รวมแผนความมั่นคง-พลังงาน

รวมทั้งจะต้องนำแผนการบริหารวิกฤติด้านพลังงานที่กระทรวงพลังงานไว้ในการซักซ้อมแผนรับมือวิกฤติพลังงานช่วงปลายไตรมาส 1  ปี 2565 ซึ่งได้จำลองสถานการณ์วิกฤติพลังงานที่เกิดจากสงครามในยุโรปที่ส่งผลต่อการจัดหาก๊าซธรรมชาติและราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สนพ.ได้ส่งผู้แทนร่วมหารือกับ สมช.เพื่อเตรียมจัดทำแผนรับมือวิกฤติด้านพลังงาน โดยอาจเป็นการรวมแผนของหลายหน่วยงานสังกัดกระทรวงพลังงาน เช่นกรมธุรกิจพลังงาน โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมด้านความมั่นคงด้านน้ำมันและไฟฟ้า ซึ่งเวลานี้อาจจะเกิดวิกฤติจึงถือเป็นการเตรียมการหากขาดแคลน โดยกรมธุรกิจพลังงาน จะเป็นหน่วยงานหลักในการออกกฎระเบียบการสำรองพลังงานเพื่อความมั่นคงของประเทศ

กลไก สมช.เหมาะใช้รับมือ

นายปณิธาน วัฒนายากร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษา สมช.เปิดเผย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การที่นายกรัฐมนตรีใช้กลไก สมช.รับมือวิกฤติพลังงานและอาหารเป็นกลไกที่เหมาะสมในการบริหารราชการแผ่นดินปัจจุบัน เพราะทั้งพลังงานและอาหารเป็นความมั่นคงที่ต้องดูแลเพื่อไม่ให้เกิดความขาดแคลนหรือราคาสูงจนกระทบประชาชน

ทั้งนี้องค์ประกอบของ สมช.ไม่ได้มีเฉพาะหน่วยงานความมั่นคง แต่มีกระทรวงเศรษฐกิจด้วย ซึ่งใช้อำนาจได้เมื่อมีปัญหาที่อาจกระทบความมั่นคง เช่น อาหารขาดแคลนที่อาจนำไปสู่จลาจลในประเทศ หรือปัญหาขาดแคลนพลังงานที่อาจนำไปสู่ปัญหาไฟดับวงกว้าง 

นอกจากนี้ สมช.มีอำนาจและเครื่องมือหลายส่วนที่ใช้ดูแลสถานการณ์ได้ โดยเริ่มจากการขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และออกเป็นกฎหมายบังคับ ซึ่ง สมช.มีอำนาจใช้ได้ตั้งแต่การใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่ง สมช.กำหนดพื้นที่เฉพาะหรือสินค้าที่จำเป็นไม่ให้กักตุนหรือขายโดยมุ่งกำไรสูงเกินไป

ยกเคส“พาณิชย์-พลังงาน”

รวมทั้งตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามสถานการณ์ตั้งแต่ช่วงยังไม่เกิดวิกฤติเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ซึ่งกรณีนี้นายกรัฐมนตรีควรเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและพลังงานมานั่งอยู่ในวอร์รูมนี้และรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชนในวงกว้าง

“ข้อดีของ สมช. คือ ตัดสินชี้ขาดได้ว่าบางเรื่องที่กระทรวงเห็นไม่ตรงกันว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของใครในการแก้ไขปัญหากันแน่ เช่น เรื่องของโรงกลั่น มีการโยนกันไปกันมาระหว่างกระทรวงพลังงาน และกระทรวงพาณิชย์ว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงใดที่จะใช้กฎหมายที่ทำให้ค่าการกลั่นลดลง ดึงกำไรจากบางส่วนมาเข้ากองทนุนน้ำมันฯ ซึ่งในลักษณะแบบนี้ สมช.ชี้ขาดได้แล้วให้ไปดำเนินการตามคำสั่ง จากนั้น สมช.จะติดตามความคืบหน้าเป็นระยะ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้เร็วเป็นรูปธรรม” นายปณิธาน กล่าว

เร่งสรุปโรงกลั่นสัปดาห์นี้

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานพยายามสรุปการหารือนำกำไรค่าการกลั่นมาใช้ดูแลราคาพลังงานให้ได้ภายในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะการคำนวณค่าการกลั่นที่กระทรวงพลังงานมีตัวเลขคำนวณได้ค่าเฉลี่ย 6 เดือนแรก ปี 2565 อยู่ที่ลิตรละ 3.27 บาท ซึ่งที่ผ่านมามีอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเปิดเผยตัวเลขลิตรละ 8.50 บาท ซึ่งทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อน ดังนั้น ตัวเลขดีที่สุดคือ ตัวเลขที่โรงกลั่นชี้แจง

“ผมใจร้อน ทุกคนใจร้อนหมด พยายามให้ได้ข้อสรุปสัปดาห์นี้ ถ้าจบก็คือจบ หากไม่จบระหว่างนี้ต้องดูช่องทางอื่น”

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า สิ่งที่ทุกคนต้องร่วมมือกันคือ ลดภาระให้กับรัฐบาล จะต้องสมเหตุสมผลสมน้ำสมเนื้อมากแค่ไหน ตรงนี้เป็นทิศทางที่ดำเนินการอยู่ พยายามทำเต็มที่ในส่วนกระทรวงพลังงาน โดยการช่วยเหลือยังคงเป็น 8,000 ล้านบาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน หรือน้อยกว่าหรือมากกว่านั้นเป็นไปได้หมด แต่อยากให้ดูภาพรวมทุกที่ต้องรักษาสมดุลค่าการกลั่นที่จะช่วยลดภาระรัฐบาลและประชาชน

“รัฐบาลต้องใช้งบประมาณเพื่อเสถียรภาพราคาไม่แพงกว่าเพื่อนบ้าน แลกกับสถานภาพความมั่นคงทางการเงินสำคัญของประเทศก็เป็นการเสี่ยงเกินไป การเอาอนาคตคนรุ่นหลังการพัฒนาประเทศไปเสี่ยงด้วย ดังนั้น จึงต้องทำทั้ง 2 ด้านให้สมดุลกันถือเป็นภารกิจสำคัญ”

ยังไม่ต้องใช้กฎหมายบังคับ

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระกรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานยังคงหารือกับผู้ประกอบการโรงกลั่นทั้ง 6 แห่ง ต่อเนื่องเพื่อดูอัตราราคาที่เหมาะสมควบคู่การรับฟังข้อมูลค่าการกลั่นว่า เมื่อนำน้ำมันเข้าไปกลั่นแล้วแยกออกมาแต่ละประเภทจะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายอย่างไร ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ต้องนำมาหาจุดสมดุลร่วมกัน โดยอยู่ขั้นตอนขอความร่วมมือ ซึ่งทุกคนเห็นความเดือดร้อนของประชาชน และเมื่อเอาความเดือดร้อนประชาชนเป็นตัวตั้ง สิ่งแรกคือว่าจะให้ความร่วมมือได้หรือไม่ ก่อนจะใช้ข้อกฎหมายตามที่มีผู้แนะนำ

“ในเรื่องของอำนาจกฎหมายตาม พ.ร.บ.กองน้ำมันเชื้อเพลิง หรือการดำเนินการต่างๆ เราได้เตรียมการไว้แล้วอย่าง แต่ตอนนี้ขอคุยในส่วนของความร่วมมือกันก่อน และหากมีข้อยุติกระทรวงพลังงานพร้อมกลุ่มโรงกลั่นจะแถลงข่าวร่วมกันต่อไป”