จับตาไทยเบฟ ส่อล้มแผน Spin-Off ธุรกิจเบียร์แสนล้าน!
บอร์ดบริษัทไทยเบฟส่งสัญญาณไม่ดำเนินการต่อ Spin-Off ธุรกิจเบียร์ 'BeerCo หากขัดกับผลประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น จากเดิมบริษัทแยกธุรกิจเบียร์เพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ต่อจิ๊กซอว์ "เบียร์"โต ปลดล็อกคุณค่าให้ผู้ถือหุ้น เสริงแกร่งการเงิน ลดภาระดอกเบี้ย
หลังจาก “บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน)” อาณาจักรธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารของ "เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี" ประกาศแยกธุรกิจเบียร์(Spin-off) ออกมาภายใต้ “เบียร์โค”(BeerCo Group) และเตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เมื่อคณะกรรมการบริษัท(บอร์ด)ตัดสินใจไม่ดำเนินการต่อในการ Spin-off ธุรกิจ แม้ว่าบริษัทจะได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แบบมีเงื่อนไข (Letter of Conditional Eligibility-to-List หรือ “ETL”) สำหรับการเข้าจดทะเบียนใน SGX-ST เรียบร้อยแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ การพิจารณาแยกธุรกิจเบียร์เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่นด้วย ทั้งสภาวะตลาด ท่าทีของนักลงทุน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“คณะกรรมการบริษัท ตัดสินใจไม่ดำเนินการต่อในการ Spin-off ธุรกิจ หากขัดกับผลประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น”
ย้อนกลับไปวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา ไทยเบฟ มีการอัพเดทเกี่ยวกับแผน Spin-off ธุรกิจเบียร์มูลค่าแสนล้านบาท โดยบริษัทมีการปรับโครงสร้างธุรกิจเรียบร้อยตั้งแต่ปีก่อนหน้าแล้ว
ขณะที่การ Spin-off ธุรกิจเบียร์ ภายใต้ BeerCo จะทำหน้าที่ดูแลการขาย และการจัดจำหน่าย และมีแบรนด์เบียร์มากมายในพอร์ตโฟลิโอทั้งของไทยและเวียดนาม เช่น เบียร์ช้าง อาชา เฟเดอร์บรอย (ยกเว้นการขายเบียร์ไทยในตลาดต่างประเทศ) และแบรนด์เบียร์ในเวียดนามจาก SABECO เช่น Bia Saigon และ 333 เป็นต้น
นอกจากนี้ ภายใต้ BeerCo ได้ผนวกโรงงานเบียร์ในไทย 3 แห่ง และโรงงานเบียร์ในเวียดนาม 26 แห่งไว้ด้วย
ก่อนหน้านี้รายงานข่าวจาก Bloomberg ระบุว่าการ Spin-off ธุรกิจเบียร์ของไทยเบฟ บริษัทต้องการระดมทุนถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ ภายหลังอยู่ที่ 800-1,000 ล้านดอลลาร์ ลดลงราว 50% เนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ตามแผนการ Spin-off ธุรกิจเบียร์ BeerCo เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ โดยจะมีการเสนอขายหุ้นให้แก่สาธารชน 20% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกขายทั้งหมด
ด้านเหตุผลของการ Spin-off ธุรกิจเบียร์ เพราะบริษัทมองศักยภาพในการเติบโต การมีทีมงานที่บริหารเฉพาะ ซึ่งมากประสบการณ์จะได้ลุยขยายธุรกิจเบียร์ได้เต็มที่
นอกจากนี้ แง่ของการประเมินและให้คุณค่าบริษัทจะได้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ BeerCo จะได้เห็นภาพการย้ำ “บัลลังก์ผู้นำ” ตลาดเบียร์ในภูมิภาคอาเซียน และมีศักยภาพการเติบโตเพื่อเสนอให้ตลาดหันมามอง สนใจยิ่งขึ้น
อีกจุดมุ่งหมายสำคัญคือต้องการปรับปรุง “ฐานะทางการเงิน” ของบริษัทให้แข็งแกร่งขึ้น เพราะเงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปชำระหนี้ ลดภาระดอกเบี้ย เพื่อทำให้อัตราหนี้สินต่อทุน(D/E)อยู่ในระดับต่ำลง เพราะที่ผ่านมาภาระทางการเงินก้อนโตคือการซื้อกิจการ SABECO มูลค่าถึง "แสนล้านบาท"
รวมถึงการ “ปลดล็อกมูลค่าผู้ถือหุ้น” หรือ Unlocking Shareholder Value การเข้าตลาดฯยังเอื้อต่อการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ช่วยให้ธุรกิจถูกสปอร์ตไลท์ส่องตรง เป็นที่ดึงดูดของนักลงทุนมากขึ้น รวมถึงนักลงทุนที่สนใจจะเลือกเล็ง “ไทยเบฟ” หรือ BeerCo หรือลงทุนทั้ง 2 บริษัทย่อมยืดหยุ่นได้ทั้งสิ้นและช่วยกระจายความเสี่ยงด้วย
ส่องผลการดำเนินงานไทยเบฟช่วงครึ่งปีแรก 2565 (ปีงบประมาณ ต.ค.64-มี.ค.65) มียอดขายรวมมูลค่า 142,942 ล้านบาท เติบโต 8.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มี “กำไรสุทธิ” มูลค่า 18,365 ล้านบาท เติบโต 14.2% โดยธุรกิจ “เบียร์” ทั้งไทยและเวียดนาม สร้างผลงานได้ดี กำไรมีการเติบโต โดยยอดขายรวมอยู่ที่ 61,939 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.7% กำไรสุทธิ 3,591 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62.2%