"สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" ตำแหน่งเป็นของนอกกาย มาได้ก็ไปได้

"สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" ตำแหน่งเป็นของนอกกาย มาได้ก็ไปได้

ถอดแนวคิด "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน หวังสร้างสำนึกของการมีส่วนร่วม เมื่อการเมืองดีขึ้น ประเทศก็จะดีขึ้น พร้อมย้ำ “คุณค่าของคน” ไม่ได้วัดที่เงินในกระเป๋า หรือตำแหน่งใหญ่โต แต่ดูกันที่ผลงาน การสร้างคุณค่าให้กับสังคม

"..ไทยจะเฟื่อง ไทยจะรุ่งเรืองก็เพราะการเมืองดี" ท่อนหนึ่งจากเนื้อเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ทำนองมอญดูดาว) ที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เอ่ยขึ้นมา เพื่อย้ำถึงความเชื่อในแนวคิด “การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน

ดร.สมคิด ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ EXCLUSIVE TALK กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องในโอกาสรับรางวัลเข็มเกียรติยศ ประจำปี 2565 และ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ขอถอดความบางส่วนมาฝากคุณผู้อ่าน

  • รั้วเหลืองแดง แหล่งบ่มเพาะสู่ ดร.สมคิด ในวันนี้

ดร.สมคิด ยอมรับว่าเดิมที ตัวเขาไม่ได้มีความสนใจในการเมืองมากนัก จนกระทั่งก้าวเข้าสู่รั้วแม่โดม

“ผมเข้าธรรมศาสตร์ ปี พ.ศ.2516 ก็พอดีกับ ‘เหตุการณ์ 14 ตุลา’ และเรียนจบในปี พ.ศ. 2519 ก็ผ่าน ‘เหตุการณ์ 6 ตุลา’ขณะนั้นธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่มีบรรยากาศทางการเมืองสูงมาก ทั้งคณาจารย์และนักศึกษาทุกคนมีความตื่นตัวในเรื่องนี้ บางวันผมเห็นกลุ่มชาวนาเดินเข้ามาในมหาวิทยาลัยพูดคุยกับนักศึกษา พออยู่ในบรรยากาศอย่างนั้นถึง 4 ปีเต็ม ๆ มันก็ทำให้คุณมีโอกาสซึมซับข้อมูลความรู้ใหม่ ๆ ที่อยู่นอกห้องเรียน รับรู้ปัญหาของสังคม เห็นปัญหาการเมืองในบ้านเรา เริ่มมีการชุมนุมของนักศึกษา ซึ่งสมัยนั้นผมว่าเกือบทั้งหมดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม เพราะว่ามันเป็นการแสดงออกทางการเมืองที่บริสุทธิ์ใจ พวกเขาต้องการให้บ้านเมืองดีขึ้น ต้องการความเป็นธรรม...

สมัยนั้น (2516) ผมว่าเกือบทั้งหมดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม เพราะว่ามันเป็นการแสดงออกทางการเมืองที่บริสุทธิ์ใจ พวกเขาต้องการให้บ้านเมืองดีขึ้น ต้องการความเป็นธรรม

 

“และเรื่องที่สองก็คือสาขาวิชาที่เรียน เราเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ อาจารย์หลาย ๆ ท่าน โดยเฉพาะอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ เป็นอาจารย์ชื่อดัง คุณภาพสูงทั้งสิ้น ทุกคนเปิดกว้าง มีปฏิสัมพันธ์ รับฟังความเห็นของนักศึกษา ส่วนใหญ่เป็นลูกศิษย์ที่ ‘อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ส่งไปเรียนต่อ แล้วกลับมาพอดีในขณะนั้น ผมว่ามันเป็นบรรยากาศที่ดีมาก ๆ ในการบ่มเพาะความคิดต่าง ๆ ทำให้เวลาทั้ง 4 ปีนั้น เราไม่ได้ขลุกอยู่ในห้องเรียนอย่างเดียว แต่ได้เจอปัญหาจริง ๆ ในสังคม เผชิญกับสิ่งต่าง ๆ ทางการเมืองซึ่งเกิดขึ้นจริง ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้จึงเข้าไปอยู่ในใจโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ และซึมเข้าไปในดีเอ็นเอ ซึ่งก็น่าแปลกสำหรับคนที่ไม่ค่อยได้สนใจเรื่องการเมืองมาก่อนอย่างผม” ดร.สมคิดกล่าว

พร้อมเอ่ยย้ำถึงความสำคัญของการเมือง ว่า เหตุใดจึงถือเป็นเรื่องของทุกคน

  • ไทยจะเฟื่อง ไทยจะรุ่งเรือง ก็เพราะการเมืองดี

“การเมืองสำคัญที่สุด คนที่จบธรรมศาสตร์มาจะรู้ว่ามีเพลง ๆ หนึ่ง คือ เพลงประจำมหาวิทยาลัย ทำนองมอญดูดาว เนื้อหาท่อนหนึ่งบอกว่า ถ้าการเมืองดี คุณจะเห็นคนดี ๆ เข้าไปบริหารประเทศ เศรษฐกิจดี ๆ ก็จะตามมา ถ้าการเมืองไม่ดี ไม่มีธรรมาภิบาล เราก็จะเห็นการคอรัปชั่นเต็มบ้านเต็มเมือง

...ชื่อเดิมของธรรมศาสตร์คือ ‘มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง’ เพราะเขามองว่าการเมืองคือเรื่องสำคัญ เครื่องหมายเป็นตราธรรมจักรคือการเมืองที่มีคุณธรรม และสิ่งเหล่านี้ ชาวธรรมศาสตร์ต้องรู้ว่าทำไมเขาถึงตั้งชื่อนี้ ใช้เครื่องหมายนี้ นั่นเพราะเขาต้องการให้ทุกคนที่จบไปแล้วมีสำนึกของการมีส่วนร่วม เป็น ‘หน้าที่’ ไม่ใช่ ‘ภาระ’ ทุกคนต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง มากบ้าง น้อยบ้าง ตรงบ้าง อ้อมบ้าง และสิ่งเหล่านี้จะทำให้การเมืองเราดีขึ้น ประเทศก็จะดีขึ้น” ดร.สมคิด กล่าว

ถ้าการเมืองไม่ดี ไม่มีธรรมาภิบาล เราก็จะเห็นการคอรัปชั่นเต็มบ้านเต็มเมือง...ชื่อเดิมของธรรมศาสตร์คือ ‘มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง’ เพราะเขามองว่าการเมืองคือเรื่องสำคัญ

“คนไทยส่วนหนึ่งมองว่าไม่ควรเข้าไปยุ่งให้เปลืองตัว แต่ในความคิดผม กลับมองว่าไม่ใช่ ถ้าเราไม่พยายามส่งเสริมคนรุ่นใหม่เข้าไป การเมืองมันก็ไม่ดี ต้องเอาคนดี ๆ ให้เข้าไป ซึ่งถ้าเราทำตัวให้ดี เราสะอาด ใครจะมาทำอะไรเราได้ ฉะนั้น ด้วยมูลเหตุอันนี้ มันเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตผม แต่ในชีวิตของการทำงาน เราเป็นแค่มนุษย์ปุถุชน การที่จะแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ไม่ใช่ว่าเราจะทำได้ทุกอย่างบางอย่างก็ทำได้พอสมควร แต่เรื่องบางเรื่อง พอเข้าสู่โหมดการปฏิรูป มันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น อุปสรรคมันเยอะ ปัญหามันสั่งสม การทำงานบางครั้ง คุณไม่สามารถ Maximize แต่คุณต้อง Optimize หาจุดพอดี บางเรื่องคุณขยับไม่ได้เลย เพราะกำลังไม่ถึง อำนาจไม่พอ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้ผมท้อถอย”

  • เมล็ดพันธุ์คนธรรมศาสตร์

“ชีวิตในด้านการเมือง ผมเคยถามตัวเองเหมือนกันว่า ทำไมเราถึงเดินมาตามเส้นทางนี้ ถามว่าเราชอบการเมืองหรือ ก็ไม่ใช่ พอเรามานั่งคิดถึงย้อนอดีตไป ก็ได้คำตอบเลยว่าจุดเริ่มต้นมาจากมหาวิทยาลัย...

“ที่ผมเลือกเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ ก็เพราะว่ามี ‘อาจารย์ป๋วย’ เป็น Role Model สิ่งนี้สำคัญมากเลยนะ เอ่ยชื่อ ‘ธรรมศาสตร์’ ทุกคนจะรู้จัก ‘อาจารย์ป๋วย’ รู้คุณงามความดีของท่านว่ามีมาอย่างไร ประวัติของท่านเป็นอย่างไร ดังนั้น เด็กที่เข้าธรรมศาสตร์ตอนนั้นก็คิดเหมือนกัน เราก็มีแรงดลใจว่าเราชอบวิชาเศรษฐศาสตร์ อยากดำเนินชีวิตตามรอยท่าน เลยเลือกคณะนี้ แล้วมันก็เหมาะกับเรานะ เพราะว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตคน และสร้างความรอบรู้ให้เราพอสมควรทีเดียว ไม่แคบ ซึ่งทุกสาขาวิชาก็มีข้อดี แต่เศรษฐศาสตร์คือเรื่องที่สะท้อนความเป็นจริงของโลกเรา”

“ผมจำได้ว่า ตอนนั้นหน้าปกสมุดเลคเชอร์จะเป็นรูปโดม ส่วนข้างหลังจะเขียนว่า ‘ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน’ และในยุคนั้นคุณจะท่องกลอนบทนี้ได้เลย ‘ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย สุดท้าย ให้กระดาษ ฉันแผ่นเดียว’

“หมายความว่า...เวลาคุณเรียนหนังสือ คุณอย่าฟังแต่เลคเชอร์ คุณต้องหาความรู้เพิ่มเติม เข้าใจในปัญหาที่แท้จริงของประเทศ เข้าใจเรื่องจริง ๆ สภาพจริง ๆ ที่เกิดขึ้น สิ่งที่เราเล่าเรียนคือ ‘ความรู้’ แต่จะเอามาใช้อย่างไรกับความเป็นจริงของประเทศ มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ เป็นเรื่องของการใช้ ‘ปัญญา’ ผมถึงชอบกลอนบทนี้ เพราะไม่ใช่ว่าเรียนแค่เอาใบปริญญาแล้วออกไปทำงาน ถ้าเป็นแบบนั้น ชีวิตคุณจะแห้งมากเลยนะ เหมือนก๋วยเตี๋ยวไม่ได้ใส่เครื่องต้มยำ”

  • “สังคม” มาก่อน “ส่วนตัว”

“เวลาที่คุณทำงาน สังคมและบ้านเมือง ต้องมาก่อนเรื่องส่วนตัว นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ผมจำคำพูดนี้ได้ ตอนที่มีโอกาสพบกับท่าน “ลี กวน ยู” (อดีตนายกนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศสิงคโปร์) ท่านบอกไว้อย่างชัดเจนว่า สังคมต้องมาก่อน แล้วส่วนตัวค่อยตามมา นี่เป็นหลักคิดของลัทธิขงจื๊อ (Confucianism) เพราะถ้าสังคมพังทลาย อยู่ไม่ได้ ก็อย่าคิดว่าที่บ้านจะอยู่ได้ นี่เป็นความเชื่อส่วนตัวของผม”

“คุณค่าของคน ไม่ได้วัดกันที่คุณรวยแค่ไหน และไม่ได้วัดกันที่คุณมีตำแหน่งสูงมากแค่ไหน ตำแหน่งเป็นของนอกกาย ขึ้นแล้วก็ลง มาได้ก็ไปได้ แต่เราวัดกันที่ว่า...ทั้งชีวิตของคุณ คุณสร้างคุณค่าอะไรให้กับสังคมบ้าง”

“แนวคิดในการดำเนินชีวิตของผม ไม่ได้เริ่มจากมหาวิทยาลัยเป็นที่แรก แต่เริ่มมาจากครอบครัว สิ่งนั้นคือ ‘ความซื่อสัตย์สุจริต’ และ ‘การมีคุณธรรม’ ที่จะต้องเป็นแกนหลักของชีวิตเลย ถ้าชีวิตคุณขาดสองสิ่งนี้ โอกาสที่คุณจะเป๋มีสูงมาก ดังนั้น เราควรยึดสิ่งเหล่านี้ไว้ไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ เพราะเมื่อคุณเข้าสู่ช่วงเวลาของวัยรุ่น จะต้องเจอสิ่งแวดล้อมที่ยั่วยุแน่นอน แต่ถ้าเรามีแกนหลักที่แข็งแรง ความชั่วร้ายต่าง ๆ ก็ไม่มีทางทำอะไรเราได้ ด้วยหลักการอันนี้ ถ้าเจอเรื่องที่มันไม่ดี คุณก็จะไม่ทำ...

“ผมมีอาจารย์อยู่ท่านหนึ่งที่ผมนับถือมาก ถือว่าเป็นเมนเทอร์ของผม นั่นคือ ‘ศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย’ อดีตคณบดีของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี อดีตประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าของคำพูดที่ว่า... ‘สิ่งที่ถูกต้องคือถูกต้อง แม้ไม่มีใครทำสิ่งนั้น สิ่งที่ผิดคือสิ่งที่ผิด แม้ทุกคนทำสิ่งนั้น’ นี่คือสิ่งที่สะท้อนถึงความแข็งแกร่ง ของหลักยึด ถ้าเรายึดในสิ่งเหล่านี้ การดำเนินชีวิตก็จะไม่เสียหายจนกู่ไม่กลับ...

“ผมอยากจะบอกว่า เวลาที่เราเป็นวัยรุ่น เรามักคิดว่า สิ่งเดิม ๆ ที่คนอายุมากสอน มันล้าสมัย นี่เป็นเรื่องปกตินะ เพราะเค้าอยู่ในโลกอีกโลกหนึ่ง แต่ผมโตขึ้นมาจนถึงอายุขนาดนี้ คำแนะนำโบราณ ไม่มีสักข้อที่ผิดเลย ของทุกอย่างที่ผ่านกาลเวลามา มันพิสูจน์ด้วยเวลา ฉะนั้น เราต้องรับฟัง การที่คุณมีรากเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว คุณเคยเห็นต้นไม้ที่เติบใหญ่โดยที่ไม่มีรากมั้ย มันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น เราต้องเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วกับของใหม่ มาผสมผสานให้ทันสมัยยิ่งขึ้น”

  • คุณค่าของคนไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงินในธนาคาร

เส้นทางการทำงานทั้งสายวิชาการ และ ฝ่ายการเมืองตลอด 40 ปีที่ผ่านมาของ ดร.สมคิด เรื่องหนึ่งที่ตกผลึกชัดเจน คือ การไม่ยึดติดกับตำแหน่งหรือเงินตรา

“บางคนพอเริ่มทำงานปั๊บ ก็เหมือนเสียงระฆังยกที่หนึ่ง รีบหาเงิน สร้างชื่อเสียง ผมจะบอกให้เลยนะว่า คุณค่าของคน ไม่ได้วัดกันที่คุณรวยแค่ไหน และไม่ได้วัดกันที่คุณมีตำแหน่งสูงมากแค่ไหน ตำแหน่งเป็นของนอกกาย ขึ้นแล้วก็ลง มาได้ก็ไปได้ แต่เราวัดกันที่ว่าทั้งชีวิตของคุณ คุณสร้างคุณค่าอะไรให้กับสังคมบ้าง ทำไมคนบางคนที่ไม่มีเงิน แต่คนยกย่องจังเลย นั่นคือคุณค่าที่เขาสร้างขึ้นมา ดังนั้น การบาลานซ์ชีวิตให้ดี เป็นสิ่งที่สำคัญมากเลยนะ ถามตัวเองว่าคุณพอหรือยัง พอแล้วทำอะไรให้สังคมบ้างหรือเปล่า?”

  • แค่ 4 ปี แต่เป็นช่วงชีวิตที่มีคุณค่า

แม้จะเรียนอยู่ในรั้วแม่โดมเพียง 4 ปี แต่ ดร.สมคิด เผยว่า ชีวิตช่วงนี้ถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก

“มหาวิทยาลัยเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก เราเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีแหล่งศึกษานี้ และอาจารย์ทุกคน ไม่ว่าจะสอนดีไม่ดี เขาก็เป็นคนที่มีคุณความดีทางการสอน ส่วนเพื่อนฝูงก็สำคัญ ชีวิตคนเราต้องมีสองอย่าง หนึ่ง ต้องมีคนที่ชี้นำเรา เป็นเหมือนเมนเทอร์ สองคือคนที่มีเพื่อนฝูงเป็นลมใต้ปีก หนุนคุณให้เจริญก้าวหน้า”

“ผมมองว่า ‘ธรรมศาสตร์’ มีวัฒนธรรมของตัวเอง มีประเพณี มีความเชื่อเป็นหลักยึดที่แน่นแฟ้น และมีศิษย์เก่าที่รักสถาบันมาก ๆ จนทุกวันนี้เปรียบเสมือนทรัพย์สินของชาติ เพราะสามารถบ่มเพาะบุคลากรและสร้างความรู้ใหม่ ๆ ให้กับประเทศไทยได้ ผมอยากฝากถึงศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันทุกคน ให้ช่วยกันรักษาธรรมศาสตร์เอาไว้...

“ความรู้สึกของผมนะ มันเป็นเรื่องที่แปลกมากเลย แม้จะเข้าไปเรียนแค่ 4 ปี แต่ก็มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยแห่งนี้”

  • เหรียญเกียรติยศ รางวัลแห่งชีวิต

เกี่ยวกับการรับรางวัลเข็มเกียรติยศ ประจำปี 2565 ในครั้งนี้ ดร.สมคิด เปิดใจยอมรับว่า ถือเป็นเกียรติยศสูงสุดของเจ้าตัว

“รางวัลนี้ต้องถือว่าเป็นเกียรติยศสูงสุดของผม ในเรื่องตำแหน่งหน้าที่การงานนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่ว่าการที่คุณได้รับรางวัลเกียรติยศจากมหาวิทยาลัยที่คุณจบมา เป็นสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่าชีวิตเรากับการทำงานทั้งหมด มีคุณค่าต่อสังคม”

“พอคิดดูแล้ว ปีนี้ผมอายุ 69 ปี แต่ว่าเวลาส่วนใหญ่ของชีวิต ก็หมดไปกับการทำงาน...15 ปีในฐานะของอาจารย์ และ 25 ปีเต็มๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ฉะนั้น 40 ปีที่ผ่านมา มันเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างยาวนานทีเดียว เป็นชีวิตที่เหนื่อยนะ เพราะว่ามีทั้งปัญหาและแรงกดดัน แต่ตอนนี้เหมือนฝนที่ตกลงมาให้มันชุ่มฉ่ำ ต้องขอบพระคุณชาวธรรมศาสตร์ที่กรุณา เห็นคุณค่าของผม สิ่งนี้เป็นทั้งกำลังใจและเป็นของขวัญวันเกิดที่ดีมาก ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงและสำนึกในบุญคุณของมหาวิทยาลัย ที่เราเป็นตัวเป็นตนได้ในชีวิตนี้ เพราะ ‘ธรรมศาสตร์’ เป็นผู้บ่มเพาะเราขึ้นมา”