อุตฯ เสนอเหมืองโพแทชอุดรธานี ลุ้น ครม.เคาะผลิตปุ๋ยในประเทศ
จับตาที่ประชุม ครม. เล็งเคาะโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี หลังกระทรวงอุตสาหกรรมชงเข้าวาระพิจารณา หวังเป็นแนวทางแก้ปัญาต้นทุนปุ๋ยราคาแพง และลดการพึ่งพานำเข้า
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันนี้ (28 มิ.ย. 2565) มีวาระน่าสนใจของกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอเรื่องผ่านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ขอให้การพิจารณา โครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี โดยได้บรรจุเรื่องนี้เอาไว้เป็นวาระเพื่อพิจารณา
สำหรับโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี นั้น ที่ผ่านมามีรายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเสนอโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี มายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว เพื่อเตรียมบรรจุระเบียบวาระเข้าสู่การประชุม ครม.
หลังจากได้ทำหนังสือขอความคิดเห็นประกอบจากหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แล้ว และได้รวบรวมรายละเอียด เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมครม.พิจารณา จากนั้นจึงพิจารณาอนุญาตประทานบัตรต่อไป
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นแหล่งแร่โพแทชขนาดใหญ่ ได้ยื่นขอประทานบัตรไปแล้ว โดยโครงการเหมืองดังกล่าวมีแผนการผลิต 2 ล้านตันต่อปี โดยประเมินว่าจะมีปริมาณการผลิตตลอดอายุโครงการอยู่ที่ 33.67 ล้านตัน ซึ่งหากโครงการดังกล่าวผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบปุ๋ยจากต่างประเทศได้
ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุมัติประทานบัตรให้กับเอกชน 2 ราย คือ บริษัท ไทยคาลิ จำกัด จังหวัดนครราชสีมา และบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) จังหวัดชัยภูมิ
รายงานข่าวกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า ในส่วนของผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากโครงการเหมืองแร่โพแทชนั้นนอกจากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ผู้รับประทานบัตรจะต้องจ่ายประมาณ 15,000 ล้านบาทแล้ว ยังมีค่าภาคหลวงแร่เป็นเงินประมาณ 16,600 ล้านบาทตลอดอายุโครงการ
โดยจะส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน 6,640 ล้านบาท และจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 9,960 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ก็จะแบ่งให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของโครงการ 3,320 ล้านบาท