เปิดรูท 'ไฮสปีดเชื่อมอู่ตะเภา' หลังปักหมุด ตอกเสาเข็ม ม.ค.66
การรถไฟฯ เคาะดีลแก้สัญญาไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน เดินหน้าส่งมอบพื้นที่ 4 ม.ค.66 ถึงเวลาเริ่มงานก่อสร้าง หนุนโอกาสเดินทางเชื่อม 5 จังหวัด ไม่เกิน 1 ชั่วโมง
โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ใกล้ได้เวลาตอกเสาเข็มก่อสร้างโครงการ ภายหลังการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัท เอเชีย เอราวัณ จำกัด ในฐานะคู่สัญญา มีข้อตกลงเดินหน้าโครงการ และจะเสนอขอแก้ไขร่างสัญญาไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ภายในต้นเดือน ก.ค.นี้ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)
สำหรับที่มาของการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน อันเนื่องมาจากปมปัญหาที่เอกชนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้แอร์พอร์ต เรล ลิงก์มีปริมาณผู้โดยสารไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ จึงเสนอขอยืดชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จำนวน 10,671 ล้านบาท จากงวดเดียวขอปรับแบ่งจ่ายเป็น 7 ปี
อีกทั้งยังมีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน และโครงการรถไฟไทย-จีน ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ โดยเอกชนยอมรับข้อเสนอของภาครัฐในการลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธาช่วงดังกล่าวจำนวน 9,207 ล้านบาท ซึ่งเอกชนจะต้องเร่งรัดงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.2569 โดย ร.ฟ.ท.จะปรับเงื่อนไขการชำระคืนค่าก่อสร้างเร็วขึ้น
นอกจากนี้ อีกปมปัญหาคือการส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชน โดยทางเอกชนมีเงื่อนไขต้องการให้ ร.ฟ.ท.ส่งมอบพื้นที่โครงการทั้ง 100% ก่อนจะเริ่มงานก่อสร้าง แต่แล้วก็พบปัญหาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบ (TOD) สถานีมักกะสัน ตรวจสอบพบว่ามีลำรางสาธารณะและบึงเสือดำ หากจะถอนลำรางสาธารณะออกก็ต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี ซึ่งจะทำให้การส่งมอบพื้นที่ล่าช้าออกไป
ท้ายที่สุดทุกปัญหามีทางออกเสมอ โดย ร.ฟ.ท.หารือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อตีความลำรางสาธารณะและบึงเสือดำมีผลต่อโครงการหรือไม่ ซึ่งอัยการสูงสุดตอบกลับเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา การตีความของอัยการสูงสุด ชี้ให้เห็นว่า “ลำรางสาธารณะและบึงเสือดำในพื้นที่ TOD มักกะสัน ไม่ใช่เงื่อนไขในการส่งมอบพื้นที่”
ดังนั้น ภาพรวมการดำเนินงานหลังจากนี้ ร.ฟ.ท.จึงมีกำหนดดำเนินการออกหนังสืออนุญาตให้เอกชนเข้าพื้นที่ (NTP : Notice to Proceed) เพื่อเริ่มงานก่อสร้างได้ภายในวันที่ 4 ม.ค.2566 และแน่นอนว่าตามแผนเดิมโครงการนี้จะใช้เวลาก่อสร้างราว 4 -5 ปี เดิมเคยคาดการณ์ว่าจะเปิดให้บริการช่วงพญาไท - สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภาภายในปี 2568 แต่ภาพรวมปัจจุบันคาดว่าจะต้องขยับไทม์ไลน์เปิดให้บริการในช่วงปี 2570
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มีระยะทาง 220 กิโลเมตร เป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ตลิงค์ (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบัง ไปยังสนามบินอู่ตะเภา พร้อมเชื่อมเข้าออกสนามบิน
โดยรถไฟความเร็วสูงสายนี้ ทำความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เชื่อมกรุงเทพฯ กับพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ภายในระยะเวลาไม่เกิน 60 นาที โดยแนวเส้นทางให้บริการผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เบื้องต้นกำหนดราคาค่าโดยสารเริ่มตั้งแต่ 115 – 490 บาท
ขณะที่สถานีรถไฟบริการ กำหนดไว้ 9 สถานี ประกอบด้วย
- สถานีดอนเมือง
- สถานีบางซื่อ
- สถานีมักกะสัน
- สถานีสุวรรณภูมิ
- สถานีฉะเชิงเทรา
- สถานีชลบุรี
- สถาศรีราชา
- สถานีพัทยา
- สถานีอู่ตะเภา