สิงห์เอสเตทต่อจิ๊กซอว์เอส อ่างทองปั้นนิคมฯอาหารเสริมแกร่ง3ธุรกิจหลัก

สิงห์เอสเตทต่อจิ๊กซอว์เอส อ่างทองปั้นนิคมฯอาหารเสริมแกร่ง3ธุรกิจหลัก

กางแผนธุรกิจ “สิงห์ เอสเตท” เดินเครื่องปั้นธุรกิจแห่งอนาคต! เสริมแกร่ง 3 ธุรกิจหลัก อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม สำนักงานให้เช่าและพื้นที่ค้าปลีก

ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ได้ขยายการลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอาหาร “เอส อ่างทอง”  สานนโบายภาครัฐมุ่งส่งเสริมธุรกิจอาหารและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นครัวโลก  โดยทำเลที่ตั้งของนิคมฯ “เอส อ่างทอง” บนพื้นที่ 1,776 ไร่ ริมถนนสายเอเชีย กม.63 ต.ไชยภูมิ อ.ไชโย จ.อ่างทอง นับเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญใจกลางใจกลางห่วงโซ่อุปทานอาหารและวัตถุดิบของประเทศ ทั้งเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตข้าว ผลิตภัณฑ์จากนม และสัตว์ปีก ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา

"เมื่อเปิดประเทศถือเป็นประโยชน์ต่อนิคมอุตสาหกรรมฯ เอส อ่างทอง ที่กำลังเปิดตัวทำให้มีโอกาสชักชวนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุน นอกเหนือจากผู้ประกอบการไทย ซึ่งพบว่ามีนักลงทุนต่างๆ ทั้งจีน เกาหลี ญี่ปุ่น เข้ามาดูนิคมฯ และซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องอาหาร"

ภายใต้แนวคิด Enriching Tomorrow ของ สิงห์ เอสเตท ที่เน้นการสร้างคุณค่าที่ยั่งยืน เป็นแนวทางและเป้าหมายของ “เอส อ่างทอง” มุ่งสู่ “เวิลด์ ฟู้ด วัลเลย์” สอดคล้องนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางครัวโลก เพราะหัวใจสำคัญคือการส่งออก ที่สำคัญการเป็นพาร์ทเนอร์กับผู้ประกอบการอาหารขนาดกลางและเล็ก เพื่อให้สามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดโลกได้
 

โครงการ เอส อ่างทอง นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสำหรับอาหาร และโครงสร้างพื้นฐาน แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานครอบคลุมธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจบริการด้านวิศวกรรม และ ธุรกิจบริการรวมถึงนวัตกรรมต่างๆ 2.ธุรกิจโรงไฟฟ้าในลักษณะการร่วมทุนเพื่อดำเนินงานโรงไฟฟ้า จำนวน 3 โรง ขนาดกำลังการผลิตรวมกว่า 400 เมกะวัตต์ ซึ่งมีสัญญาซื้อขายกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แล้วราว 70% เป็นเวลา 25 ปี โดยบริษัทจะมีการรับรู้ผลการดำเนินงานของธุรกิจผ่านส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจร่วมค้า และ 3.นิคมอุตสาหกรรม

“เรามีจุดเด่นที่แตกต่าง คือ เป็นนิคมอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีนิคมฯ อาหารเฉพาะ ขณะที่ผู้ประกอบการอาหารส่วนใหญ่เป็นรายใหญ่ที่ทำธุรกิจมานานและมีโรงงานผลิตเป็นของตนเอง และปัจจุบันมีผู้ประกอบการขนาดกลางที่ผลิตอาหารส่งออกมากขึ้น ต่างมองหานิคมฯ ที่ตอบโจทย์ในทุกมิติ ทั้งเชิงนิเวศและการทำงานร่วมกับภาครัฐที่มีอำนาจควบคุมกฏระเบียบ เช่น การนิคมอุตสาหกรรม การได้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี ฉะนั้นการเข้ามาอยู่ในพื้นที่นิคมฯ จะตอบโจทย์ผู้ประกอบการ”
 

ในแง่กายภาพนิคมอุตสาหกรรม เอส อ่างทอง มีจุดเด่นและความแตกต่างคือ ราคาที่ดินที่ถูกกว่า ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของผู้ประกอบการ ซึ่งถือเป็นประโยชน์ทางด้นการเงินในระยะยาวให้กับผู้ประกอบการจากต้นทุนโรงงานที่ต่ำกว่า

“เอส อ่างทอง เป็นรอยต่อ Climate change ซึ่งเป็น 3 องค์ประกอบที่สร้างความโดดเด่นตอบโจทย์ตลาดในปัจจุบันและอนาคต เป็นธุรกิจใหม่ที่เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้กับ 3 ธุรกิจอสังหาฯ โรงแรม สำนักงานให้เช่าและพื้นที่ค้าปลีกของสิงห์ เอสเตท"

กำจร ลีประพันธ์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส. ไอเอฟ. จำกัด กล่าวเสริมว่า เอส อ่างทอง เน้นการส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางเล็กได้มีพื้นที่เพื่อผลิตอาหาร โดยปีแรกนี้ (2565) ตั้งเป้ายอดขาย 15% ของพื้นที่ทั้งหมด คิดเป็นมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ซึ่งยอดขายส่วนหนึ่งมาจากโรงไฟฟ้า 2 โรง รับรู้รายได้ไตรมาส 3 ปี 2565  ส่วนที่เหลือจะทยอยขายตามแผนในปีถัดๆไป 

ในส่วนด้านหน้าโครงการมีพื้นที่ 30 ไร่ ทำคอมเมอร์เชียล คาดมียอดรับรู้รายได้จากรีเทลในพื้นที่ 10 ล้านบาทต่อปี หรืออาจมากกว่านั้น รวมทั้งรายได้ประจำ (Recurring income ) ที่เกิดจากการใช้สาธารณูปโภคในนิคมฯ เช่น น้ำประปา การบำบัดน้ำทิ้ง ราว 150 ล้านบาท ต่อปี 

แผนต่อไป จะเปิดตัวนิคมฯ ให้กับธุรกิจอาหารภายใต้สภาอุตสาหกรรมและหอการค้า ที่ต้องการขยายโรงงาน หรือสร้างใหม่ คาดว่าภายใน 5 ปี จะปิดการขายพื้นที่ได้หมด