“สุริยะ” ชี้อุตสาหกรรมยุคใหม่ โตอย่างสมดุล และยั่งยืน

“สุริยะ” ชี้อุตสาหกรรมยุคใหม่ โตอย่างสมดุล และยั่งยืน

“สุริยะ” ชี้ก้าวต่อไปของภาคอุตสาหกรรมไทย ต้องปรับตัวให้ทันเทรนด์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค และกฎระเบียบโลกใหม่ มุ่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

วันที่ 29 มิ.ย.2565 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ก้าวสู่อนาคตของภาคอุตสาหกรรมไทยในยุค Next Normal” ภายในงาน “FTI Expo 2022” ว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกกำลังต้องเผชิญกับวิกฤติ และความผันผวนในหลายด้าน ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคในโลกยุค Next Normal ที่ส่งผลต่อการวิถีชีวิต และการดำเนินธุรกิจเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรม จำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกอบด้วย 

1. Digital Economy และความก้าวหน้าในพัฒนาการของเทคโนโลยี ที่เร่งให้ทุกภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยีในด้านอื่นๆ มาประยุกต์ใช้ในสินค้า บริการ และการดำเนินกิจการ

2.กฎระเบียบโลกใหม่ ส่งเสริม Sustainable Economy เพื่อตอบโจทย์จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ และแนวโน้มการขาดแคลนทรัพยากรปัจจัยการดำรงชีพ สู่การตั้งเป้าหมาย Net Zero Emissions , Zero Waste to Landfill หรือ Water Footprint ที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมจำเป็นต้องบริหารจัดการให้ได้ตามตารางเวลาที่กำหนด

3.ความใส่ใจด้านสุขภาพและสุขอนามัย การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งทำให้มีการใช้กำลังแรงงานในอุตสาหกรรมที่น้อยลง ตลอดจนการออกกฎระเบียบกีดกันการแข่งขัน ที่อ้างการดูแลสวัสดิภาพแรงงาน ที่มีหลายประเทศประกาศเป็นเงื่อนไขออกมามากขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ แรงกดดันจากวิถี Next Normal และกฎระเบียบของโลกใหม่กำลังส่งผลให้การก้าวสู่อนาคตของภาคอุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องมีการปรับธุรกิจแบบยกเครื่องที่ผ่านมา จากเดิมที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญกับการเติบโตที่มีตัวเลขรายได้ และผลประกอบการเป็นตัวชี้วัดหลัก โดยการแข่งขันกันใน 3 บริบทหลัก ได้แก่ คุณภาพ (Quality) ต้นทุน (Cost) และเวลาส่งมอบ (Delivery)

ขณะที่ในปัจจุบัน องค์กรทางธุรกิจกำลังถูกบีบให้ต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการดูแลสังคม และสวัสดิภาพแรงงานมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด บริษัทขนาดใหญ่ในต่างประเทศมองหาคู่ค้า ที่สามารถตอบโจทย์ได้มากกว่า Q-C-D แต่เบนเข็มไปสู่การหาคู่ค้าที่มีวิถีการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งหมายถึงการให้ความสำคัญกับทั้งความสำเร็จทางเศรษฐกิจ (Economic Success) การรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงการดูแลสวัสดิภาพของแรงงานโดยรอบด้าน (Social Responsibility) และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (Environmental Conservation)

“ดังนั้น ทิศทางการก้าวสู่อนาคตของภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยต่อจากนี้ไป จึงมิใช่นโยบายการเติบโตแบบ Aggressive Growth ที่อาจสร้างภาระให้กับสังคมกับสิ่งแวดล้อม แต่จะต้องเป็นการเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์    ศิลาวงษ์