RBF ศึกษาซื้อกิจการ จับมือ "TU-SCPL" ขยายฐานอินเดีย !

RBF ศึกษาซื้อกิจการ จับมือ "TU-SCPL" ขยายฐานอินเดีย !

"อาร์บีเอฟ" รุกต่างประเทศ จ่อศึกษาซื้อกิจการ - ลงทุนใหม่เพิ่ม หวังเติบโตต่อเนื่อง ล่าสุด จับมือ "ทียู-เอสซีพีแอล" ขยายฐานผลิตในอินเดีย หากตลาดตอบรับดี มองเป็นโอกาสเติบโตสูงเพราะเป็นตลาดใหญ่

อุตสาหกรรม “อาหาร” อีกหนึ่งความสำคัญที่กำลังเป็น “ดาวรุ่ง” ที่ช่วยคงความอร่อย คงรูปลักษณ์ คงความใหม่ให้กับอาหารคือ “นวัตกรรมอาหาร” และหนึ่งผู้อยู่เบื้องหลังนวัตกรรมอาหารดังกล่าว คงต้องยกให้ บริษัท อาร์แอนด์บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ RBF ผู้นำด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์แต่งกลิ่น สี รสชาติ และเนื้อสัมผัสของอาหาร และเครื่องดื่ม ซึ่งปัจจุบันขยายกิจการไปไกลถึงต่างประเทศ ด้วยทีมวิจัยและพัฒนา (R&D) เข้มแข็ง เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า และเติบโตไปพร้อมกับลูกค้า

ปัจจุบัน ธุรกิจหลักของ RBF มี 3 อย่างด้วยกัน 1. วัตถุดิบปรุงแต่งกลิ่น และรส ทั้งในอาหารและเครื่องดื่ม 2. วัตถุดิบสำหรับการเคลือบผิว (coating) เช่น เกล็ดขนมปังที่ใช้ในโรงงานอาหารแช่แข็ง วัตถุดิบที่ทำให้เนื้อสัตว์นุ่มมากขึ้น และปลอกสำหรับทำไส้กรอก และ 3. อาหารแช่แข็ง และอาหารแห้งในแบรนด์ของตัวเอง 

“แพทย์หญิงจัณจิดา รัตนภูมิภิญโญ” กรรมการ บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ RBF ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ภารกิจที่สำคัญคือการ “ต่อยอด” สร้างการเติบโตให้บริษัทอย่างต่อเนื่อง ด้วยการขยายการลงทุนใหม่ทั้งใน และต่างประเทศ สะท้อนผ่านการจับมือจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ “2 พันธมิตร” นั่นคือ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU และ Srinivasa Cystine Private Limited (SCPL) บริษัทในเครือ Avanti Group เพื่อดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายส่วนผสมในอาหารในประเทศอินเดีย 

โดยปัจจุบันบริษัทดำเนินการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่เรียบร้อยแล้ว โดย RBF ถือหุ้นสัดส่วน 51% TU ถือหุ้นสัดส่วน 19% และ Srinivasa Cystine Private ถือหุ้นสัดส่วน 30% ซึ่งดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายส่วนผสมในอาหาร เช่น วัตถุแต่งรส (Flavor) และกลุ่มสินค้า Food Coating รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงงานผลิตเพื่อดำเนินธุรกิจดังกล่าวในประเทศอินเดียในอนาคต 

RBF ศึกษาซื้อกิจการ จับมือ \"TU-SCPL\" ขยายฐานอินเดีย ! ทั้งนี้ คาดว่าครึ่งปีหลัง 2565 จะเริ่มดำเนินการได้ ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร 2 ราย มีออเดอร์กับบริษัทแล้ว แต่กำลังคุยกับอีกหลายราย ฉะนั้น ครึ่งปีหลังบริษัทจะเริ่มมีรายได้จากการลงทุนในอินเดียเข้ามาในพอร์ตแล้ว แต่ยังเป็นสัดส่วนรายได้ไม่มากเนื่องจากเพิ่งเริ่มดำเนินการ แต่จะมีรายได้เข้ามาชัดเจน และมีนัยสำคัญในปี 2566 เป็นต้นไป 

“อินเดียเรามองเป็นโอกาสใหม่ เนื่องจากอินเดียมีประชากรมาก ซึ่งโมเดลการจับมือพันธมิตร TU นั้น เราใช้เวลาไม่นานในการตัดสินใจร่วมลงทุน และมองไกลหากตลาดอินเดียให้การตอบรับที่ดี ในอนาคตอาจจะมีการศึกษาขยายฐานการผลิตไปตั้งที่อินเดียได้ เนื่องจากต้นทุน-ค่าแรงงานถูกกว่า ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นเราก็ต้องมีการคุยกับอีก 2 พันธมิตรด้วย”

เธอ บอกต่อว่า สำหรับทิศทางการดำเนินงานของ RBF ในปี 2565 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตระดับ 10-15% หลังจากบริษัทมีการปรับแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย ส่งผลให้บริษัทมียอดขายปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งยอดขายในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงการเติบโตของลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่กลับมามียอดขายมากขึ้น โดยเฉพาะการฟื้นตัวในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ซึ่งส่งผลบวกให้ยอดขายของกลุ่มผลิตภัณฑ์วัตถุแต่งกลิ่นรส และสีผสมอาหารปรับตัวเพิ่มตาม

ทั้งนี้ มี 3 ปัจจัยหลักที่จะเข้ามาหนุนการเติบโตให้มากขึ้น ประกอบด้วย 1.การปรับราคาของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้นตามต้นทุนของวัตถุดิบ และต้นทุนด้านอื่นๆ ที่ขยับสูงขึ้นต่อเนื่องจากก่อนหน้านี้ 2.วัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น มีแนวโน้มคงที่ และ 3.สถานการณ์โควิดทั่วโลกเริ่มผ่อนคลาย จึงทำให้บริษัทเพิ่มยอดขายใน และต่างประเทศได้ดีขึ้น รวมทั้งบริษัทยังมีการขยายตลาดใหม่ๆ มากขึ้นในปีนี้ เช่น กลุ่มโรงพยาบาล , กลุ่มคลินิก , และกลุ่ม wellness center

ขณะที่ ผลผลิตของ “โรงสกัดสารกัญชง” ของ RBF เพื่อที่จะส่งมอบให้กับลูกค้าปลายน้ำทั้งในธุรกิจอาหาร , เครื่องดื่ม , เครื่องสำอาง ซึ่งปัจจุบันมีการเซ็นสัญญารับคำสั่งซื้อกับลูกค้ารายใหญ่แล้วหลายราย ล่าสุดเริ่มมีการต่อยอด และทยอยออกสินค้าปลายน้ำสู่ตลาดในประเทศแล้ว ซึ่งจะทำให้บริษัทเริ่มรับรู้รายได้จากธุรกิจกัญชงเข้ามาตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2565 เป็นต้นไป และจะทยอยรับรู้เพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 ปี 65 จากการส่งมอบที่เพิ่มขึ้น 

นอกจากนี้บริษัทยังได้ทำการยกระดับมาตรฐานการผลิตโรงสกัดสารกัญชง เพื่อรองรับคำสั่งซื้อจากกลุ่มลูกค้าเวชภัณฑ์ และการแพทย์เพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งเป็นการช่วยเสริมรายได้อีกช่องทางหนึ่ง และส่งผลให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 

ส่วน “ธุรกิจหลัก” คือ การผลิต และจำหน่ายวัตถุที่ใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร (Food Ingredients) บริษัทมองว่าแนวโน้มของตลาดต่างประเทศในปี 2565 จะกลับมาเติบโตดีขึ้นกว่าปี 2564 โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซีย และ ประเทศเวียดนาม ที่คาดว่าจะมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยปี 64 มีอัตราการเติบโตระดับ 30% ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีการลงทุนขยายโรงงานแห่งที่ 2 ในประเทศอินโดนีเซีย คาดว่าจะเสร็จในต้นปี 2566 โดยจะมีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นมา “เท่าตัว” จากโรงงานแรก 

ขณะที่ภาพรวมของตลาดภายในประเทศก็จะค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวกลับมา หลังจากภาครัฐมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากการที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนป้องกัน ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ ส่งผลให้กำลังซื้อ รวมถึงปริมาณความต้องการในสินค้าอุปโภค และบริโภคเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ 

“เราเริ่มเห็นเทรนด์กลุ่มลูกค้ารายเดิม และใหม่ใน และต่างประเทศกลับมาเยอะมาก ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และยิ่งเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นในไตรมาส 1 และ 2 ปี 65 ว่าลูกค้าเริ่มมีโปรเจกต์ให้เราทำให้มากขึ้นแล้ว”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปี 2564 การเติบโตยอดขายโดยรวมในประเทศอาจจะชะลอตัวลงบ้าง จากผลกระทบของสถานการณ์ของโควิด-19 แต่อย่างไรก็ตามบริษัทยังมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในฐานการผลิตในต่างประเทศ ทั้งอินโดนีเซีย และเวียดนาม ยังคงมีการเติบโตได้ดี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กลุ่มแป้งและซอส ซึ่งส่งผลให้ยอดขายรวมของบริษัทมีการเติบโตขึ้นอย่างโดดเด่น

โดยมีปัจจัยจากกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่มียอดขายเพิ่มขึ้น หลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายต่างๆ เอื้อให้เกิดการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทำให้เกิดการบริโภคภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น

ท้ายสุด “พญ.จัณจิดา” บอกไว้ว่า หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย แต่ตอนนี้เรากำลังเป็นห่วงประเด็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะกระทบกับโปรเจกต์ที่กำลังดำเนินการ และเตรียมจะนำออกสู่ตลาดในปีหน้าว่าจะสามารถทำได้หรือเปล่า แต่ในระยะสั้นบริษัทยังมีออเดอร์เข้ามาจำนวนมาก 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์