กกร.ร่วมผนึกฟื้นเศรษฐกิจ แนะรัฐจัดมาตรการคลังให้เหมาะสม
ส.อ.ท.ดัน 4 ยุทธศาสตร์สร้างความเข้มแข็งอุตสาหกรรม หอการค้า แนะเร่งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน สมาคมธนาคารไทย แนะรัฐกำหนดนโยบายการคลังการเงินให้เหมาะกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องเจอกับความท้าทายหลายระดับ ทั้งสงครามการค้า ปัญหาโควิด–19 ที่ชี้ให้เห็นความเปราะบาง ของโครงสร้างเศรษฐกจิไทยจากการพึ่งพาการท่องเที่ยวจากต่างประเทศและการส่งออกของภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักเมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ได้ก็ทำให้รายรับเป็นศูนย์ รวมทั้งการกระจุกตัวของอุตสาหกรรมกลุ่มเดิม ทำให้ขาดความยั่งยืนและไม่เกิดมูลค่าเพิ่มสุทธิที่แท้จริงให้กับประเทศ
นอกจากนี้ ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากทั่วโลกที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ภาวะเงินเฟ้อและการดิสรัปชั่นด้านความรู้ การมาของเทคโนโลยใหม่ที่อาจทำให้ความต้องการแรงงานในประเทศลดลง รวมไปถึงหนี้สินครัวเรือนที่สูงขึ้น และกำลังซื้อที่ลดลง
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤติเหล่านี้ยังมีโอกาส โดยภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีการปฏิรูปภายใต้นโยบายการหลอมรวมทุกภาคส่วนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน (ONE FTI) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมในประเทศไทยให้แข็งแกร่งกว่าเดิมเกิดความยั่งยืนมากขึ้นและเป็นแนวทางการเติบโตที่ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมกันได้รับผลประโยชน์
โดยอาศัยยุทธศาสตร์ 4 ข้อ ประกอบด้วย 1) Industry Collaboration ผนึกกำลังอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ในลักษณะ 1 อุตสาหกรรม 1 จังหวัด
2) First 2 Next-Gen Industry ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่อนาคต ภายใต้อุตสาหกรรมเดิมและอุตสาหกรรมใหม่ซึ่งประกอบด้วย 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curves) ตามนโยบายรัฐอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนนโยบาย BCG หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
3) Smart SMEs ยกระดับ SMEs สู่สากล โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนา SMEs ในด้าน 1) Go Digital การนำดิจิทัลมาช่วยยกระดับศักยภาพทางธุรกิจ 2) Go Innovation การส่งเสริมให้SMEs เข้าถึงนวัตกรรมและงานวิจัยมากขึ้น 3) Go Global การสร้างและขยายโอกาสในตลาดต่างประเทศผ่านสภาธุรกิจต่างๆ
4) Smart Service Platform การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยยกระดับการให้บริการ
ทั้งนี้ ทิศทางการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยในอนาคต ประกอบไปด้วย 5 ด้าน ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมนำอุตสาหกรรม การมุ่งสู่บีซีจีโมเดล การเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน การอัปสกิลและรีสกิลทักษะแรงงาน และให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางซัพพลายเชน
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์โควิดในช่วงไตรมาส 3-4 ของปีนี้เริ่มคลี่คลาย โดยภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่สนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี แม้อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นจะฉุดรั้งกำลังซื้อและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ แต่เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจะได้รับแรงส่งจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น การเปิดประเทศเมื่อ 1 พ.ค. ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นชัดเจน
รวมถึงการคลายล็อกสถานบันเทิง ขยายเวลาเปิดถึงตี 2 ในวันที่ 1 ก.ค. นี้ คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนได้ 3.5-5 หมื่นล้านบาทต่อเดือน นอกจากนี้ ยอดนักท่องเที่ยวทั้งปี คาดว่าจะถึงตัวเลขที่ตั้งไว้ 6-8 ล้านคน หรืออาจถึง 10 ล้านคน ตามที่นายกฯ กล่าวไว้
นอกจากนี้ มาตรการห้ามส่งออกอาหารในหลายประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มข้าวสาลี น้ำตาลและน้ำมันพืช จะเป็นโอกาสของการส่งออกสินค้าของไทย อย่างไรก็ตาม ต้องมีการติดตามและบริหารจัดการสต็อกสินค้าเกษตรและอาหารที่ดี รวมทั้งบริหารจัดการไม่ให้เกิดการขาดแคลนปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี และอาหารสัตว์
ทั้งนี้การขับเคลื่อนภาคการค้าและบริการต่อจากนี้จะเป็นไปเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ โดยมุ่งให้ความสำคัญคนรุ่นใหม่ได้มีบทบาทขับเคลื่อนประเทศ
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ภารกิจที่สำคัญของไทยมี 3 ประเด็นหลัก คือ การสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของไทยต่อจากนี่จะอยู่ในรูปแบบ New K-shape Recover โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มธุรกิจที่ได้รับอานิสงค์และโอกาสจากความท้าทายต่าง เช่น ธุรกิจยา พลังงานสะอาด พลาสติกชีวภาพ และกลุ่มที่กำลังฟื้นตัว อาทิ ธุรกิจการท่องเที่ยว ร้านอาหารและบริการ ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มที่ต้องหยุดชะงัก ชะลอตัวลง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เศรษฐกิจดิจทัล และกลุ่มที่ยิ่งเจออุปสรรค เช่น รถโดยสาร
การขับเคลื่อนนโยบายการเงินการคลังอย่างเหมาะสม ในช่วงการเกิดจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ซึ่งในขณะนี้ภาวะเงินเฟ้อทำให้ธนาคารกลางของหลายประเทศปรับนโยบายดอกเบี้ยขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้นโยบายการคลังเพื่อพยุงค่าครองชีพประชาชนจะสร้างภาระทางการคลังในอนาคต
การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศที่มีความล้าสมัยหรือยังเป็นจุดอ่อน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต ได้แก่ การปรับกฎระเบียบที่จำกัดขีดความสามารถในการแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความเหลื่อมล้ำและความเปราะบางของครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอี และความเสี่ยงใหม่ที่จะเกิดขึ้นในยุคของเทคโนโลยี