อาวุธใหม่ที่ ECB เตรียมใช้ป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติครั้งใหม่ในยูโรโซน

อาวุธใหม่ที่ ECB เตรียมใช้ป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติครั้งใหม่ในยูโรโซน

ผลจากการเร่งตัวขึ้นของ yield หรือผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในหลายประเทศ "ยูโรโซน" อีกหนึ่งความท้าท้ายด้านเศรษฐกิจที่จะต้องช่วยกันฝ่าอุปสรรค ส่วนธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB จะมีแผนรับมืออย่างไรบ้าง ติดตามอ่านได้จากบทความชิ้นนี้

ปัญหา เงินเฟ้อ ที่เร่งตัวสูงขึ้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศในกลุ่มยุโรปก็เผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อเช่นกัน ส่งผลให้ในการประชุม ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ล่าสุดที่ผ่านมา ทาง ECB ได้มีการเข้มงวดนโยบายการเงินเพิ่มขึ้น โดยจะหยุดการทำ QE ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. และยังระบุว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ก.ค. 0.25% และมีโอกาสที่เดือน ก.ย. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% หากเงินเฟ้อสูงกว่าที่คาด ซึ่งการที่ทาง ECB ได้ออกมาส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินในครั้งนี้ถือว่าเป็นการเข้มงวดมากกว่าที่ตลาดคาดไว้

อย่างไรก็ตาม หลังจากการประชุม ECB ไปเพียงไม่กี่วัน ทาง ECB ก็ได้มีการจัดการประชุมขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของหลายประเทศในยุโรปเร่งตัวเพิ่มขึ้นสูงมาก โดยเฉพาะประเทศที่มีสัดส่วนหนี้สูงอย่างอิตาลี ที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเร่งขึ้นไปสูงกว่า 4% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 2014 หลังจากที่ทาง ECB ได้มีการส่งสัญญาณว่าจะเข้มงวดนโยบายการเงินในการประชุม ECB โดยการประชุมที่จัดขึ้นใหม่นี้เป็นการประชุมฉุกเฉินเพื่อจะเตรียมเครื่องมือใหม่ๆ หรือเรียกว่า Anti-fragmentation Instrument สำหรับป้องกันการเร่งตัวขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 

อาวุธใหม่ที่ ECB เตรียมใช้ป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติครั้งใหม่ในยูโรโซน

ภาพแสดงส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ของอิตาลี สเปน กรีซ กับเยอรมนี เร่งตัวสูงขึ้นในช่วงกลางเดือนมิ.ย. 2022 ก่อนจะชะลอตัวลง (ที่มา: Bloomberg ข้อมูล ณ วันที่ 24 มิ.ย. 2022)

Fragmentation ในความหมายของ ECB คืออะไร

เนื่องจากเศรษฐกิจในหลายประเทศสมาชิกยุโรปมีความแตกต่างกันอย่างมาก อาทิ เงินเฟ้อ, การเติบโตเศรษฐกิจ และ หนี้สิน แต่ภายใต้การเป็นสมาชิกยูโรโซน จึงจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินเดียวกัน ภายหลังที่ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายกำลังจะปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้การเคลื่อนไหวของ Yield ในตลาดพันธบัตรมีความแตกต่างกันอย่างมาก จากภาพด้านบน แสดงส่วนต่างของพันธบัตร ประเทศที่มีอัตราส่วนหนี้ต่อ GDP สูงอาทิ กรีซ และ อิตาลี กับ ประเทศเยอรมนี ซึ่งถือว่ามีเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุด พบว่า ในช่วงกว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็ว ใกล้เคียงกับช่วงตลาดมีความกังวลการระบาด COVID-19 ในปี 2020 แล้ว 

ในอดีตที่ผ่านมา ECB ใช้เครื่องมืออะไรในการรับมือช่วงการเกิดวิกฤติ 

ในช่วงปี 2012 หลายประเทศสมาชิก ECB เกิดปัญหาหนี้สินรัฐบาลในหลายประเทศที่อยู่ในระดับที่สูง ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมาต่อเนื่องจากปี 2008 เป็นต้นมา ส่งผลให้เกิดวิกฤติ "European Debt Crisis" โดยระหว่างนั้นประธาน ECB คือ นาย Mario Draghi ได้ออกมากล่าวจะทำทุกวิถีทาง "Do Whatever it takes" เพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพของค่าเงินยูโร และเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกโดยรวม นำไปสู่การใช้นโยบายการเข้าซื้อพันธบัตร ในช่วง ส.ค. 2012 โปรแกรม "Outright Monetary Transactions" และล่าสุดในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ทำให้มีการเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อรับมือกับโรคระบาด หรือโครงการ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ซึ่งมีมูลค่าถึง 1.7 ล้านล้านยูโร ก่อนที่จะสิ้นสุดโครงการไปในเดือน มี.ค. นี้

เครื่องมือใหม่ที่คาดว่า ECB จะนำมาใช้เป็นอย่างไร

แม้เบื้องต้น ECB ยังไม่ได้มีรายละเอียดชัดเจน แต่นักวิเคราะห์คาดว่า ECB จะมีแผนการดังนี้ 

  • เข้าซื้อตราสารหนี้ภาครัฐ โดยเน้นไปยังประเทศที่มีเศรษฐกิจอ่อนแอ, เลือกที่จะไม่ roll over ตราสารหนี้ที่หมดอายุในประเทศที่เศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง หรืออาจจะลดการถือครองสินทรัพย์โดยไม่จำเป็นต้องรอให้หมดอายุ ทั้งนี้ภาพรวมยังคงใช้นโยบาย เพื่อที่รักษาสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อที่ยังเร่งตัวขึ้นในหลายประเทศสมาชิก
  • แก้ไขโปรแกรม (Remodeled) Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ที่สิ้นสุดไปแล้วในเดือน มี.ค. 2022 โดยคาดว่าจะทำการ Reinvest ตราสารหนี้ที่หมดอายุ และจะมีความยืดหยุ่นในการลงทุนมากขึ้น ทั้งในเรื่องของระยะเวลา สินทรัพย์ และประเทศที่จะลงทุน หรือเข้าซื้อตราสารใหม่ๆ โดยใช้เงินที่เคยลงทุน 

จากนี้ยังคงต้องรอดูผลลัพธ์จากการที่ ECB พยายามจะรับมือการเร่งตัวขึ้นของ yield ในตลาดพันธบัตรของประเทศสมาชิกว่า จะสำเร็จหรือไม่ โดยก่อนหน้านี้ปัจจัยพื้นฐานของหลายประเทศยังมีความเปราะบาง อีกทั้งยังต้องเผชิญความเสี่ยงด้านพลังงานโดยเฉพาะการคว่ำบาตรรัสเซีย ด้านประเทศขนาดใหญ่อย่าง เยอรมนี แม้เศรษฐกิจจะแข็งแกร่งที่สุด แต่ก็มีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ จากผลของการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ดังนั้นจึงอาจเป็นความท้าทายอีกครั้งของประเทศสมาชิกที่จะต้องร่วมมือกันฝ่าอุปสรรคด้านเศรษฐกิจในครั้งนี้

ที่มา: Bloomberg 

ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 2633 6000 กด 4, 0 2080 6000 กด 4 และ www.tiscoasset.com หรือ แอปพลิเคชัน TISCO My Funds