คัดหุ้นเด่นรับอานิสงส์ ‘สินค้าโภคภัณฑ์’ ขาลง
“เจอโรม พาวเวล” ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงตอกย้ำจุดยืนเร่งเดินหน้าแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรง แตะระดับสูงสุดในรอบ 41 ปี ระหว่างการแถลงนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจต่อสภาคองเกรสช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยระบุว่า เฟดมีเครื่องมือและมีความตั้งใจที่จะคุมเงินเฟ้ออย่างไม่มีเงื่อนไข หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) รอบล่าสุด ใช้ยาแรงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สูงสุดในรอบ 28 ปี สู่ระดับ 1.50-1.75%
และส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% หรือ 0.75% ในการประชุมนัดถัดไป โดยมีเป้าหมายว่าอัตราดอกเบี้ยสิ้นปีจะอยู่ที่ 3.4% และเพิ่มเป็น 3.8% ในสิ้นปี 2566 ก่อนลงมาที่ระดับ 3.4% อีกครั้งในปี 2567
ยาแรงของเฟดมีเป้าหมายที่จะดึงเงินเฟ้อลงมาแตะ 2% ให้ได้ จากตัวเลขล่าสุดเงินเฟ้อเดือนพ.ค. สูงถึง 8.6% ซึ่งต้องรอติดตามดูว่ามาตรการที่ออกมานั้นจะเพียงพอหรือไม่? หรือต้องเพิ่มความเข้มข้นขึ้นไปอีก?
ทั้งนี้ แม้ว่าเฟดจะมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งพอที่จะปรับมือกับดอกเบี้ยขาขึ้น แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าการขึ้นดอกเบี้ยที่มากและเร็วเกินไป จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ Recession
การเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐต้องเผชิญกับภาวะถดถอย นอกจากกดดันตลาดหุ้นแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) หลายชนิด เช่น น้ำมันดิบ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ อลูมิเนียม น้ำตาล ฯลฯ ที่ดีมานด์จะชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้เริ่มปรับตัวลดลง
อย่างเช่น ราคาน้ำมันดิบ WTI เดือนนี้ปรับตัวลงมาแล้วเกือบ 10% จากราคาปิดเดือนพ.ค. ที่ 115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ที่ตลาดลอนดอน เริ่มเปลี่ยนทิศเช่นกัน เดือนนี้ราคาลดลงกว่า 5% จากเดือนก่อนที่ 116 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับราคาถ่านหินนิวคาสเซิลหลังเดินหน้าทำออลไทม์ไฮแตะ 430 ดอลลาร์ต่อตัน ปัจจุบันถูกขายลงมาต่ำกว่า 400 ดอลลาร์ต่อตัน
สถานการณ์ขณะนี้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดที่ปรับตัวขึ้นมาร้อนแรง ตั้งแต่เกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมทั้งเมื่อโรคระบาดโควิด-19 คลี่คลายทำให้ดีมานด์เร่งตัวขึ้น
แต่เมื่อเกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจกำลังเผชิญกับภาวะถดถอย ราคาก็เปลี่ยนทิศทันที ดังนั้น ธีมการลงทุนในช่วงนี้ต้องปรับตามไปด้วย จากกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากสินค้าโภคภัณฑ์ขาขึ้น มาเป็นกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากราคาสินค้าภัณฑ์ที่ลดลง หรือ กลุ่ม Anti Commodity เช่น กลุ่มโรงไฟฟ้า ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ ปูนซิเมนต์ ไปจนถึงสายการบิน ที่มีน้ำมันและก๊าซธรรมชาตเป็นต้นทุนหลัก
จากผลสำรวจตามกราฟฟิค พบว่า หุ้น Top Pick ในกลุ่ม Anti Commodity ที่สำนักวิจัยทั้ง 5 หลักทรัพย์เห็นตรงกัน เช่น หุ้นแม่ลูก SCC และ SCGP โดยธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างของ SCC จะได้ประโยชน์จากราคาถ่านหินที่ปรับตัวลดลง ขณะที่สเปรดปิโตรเคมีดีขึ้นตามราคาน้ำมันดิบที่ชะลอตัว
ส่วน SCGP ได้อานิสงส์จากต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตบรรจุภัณฑ์และราคาพลังงานที่ลดลง สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าดาวเด่นรอบนี้เห็นจะเป็น GPSC และ BGRIM
โดยบล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีโอกาสย่อตัวลงในช่วงถัดไปหลังเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งหุ้นไทยประกอบไปด้วยหุ้น Commodity ถึง 1 ใน 3 จึงทำให้ตลาดหุ้นไทยผันผวนในช่วงนี้ และปรับฐานลงมาแรงถึง 6.4% นับตั้งแต่ต้นเดือน
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยได้ทำการศึกษาในช่วงที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ถูกกดดัน อย่างในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา (10 – 23 มิ.ย. 2565) พบว่า ราคา BCOM Index ซึ่งรวบรวมสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลก 23 ชนิด ปรับตัวลดลง 11% และในช่วงเวลาเดียวกัน SET Index ปรับตัวลดลงมา 5.1%
แต่ยังมีหุ้นที่ Outperform ตลาดได้อยู่ โดยสังเกตจากหุ้นใน SET100 ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า หรือ เท่ากับ 0% ในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่า สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่
1. หุ้น Anti Commodity โดยมีหุ้นเด่น KEX , BGRIM, CBG, GPSC, SCC, TASCO 2. หุ้นที่มีเกราะป้องกันเงินเฟ้อซึ่งได้ประโยชน์ดอกเบี้ยขาขึ้น หุ้นเด่น BLA, TRUE, DTAC และ 3. หุ้นเปิดเมือง หุ้นเด่น MAJOR, CENTEL, AOT, VGI