ย้อนรอยสถานะ “กองทุนน้ำมัน” วิกฤตยุคไหนติดลบมากที่สุด
วิกฤตซ้อนวิกฤตส่งผลกระทบราคาพลังงานไทย ดัน “กองทุนน้ำมัน” สิ้นเดือนมิ.ย. 65 ติดลบทะลุ 1 แสนล้าน ในขณะที่สมัย “ทักษิณ” บริหารท่ามกลางสงครามทางการเมืองระหว่าง “สหรัฐฯ-อิรัก” ก็เคยติดลบสูงถึง 9.2 หมื่นล้าน เช่นกัน
จากดีมานด์-ซัพพลายของปริมาณความต้องการน้ำมันโลกหลังเศรษฐกิจฟื้นจากวิกฤติโควิด-19 บวกกับสงครามทางการเมืองระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ทั่วโลกต้องประสบปัญหาเหมือนกันคือ ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นแบบฉุดไม่อยู่ และลากยาวมาตั้งแต่ต้นปี และมีแนวโน้มจะยาวไปถึงสิ้นปี 2565
ทั้งนี้ ประเทศไทยใช้กลไกบริหารจัดการราคาน้ำมันด้วยการใช้เงินจาก “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” เข้ามาอุดหนุน จนส่งผลให้ฐานะทางการเงินกลางเดือนมิ.ย. 2565 ต้องติดลบกว่า 9 หมื่นล้านบาท เพราะช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมากองทุนต้องควักเงินอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล และก๊าซหุงต้ม LPG (ภาคครัวเรือน) รวมกันหลัก 20,000 ล้านบาท และสิ้นเดือนมิ.ย. 2565 จะติดลบทะลุ 100,000 ล้านบาทแน่นอน
ถือได้ว่าทำลายสถิติการชดเชยราคาน้ำมันที่สมัยรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” เคยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 92,070 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กล่าวว่า ผลกระทบจากนโยบายการแทรกแซงราคาน้ำมันในช่วงปี 2547-2548 รัฐบาลทักษิณ ใช้เงินอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลอย่างหนัก ปัจจัยมาจากการเกิดสงครามระหว่างสหรัฐฯ และอิรักและปัญหาทางการเมืองของประเทศเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก
ส่งผลให้รัฐบาลต้องประกาศตรึงราคาน้ำมันเบนซิน 95 ไว้ที่ 16.99 บาทต่อลิตร และเบนซิน 91 ไว้ที่ 16.19 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซลตรึงไว้ที่ 14.59 บาทต่อลิตร ซึ่งใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ พยุงราคาไว้หลายล้านบาท จนท้ายที่สุดต้องกู้เงินจากสถาบันการเงิน แต่ก็ยังไม่สามารถพยุงราคาได้นาน
และได้ประกาศลอยตัวราคาน้ำมันและสิ้นสุดการพยุงราคาดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 22.49 บาท และเบนซินลิตรละ 25.56 บาท ในช่วงเดือน ก.ค. 2548 โดยรวมใช้เงินอุดหนุนราคาน้ำมันที่ 92,070 ล้านบาท และกู้เงินจากสถาบันการเงินมาพยุงราคาน้ำมันรวม 71,000 ล้านบาท
ต่อมาช่วงรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ช่วงเดือนธ.ค. 2551 ราคาน้ำมันดิบโลกลดลงต่อเนื่อง กองทุนน้ำมัน สามารถเก็บเงินใช้หนี้เดิมสะสมจากรัฐบาลก่อนๆ ได้จนหมด ส่งผลให้ฐานะกองทุนน้ำมันกลับมาเป็นบวกได้อีกครั้งที่ 28,768 ล้านบาท
ต่อมาช่วงปี 2554 รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ราคาน้ำมันดิบโลกผันผวนอีกครั้ง รัฐบาลใช้วิธีชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงบางประเภทชั่วคราว ฐานะกองทุนน้ำมันติดลบหลักกว่า 20,000 บาท ภายใต้ราคาน้ำมันที่ทะลุลิตรละ 40 บาท
ต่อมารัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปี 2557 ราคาน้ำมันตลาดโลกเริ่มเป็นใจขยับลดลงอีกครั้งราว 5 ปี และร่วงลงอย่างหนักในปี 2562 เพราะพิษโควิด-19 นโยบายทั่วโลกเริ่มปิดประเทศ และออกมาตรการให้ทำงานที่บ้าน ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันลดลง รัฐบาลไทยไม่ต้องควักเงินมาอุ้มราคาน้ำมันและเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันได้กว่า 30,000 หมื่นล้านบาท
ด้วยการบริหารจัดการราคาพลังงานโดยวิธีการพยุงราคาน้ำมันไม่ให้กระทบกลุ่มผู้ใช้รถน้ำมันดีเซลจำนวนกว่า 60% กองทันน้ำมันต้องใช้เงินอุดหนุนเพื่อพยุงราคาน้ำมันภายหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวปลายปี 2564 หลายประเทศเริ่มเปิดประเทศ การใช้น้ำมันกลับมามีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง และเริ่มติดลบอีกครั้งหลัก 1 หมื่นล้านบาท ช่วงปลายเดือนม.ค. 2565
ทั้งนี้ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังคงเดินหน้ามาตรการพยุงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท มาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดวิกฤตซ้อนวิกฤตส่งครามทางการเมืองระหว่างรัสเซีย-ยูเครนช่วงปลายเดือนก.พ. 2565 กองทุนน้ำมันติดลบทะลุ 20,000 ล้านบาทอีกครั้ง
และทยอยติดลบมาเรื่อย ๆ และปรับราคาดีเซลเป็นลิตรละ 32 บาท ในช่วงเดือนเม.ย. 2565 ที่กองทุนน้ำมันติดลบทะลุกว่า 50,000 ล้านบาท จนล่าสุดต้องต้องปล่อยให้ดีเซลทะลุลิตรละ 35 บาท ส่วนกองทุนน้ำมันวันที่ 19 มิ.ย. 2565 ติดลบทะลุ 96,598 ล้านบาท และสิ้นเดือนมิ.ย. 2565 กองทุนน้ำมันจะต้องติดลบทะลุ 100,000 ล้านบาท ถือว่าสูงที่สุดในประวัติการณ์
จากข้อมูลจะเห็นได้ชัดว่า กลไกการบริหารจัดการโดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงถือว่าช่วยพยุงราคาน้ำมันในช่วงขาขึ้นได้ แต่หากราคาน้ำมันตลาดโลกจะมีราคาสูงขึ้นต่อเนื่องและเป็นเวลานาน ส่งผลให้กองทุนน้ำมันต้องใช้เงินอุดหนุนลิตรละกว่า 10 บาท เพื่อพยุงราคาให้อยู่ในระดับลิตรละ 35 บาท จากราคาแท้จริงลิตรละ 45 บาท สร้างหนี้ให้กับประเทศเดือนละ 20,000 ล้านบาท
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลจะค่อยๆ ลดการอุดหนุนลง และทยอยปรับขึ้นราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาดตามประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อไม่ให้ประเทศเป็นหนี้มหาศาลเป็นภาระต่อคนรุ่นถัดไป