ส่งออกน้ำตาลดันราคาอ้อย อานิสงค์วิกฤติอาหาร-บาทอ่อน
วิกฤติซ้อนวิกฤติไม่ว่าจะเป็น เงินบาทอ่อนค่า วิกฤติความไม่มั่นคงอาหารทั่วโลก สงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ระบบซัพพลายเชนขาดช่วง แต่ท่ามกลางวิกฤติยังมีโอกาสที่ไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายสำคัญของโลกกำลังได้รับประโยชน์จากสถานการณ์นี้
ปัจจุบันราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ที่ 19-20 เซนต์ต่อปอนด์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 20% จากปีก่อนหน้า อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้วยประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ทั้งอินเดียและบราซิลออกมาประกาศควบคุมปริมาณการส่งออกเพื่อกันไว้บริโภคในประเทศ
ทั้งนี้ สถานการณ์ข้างต้นถือเป็นปัจจัยบวกที่ส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยสถิติการส่งออกน้ำตาลทราย 3 เดือนแรกปี 2565 ในเดือน ม.ค. อยู่ที่ 179,695,274 กก. เพิ่มขึ้น 23.98% มูลค่า 3,028 ล้านบาท เดือน ก.พ. อยู่ที่ 215,044,789 กก. เพิ่มขึ้น 49.48% มูลค่า 3.5 พันบาท และเดือน มี.ค. อยู่ที่ 195,762,541 กก. เพิ่มขึ้น 14.76% มูลค่า 3,176พันล้านบาท
ชลัช ชินธรรมมิตร์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ราคาน้ำตาลโลกอยู่ในระดับที่สูงมาตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว เนื่องจากความขาดแคลนในบางพื้นที่ ทำให้มีความต้องการบริโภคจึงเกิดการเข้าซื้อน้ำตาลส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนลงจาก 31 บาทต่อดอลลาร์ ปัจจุบันอ่อนค่าถึง 35 บาทต่อดอลลาร์ ถือเป็นปัจจัยหนุนให้กับผู้ส่งออกน้ำตาลมีรายรับมากขึ้น โดยส่งผลต่อเนื่องถึงราคาอ้อยที่สูงขึ้นเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยขยายพื้นที่การปลูกอ้อยซึ่งจะทำให้ไทยมีผลผลิตมากขึ้นในปีต่อไป
เอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า สำหรับฤดูกาลผลิตอ้อยปี 2565/66 คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตมากว่า 100 ล้านตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นตามลำดับเนื่องจากมีฝนตกลงมาต่อเนื่อง โดยพื้นที่การปลูกอ้อยไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักแต่คาดว่าปริมาณผลผลิตตันต่อไร่สูงขึ้น ในขณะที่ราคาอ้อยในปีนี้ประเมินว่าจะเกินตันละ 1,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ยังต้องคำนึงถึงต้นทุนการผลิตของเกษตรกรชาวไร่อ้อยและต้นทุนของผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจะเป็นปัจจัยหลักในการคำนวณต้นทุนและประเมินว่าราคาอ้อยและน้ำตาลในปีหน้าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดย สอน. พยายามรักษาระดับราคาน้ำตาลในปัจจุบันเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภคและส่งผ่านต้นทุนผ่านอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์นม
จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐ ระบุว่า ปริมาณการผลิตน้ำตาลในฤดูกาล 2565/66 ของไทยจะอยู่ที่ 10.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า ในขณะที่ปริมาณการส่งออกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 11 ล้านตัน เนื่องจากมีปริมาณส่งออกได้จำนวนมาก ทั้งนี้ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยถือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ลำดับที่ 4 ของโลก รองจากบราซิล อินเดีย และอียู
ทั้งนี้ การใช้อ้อยผลิตเอทานอลในไทยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.8 ล้านตัน เนื่องจากมีการตั้งโรงงานเอทานอลแห่งใหม่เพื่อผลิตเชื้อเพลิงเอทานอลโดยจะเริ่มผลิตในรูปแบบอุตสาหกรรมในปี 2566 ซึ่งในขณะนี้อ้อยส่วนใหญ่ยังคงนำไปผลิตเป็นน้ำตาล สำหรับความต้องการบริโภคน้ำตาลคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.5 ล้านตัน สอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวและบริการภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19
จากราคาอ้อยและน้ำตาลที่ทรงตัวสูงแต่อีกด้านหนึ่งต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรหลายรายการก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเช่นกัน ทำให้วิกฤติที่เกิดขึ้นแม้จะเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมน้ำตาลแต่ในระยะยาวการวางแผนการผลิตและส่งออกที่เหมาะสมจะเป็นประโยชน์ที่แท้จริงของอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโลกโดยรวม