กทม.เคลียร์หนี้แสนล้าน 'สายสีเขียว' เก็บค่ารถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย 15 บาท
“ชัชชาติ” เผยแนวทาง เคลียร์หนี้สายสีเขียว 1 แสนล้าน เคาะเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย “ห้าแยกลาดพร้าว-คูคต” และ “แบริ่ง-สมุทรปราการ” 15 บาท ระบุสัมปทานบีทีเอสคาดได้ข้อสรุป ก.ค.นี้ “บีทีเอส” ขานรับ ลั่นต้องใช้เวลาติดตั้งซอฟต์แวร์ และประชาสัมพันธ์ราคาใหม่ราว 1 เดือน
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอยู่ระหว่างการทบทวนแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย และหนี้งานโยธาส่วนต่อขยาย ซึ่งก่อนหน้านี้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เลือกวิธีการต่อสัมปทานให้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่เมื่อเปลี่ยนผู้บริหารกรุงเทพมหานครใหม่จึงต้องกลับมาทบทวนข้อเสนอ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 10/2565 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง วานนี้ (27 มิ.ย.) และให้สัมภาษณ์หลังการประชุมถึงความคืบหน้ากรณีสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า จะต้องสรุปความคืบหน้าร่วมกับนายธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการบริหารบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ภายใน 1 เดือน สิ่งสำคัญ คือ การคิดราคาค่ารถไฟฟ้าส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 ที่เป็นภาระหนี้ ซึ่งปัจจุบันมีคนใช้อยู่ 27% ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว
“เบื้องต้นคงเป็นไปตามข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ให้เก็บค่าโดยสารไม่เกิน 59 บาท ในส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 แบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ และห้าแยกลาดพร้าว-คูคต ถึงเวลาที่ต้องจ่ายค่าโดยสาร เพราะเราต้องจ่ายค่าเดินรถเพื่อความยุติธรรม” นายชัชชาติ กล่าว
นายชัชชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันมีรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีหนี้ส่วนต่อขยายราว 100,000 ล้านบาท รวมทั้งมีหนี้โครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล แบ่งเป็นหนี้วางระบบขณะที่หนี้ของรัฐบาลเป็นหนี้วางระบบรถ ประมาณ 19,000 ล้านบาท และหนี้ค่าจ้างเดินรถอีก 13,000 ล้านบาท ซึ่งต้องพิจารณา 2 ส่วน ได้แก่
1.การคิดอัตราค่าโดยสารที่ไม่ได้ขึ้นมานานหลายปี 2.การต่อสัญญาสัมปทาน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือน ก.ค.2565
เก็บค่ารถจ่ายหนี้“บีทีเอส”
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ได้ประชุมคณะผู้บริหารบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ตามข้อแนะนำจากการประชุมร่วมกับทีดีอาร์ไอ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2565 เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งทีดีอาร์ไอ เสนอให้กรุงเทพมหานครเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อขยายส่วนเหนือ ช่วงหมอชิต-คูคต และส่วนใต้ ช่วงสำโรง-สมุทรปราการ หลังจากเปิดนั่งฟรีมานานแล้ว เพื่อแบ่งเบาภาระหนี้สินค่าจ้างเดินรถที่ต้องจ่ายให้กับบีทีเอส
สำหรับ อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย เก็บ 15 บาท เมื่อรวมกับเส้นทางหลักสัมปทานเก็บได้สูงสุดไม่เกิน 59 บาท
สำหรับอัตราค่าโดยสาร 59 บาท เป็นตัวเลขที่คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครเห็นว่ามีความเหมาะสม ประชาชนน่าจะรับได้ เพราะเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อขยายไกลพอสมควร ช่วงหมอชิต-คูคต ระยะทาง 19 กิโลเมตร จำนวน 16 สถานี และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 13 กิโลเมตร จำนวน 9 สถานี
ส่วนเรื่องระยะเวลาที่จะเริ่มเก็บอยากให้เร็วที่สุด ซึ่งเดิมตั้งเป้าเริ่มเก็บวันที่ 1 ก.ค.2565 แต่สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) แจ้งว่า อาจจะไม่ทัน เพราะต้องหารือกับ บีทีเอส เนื่องจากต้องมีการปรับแก้ไขระบบซอฟต์แวร์ การคำนวณค่าโดยสารส่วนต่อขยาย
รายงานข่าวระบุว่า สำหรับ ประเด็นการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น นายชัชชาติต้องการให้มีการแข่งขันราคาถึงจะมีความเป็นธรรม อยากให้ทำตามระบบ บังคับใช้ พ.ร.บ.การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบ จึงต้องคิดให้รอบคอบหลังจากนี้จะทำหนังสือชี้แจงและเสนอ ครม.ซึ่งต้องพิจารณาให้รอบคอบ โดยเฉพาะการพิจารณาประเด็นถึงความจำเป็นที่ต้องต่อสัญญาสัมปทานให้เอกชน 30 ปี โดยไม่ผ่านการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
ขอ1เดือนเตรียมปรับค่ารถ
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส กล่าวว่า การเริ่มเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่- คูคต ในวันที่ 1 ก.ค.2565 บีทีเอสในฐานะผู้รับจ้างเดินรถ ประเมินว่าในกรอบกำหนดดังกล่าวอาจเร็วเกินไป ไม่เพียงพอต่อการติดตั้งระบบซอฟต์แวร์และสิ่งสำคัญคือการประชาสัมพันธ์อัตราราคาใหม่ให้ผู้โดยสารทราบ
ทั้งนี้ ตามขั้นตอนของสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักที่บีทีเอสเป็นคู่สัญญานั้น หากจะปรับขึ้นราคาค่าโดยสารต้องประกาศประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารทราบเป็นระยะเวลา 1 เดือน แต่ในส่วนของกรุงเทพมหานคร นั้น บีทีเอสไม่ทราบในรายละเอียดว่าจะต้องประกาศล่วงหน้าหรือไม่ แต่ในทางปฏิบัติประเมินว่าอาจต้องใช้เวลา 1 เดือน เพราะนอกจากต้องประชาสัมพันธ์อัตราค่าโดยสารใหม่แล้ว บีทีเอส ต้องดำเนินการติดตั้งป้ายราคาใหม่ตามสถานีให้บริการ และปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์เพื่ออ่านบัตรโดยสารและคิดราคาค่าโดยสาร
ห่วงเก็บค่ารถไม่พอจ่ายหนี้
ส่วนกรณีที่กรุงเทพมหานครมีแนวคิดจะนำรายได้จากการจัดเก็บค่าโดยสารช่วงส่วนต่อขยายเพื่อมาใช้หนี้สินที่มีอยู่กับบีทีเอสนั้น ส่วนตัวประเมินว่าหากกรุงเทพมหานครเก็บค่าโดยสารอัตราราคา 15 บาท ตามที่ปรากฏในข่าวนั้น อาจไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการและนำเงินส่วนที่เหลือเพื่อมาจ่ายหนี้คงค้าง เพราะเส้นทางส่วนต่อขยายมีระยะทางค่อนข้างไกล ใช้ต้นทุนจำนวนมากหากเทียบกับอัตราราคาที่จะจัดเก็บ แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่นโยบายของกรุงเทพมหานคร เพราะบีทีเอสเป็นเพียงเอกชนผู้รับจ้างเดินรถและเก็บรายได้นำส่งเท่านั้น
รายงานข่าว ระบุว่า ภาระหนี้สินระหว่างกรุงเทพมหานครกับบีทีเอส ปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 40,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.ค่าจ้างเดินรถและบำรุงรักษา (08M) ส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 3,710 ล้านบาท ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 13,343 ล้านบาท
2.ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) จำนวน 20,088 ล้านบาท โดยปัจจุบันบีทีเอสได้ทวงถามหนี้กับกรุงเทพมหานครมาแล้วหลายครั้ง และได้ยื่นฟ้องเพื่อให้กรุงเทพมหานคร จ่ายหนี้ในส่วนของค่าจ้างเดินรถที่ขณะนี้เป็นจำนวน 13,343 ล้านบาท
อีกทั้งกรุงเทพมหานครยังมีภาระหนี้ที่ต้องชำระอีก แบ่งเป็น ภาระเงินต้นงานโยธา รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่กรุงเทพมหานครรับโอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในปี 2561 จำนวน 55,000 ล้านบาท และภาระดอกเบี้ยงานโยธา รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ปี 2564-2572 ประมาณ 10,000 ล้านบาท