เกษตรกรเตรียมรับราคาปุ๋ยใหม่หลังพาณิชย์ไฟเขียวขึ้นราคา
กรมการค้าภายในไฟเขียวขึ้นราคาปุ๋ยหน้าโรงงานแล้ว ด้านผู้ค้าปุ๋ย คาด ราคาปรับขึ้นเฉลี่ย 20-30% ในช่วงฤดูกาลเพาะปลูก ขณะที่พาณิชย์ เจรจาซื้อปุ๋ยจากซาอุฯ 8 แสนตัน แก้ปัญหาปุ๋ยขาด ดันราคาลง
ราคาปุ๋ยในตลาดโลกปรับสูงขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2565 พอเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ยิ่งซ้ำเติมให้ราคาแม่ปุ๋ยพุ่งขึ้นไปอีก ที่สำคัญหลายประเทศ เช่น จีนก็มีการสั่งห้ามส่งออกปุ๋ย อีกหลายประเทศก็มีการเก็บสต็อกไว้ สำหรับเพิ่มความมั่นคงในการผลิตอาหารภายในประเทศ ซึ่งประเทศไทยพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศเกือบ 100% โดยในช่วงที่ผ่านมาผู้ค้าปุ๋ยเคมีบางราย มีการชะลอนำเข้าเนื่องจากประสบปัญหาการขาดทุนเนื่องจากไม่สามารถปรับราคาได้เพราะปุ๋ยเป็นสินค้าควบคุม ทางผู้ค้าปุ๋ยได้มีการยื่นเรื่องของปรับราคาปุ๋ยมาเป็นระยะๆแล้ว สุดท้ายกรมการค้าภายในก็ไฟเขียวให้ปรับราคาปุ๋ยหน้าโรงงานหลายสูตรตามที่ผู้ผลิต ผู้นำเข้าเสนอมา
ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การอนุมัติให้มีการปรับราคาปุ๋ยหน้าโรงงานเป็นการปรับให้สอดคล้องกับต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะสงครามรัสเซียและยูเครน ราคาพลังงานเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้นทั่วโลกซึ่งส่งผลต่อทั้งต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่ง และค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง ซึ่งปัจจุบันไทยพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศเกือบ 100%ดังนั้น
กรมฯ จึงเห็นว่ากลุ่มสินค้านี้ได้รับผลกระทบจริงและมากพอควร จึงได้อนุมัติให้ปรับราคาสินค้าปุ๋ยเคมีขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริง เพื่อให้ผู้ผลิตผู้นำเข้าสามารถนำปุ๋ยเข้ามาจำหน่ายให้แก่เกษตรกรได้และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยจึงจำเป็นต้องมีการปรับราคา อย่างไรก็ตาม กรมฯ จะติดตามและกำกับดูแลปริมาณและราคาอย่างใกล้ชิดให้มีปริมาณเพียงพอและมีผลกระทบกับราคาจำหน่ายปลีกน้อยที่สุด
ทั้งนี้ก่อนหน้าเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านทางกลุ่มผู้ค้าและผู้ผลิตปุ๋ยไทย ระบุว่า กรมการค้าภายในได้อนุญาตให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายปุ๋ยเคมี ทยอยปรับขึ้นราคาหน้าโรงงานแล้ว ตามต้นทุนแม่ปุ๋ย และค่าขนส่งปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี ซึ่งจะทำให้ราคาจำหน่ายปุ๋ยเคมีในฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ ที่กำลังมาถึงนี้มีราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20-30% จากต้นปี เช่น ราคาหน้าโรงงานปุ๋ยยูเรียจะขึ้นมาเป็นกระสอบ 50 กก. ที่ 1,500 บาท ส่วนราคาขายปลีกแต่ละพื้นที่อาจจะขยับขึ้นมากน้อยแตกต่างกัน 1,700-1,800 บาท ตามต้นทุนค่าขนส่ง และสต็อกสินค้าว่าเป็นของเก่าหรือใหม่ ซึ่งภายหลังกรมการค้าภายในไฟเขียวขึ้นราคาปุ๋ยหน้าโรงงานคาดว่า น่าจะมีการปรับราคาขึ้นอีกในเดือน มิ.ย.นี้
จากข้อมูลเว็ปไซต์สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รายงานราคาปุ๋ยเคมีสูตรสำคัญ ตั้งแต่ม.ค.-พ.ค. พบว่า ราคาปุ๋ยเคมีสูตรสำคัญมีการปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- ปุ๋ยยูเรียสูตร 46-0-0 ราคาขายปลีกท้องถิ่นเดือนพ.ค.ราคาปุ๋ยอยู่ที่ 27,200 บาทต่อตัน
- แม่ปุ๋ยสูตร 18-46-0 ราคาขายปลีกท้องถิ่น เดือน พ.ค. ราคา 25,204 บาทต่อตัน
- ปุ๋ยสูตร 16-20-0 ราคาขายปลีกท้องถิ่นเดือนพ.ค.อยู่ที่ 20,313 บาทต่อตัน
ทั้งนี้ที่ผ่านมาไทยมีการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ 5 ล้านตันต่อปี โดยประเทศที่มีการนำเข้าอันดับหนึ่งจากจีน 1.09 ล้านตัน รองลงมาเป็นซาอุดิอาระเบีย 7.2 แสนตัน รัสเซีย-เบลารุส 7.1 แสนตัน โอมาน 3.67 แสนตัน เกาหลี 3.32 แสนตัน และแคนาดา 3.27 แสนตัน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมานายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้มีการหารือกับภาคเอกชนเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนปุ๋ย โดยจะมีการซื้อปุ๋ยเพิ่มจากประเทศซาอุอาระเบีย ผ่านบริษัทยักษ์ใหญ่ คือ บริษัท SABIC (Saudi Basic Industries Corporation) บริษัท MA'ADEN (Saudi Arabian Mining Co.) และบริษัท ACO group ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของ Alim Investment Co. Ltd. Saudi Arabia เป็นผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ลำดับต้นของซาอุดีอาระเบีย จำนวน 8 แสนตัน โดยหวังการซื้อปุ๋ยครั้งนี้ จะทำให้แก้ปัญหา 2 ข้อ คือ
1.ให้ไทยมีปริมาณปุ๋ยพอใช้สำหรับเกษตรกร มีหลักประกันมากขึ้น เพราะมีแหล่งนำเข้าพิเศษเพิ่มเติม
2.เรื่องของราคาให้เป็นหน้าที่ของเอกชนเจรจา หวังว่าจะได้ต้นทุนที่ต่ำลงเป็นกรณีพิเศษจากความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน