แบงก์ชาติ จับตาเงินเฟ้อ พีคสุดไตรมาส 3 ชี้บางเดือนจ่อแตะ8%
แบงก์ชาติคาดเงินเฟ้อยังพีคสุดไตรมาส 3 คาดบางเดือนอาจเห็นเงินเฟ้อมีโอกาสแตะ 8 % ขณะที่เศรษฐกิจไตรมาส 2 ผงาด หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และไตรมาสเดียวกันปีก่อน อานิสงค์ท่องเที่ยว การบริโภค การลงทุนฟื้น จับตาเงินเฟ้อไตรมาส 3 พีคสุดบางเดือนแตะ 8 %
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท) กล่าวว่า เบื้องต้น ธปท.ยังคาดว่า สถานการณ์เงินเฟ้อในระยะข้างหน้า มองว่าจุดพีค น่าจะยังอยู่ในไตรมาส 3 ปีนี้
โดยบางช่วง มีโอกาสที่จะเห็นเงินเฟ้อขึ้นไปสู่ระดับ 8 % ได้ แต่ทั้งไตรมาส คาดว่าเงินเฟ้อจะยังเฉลี่ยอยู่ที่ 7.5 %
ส่วนภาพเศรษฐกิจที่ออกมา เพียง 2 เดือนในไตรมาส 2 คือ เดือนเม.ย. และพ.ค. พบว่า เศรษฐกิจไทย ขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากแรงส่งทั้งการบริโภคเอกชน และการลงทุนเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ส่งออก ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า ตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ยังขยายตัวได้ดี ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นมาก
ดังนั้นคาดว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 จะยังเป็นภาพของการขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และช่วงเดียวกันปีก่อน โดยจากข้อมูลจริงของสภาพัฒน์ เศรษฐกิจไทยขยายตัวไตรมาส 1 ขยายตัวอยู่ที่ 2.2 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน
เช่นเดียวกัน กับครึ่งปีหลัง ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ที่จะขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากแรงส่งของการท่องเที่ยวต่างชาติ ที่จะกลับมามากในครึ่งปีหลัง ทำให้ธปท.ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทย ยังเติบโตได้ตามประมาณการณ์ที่คาดไว้ที่ 3.3 %
สำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อในระยะข้างหน้า มองว่าจุดพีค น่าจะยังอยู่ในไตรมาส 3 ปีนี้ โดยบางช่วง มีโอกาสที่จะเห็นเงินเฟ้อขึ้นไปสู่ระดับ 8 % ได้ แต่ทั้งไตรมาส คาดว่าเงินเฟ้อจะยังเฉลี่ยอยู่ที่ 7.5 %
ขณะที่ สถานการณ์เงินบาท เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าลง หากเทียบกับดอลลาร์ที่แข็งค่าจากความกังวลของนักลงทุน จากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)
รวมถึงความกังวลจากเงินเฟ้อ และสงครามรัสเซียยูเครน และการชะลอตัวเศรษฐกิจจีน ทำให้มีการหันไปถือสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น
แต่หากดูการอ่อนค่าเงินบาท หากเทียบกับภูมิภาค ประเทศไทยไม่ได้อ่อนค่ากว่าค่าเงินอื่นๆมาก
โดยอ่อนค่าระดับกลางๆ ขณะที่มิ.ย. เงินบาทเฉลี่ยยังอ่อนค่าลง จากดอลลาณ์ที่ยังแข็งค่าต่อเนื่อง
ส่วนแนวโน้มเงินบาทในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะครึ่งปีหลัง มองว่า เมื่อเศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวมากขึ้น การท่องเที่ยวกลับมาดีขึ้น น่าจะเห็นความผันผวน และการอ่อนค่า และการผันผวนของเงินบาทไม่ได้หวือหวามากนัก
แต่อย่างไรก็ตาม หากดูเงินทุนไหลออก พบว่า ของไทยไม่ได้เห็นการเคลื่อนไหวผันผวนมากนัก ยังเป็นไปตามภาวะตลาด และหากดูตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันพบว่าต่างชาติยังซื้อสุทธิในตลาดหุ้น และพันธบัตรอยู่
สำหรับไส้ในเศรษฐกิจเดือนพ.ค. เศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภค ภาคเอกชนปรับดีขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 0.6% ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นทุกหมวดสินค้าสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับขึ้น ขณะที่ การลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.6%
ส่วนภาคการท่องเที่ยว ปรับตัวดีขึ้น โดยเดือนนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 5.2 แสนคน จากภาพรวมตั้งแต่ต้นปีมีจำนวนทั้งสิ้น 1.3 ล้านคน ส่งผลต่อตลาดแรงงานที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้น
โดยความเชื่อมั่นผู้ประกอบอาชีพอิสระเป็นบวก และจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ทยอยปรับดีขึ้น แต่ยังคงต่ำกว่าก่อนโควิด
ขณะที่ส่งออก ปรับตัวดีขึ้นทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ขยายตัว โดยมูลค่าการส่งออกขยายตัว 13.4% (ไม่รวมทองคำ) และขยายตัว 3.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน