AOT ฟอร์มแรงพ้นโคม่า ‘ผู้โดยสาร-เที่ยวบิน’ พุ่ง
บรรยากาศการเดินทางทั่วโลกกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ส่งผลให้ธุรกิจการบินที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโรคระบาด เริ่มฟื้นตัวจากอาการโคม่า ขณะนี้สายการบินต่างๆ ทยอยกลับมาเปิดบินตามปกติ หลังดีมานด์เพิ่มสูงขึ้น
สำหรับประเทศไทย การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่นำรายได้เข้าประเทศ โดยหากย้อนไปก่อนที่จะเกิดโควิด-19 ภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 20% ของจีดีพี โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นทุกปีจนเกือบทะลุ 40 ล้านคน
แต่ทันทีที่เกิดโรคระบาดสถานการณ์ทุกอย่างพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะมีการใช้ยาแรงปิดประเทศนานหลายเดือน ส่งผลให้การเดินทางหยุดชะงัก แต่เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อค่อยๆ ลดลง ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น จึงเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้ม จนขณะนี้แทบกลับสู่ภาวะปกติ 100%
ล่าสุด ศบค. ไฟเขียวยกเลิกมาตรการ “ไทยแลนด์พาส” สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย ดีเดย์ 1 ก.ค. นี้ ถือเป็นการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ หนุนการท่องเที่ยวครึ่งปีหลังคึกคักมากยิ่งขึ้น
โดยหากย้อนไปตั้งแต่ต้นปี 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังเริ่มผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ เดือน ม.ค. อยู่ที่ 133,903 ราย, เดือน ก.พ. 152,954 ราย, เดือน มี.ค. 210,836 ราย, เดือน เม.ย. 293,350 ราย และล่าสุดเดือน พ.ค. เพิ่มเป็น 521,410 ราย
เท่ากับว่า 5 เดือนแรกของปีนี้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาแล้ว 1,312,453 ราย เพิ่มขึ้น 3,676% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพียงแค่ 34,753 ราย
จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรงกลายเป็นปัจจัยบวกให้กับหุ้นสนามบิน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ซึ่งเป็นเสมือนประตูด่านแรกในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่จะเดินทางมาเยือนประเทศไทย
โดยปัจจุบัน ทอท. หรือ AOT มีสนามบินภายใต้การบริหารทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่ แห่ง ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ, สนามบินดอนเมือง, สนามบินเชียงใหม่, สนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงราย, สนามบินภูเก็ต และสนามบินหาดใหญ่ ซึ่งจำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินของแต่ละแห่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามตัวเลขนักท่องเที่ยว
ขณะนี้ตัวเลขผู้โดยสารเฉลี่ยทั้ง 6 สนามบิน อยู่ที่ 1.6 แสนคนต่อวัน เฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิมีผู้โดยสารเฉลี่ยราวๆ 1 แสนคนต่อวัน หรือ คิดเป็นสัดส่วน 50% ของจำนวนผู้โดยสารก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ที่มีปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ย 2 แสนคนต่อวัน
ด้านสนามบินภูมิภาคเริ่มคึกคักขึ้นเช่นกัน เช่น สนามบินหาดใหญ่มีผู้โดยสารใช้บริการ 85% จากช่วงก่อนเกิดโรคระบาด ส่วนจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ ภูเก็ตและเชียงใหม่บรรยากาศยิ่งคึกคัก ทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทยและชาวต่างชาติ
ล่าสุด ทอท. ได้ออกมาคาดการณ์ปริมาณการจราจรทางอากาศในปีงบประมาณ 2565 (ต.ค. 2564 – ก.ย. 2565) จะมีผู้โดยสารรวม 45.60 ล้านคน และปริมาณเที่ยวบินรวม 402,970 เที่ยวบิน คิดเป็นอัตราการฟื้นตัว 33% และ 45% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19
และคาดว่าปีงบประมาณ 2566 (ต.ค. 2565 – ก.ย. 2566) ผู้โดยสารจะเพิ่มเป็น 95.70 ล้านคน ปริมาณเที่ยวบินรวม 664,796 เที่ยวบิน คิดเป็นการฟื้นตัว 68% และ 74% ตามลำดับ เทียบกับปีงบประมาณ 2562
ก่อนที่จะกลับเข้าสู่ระดับปกติในปีงบประมาณ 2567 (ต.ค. 2566 – ก.ย. 2567) ด้วยจำนวนผู้โดยสาร 141.51 ล้านคน และจำนวนเที่ยวบินรวม 892,414 เที่ยวบิน
การฟื้นตัวของจำนวนผู้โดยสารและจำนวนเที่ยวบินถือเป็นปัจจัยบวกต่อผลประกอบการของ AOT หลังดิ่งหนักในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 2562 – ก.ย. 2563) ซึ่งเป็นปีแรกที่เกิดโควิด-19 กำไรสุทธิลดลงเหลือ 4,320.68 ล้านบาท จากงวดปีก่อนที่ 25,026.37 ล้านบาท
ก่อนพลิกขาดทุนในปีงบประมาณ 2564 (ต.ค. 2563 – ก.ย. 2564) รวม 16,322.01 ล้านบาท ขณะที่ครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2565 ยังขาดทุนอยู่ 7,548.12 ล้านบาท
แต่หากฟังมุมมองจากกูรูทุกสำนักต่างเห็นตรงกันว่าผลประกอบการของ AOT ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว แถมยังจะเร่งตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงครึ่งหลังปี 2565 รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ
นอกจากนี้ ยังมีอัพไซด์สำคัญจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ยิ่งหากจีนเปิดประเทศเร็วเท่าไหร่ จำนวนนักท่องเที่ยวจะยิ่งคึกคักขึ้น โดยขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณบวก หลังจีนเปิดโควต้าให้สายการบินสัญชาติไทยเปิดทำการบินระหว่างไทย-จีน แล้ว 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์
ส่วนอีกหนึ่งประเด็ดถ่วง การช่วยเหลือผู้ประกอบการคู่ค้าในสนามบิน มาตรการต่างๆ ทั้งการให้ส่วนลดและการยกเว้นการรับประกันขั้นต่ำสำหรับส่วนแบ่งรายได้กำลังจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค. 2566 ช่วยขับเคลื่อนกำไรฟื้นตัวอีกแรง