ธปท.ยืดมาตรการ ช่วยลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ชะลอเกิดหน้าผา ‘เอ็นพีแอล’
ธปท.ประกาศผ่อนคลายหลักเกณฑ์มาตรการทางการเงิน ไปสู่ระดับปกติ หลังเศรษฐกิจฟื้น แบงก์แข็งแกร่ง ไฟเขียวจ่ายเงินปันผล จากเดิมที่จำกัดจ่ายไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิ พร้อมนำเงินส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ คงมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางยาวถึงปี66
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภายใต้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ขณะที่ระบบของสถาบันการเงินเอง มีความมั่นคง
สะท้อนได้จากเงินกองทุน และเงินสำรอง และสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง ทำให้มองว่า ควรผ่อนคลายหลักเกณฑ์ หรือมาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่ส่งผลเป็นวงกว้าง(broad based ) มีความจำเป็นลดลง และสามารถทยอยปรับเข้าสู่ระดับปกติได้ (policy normalization)
ดังนั้นจึงได้ปรับมาตรการไปสู่ภาวะปกติมากขึ้น ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และสถานะของระบบธนาคารพาณิชย์ที่ปรับตัวดีขึ้น ธปท.จึงยกเลิกการจำกัดอัตราจ่ายเงินปันผล จากเดิมที่จำกัดอัตราการจ่ายไม่เกิน 50 % ของกำไรสุทธิประจำปี
จากผลการทดสอบระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ภายใต้ภาวะวิกฤติ (stress test) ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความแข็งแกร่ง มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูง มีเงินสำรองต่อหนี้เสียสูง เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้าได้
ธปท.จึงยกเลิกนโยบายจำกัดการจ่ายเงินปันผล แต่ก็ต้องอยู่บนหลักการของการระมัดระวัง เนื่องจากแบงก์เป็นกลไกที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ และการดูแลเรื่องสภาพคล่องเป็นเรื่องที่สำคัญ
กลับมาจ่ายเงินนำส่ง FIDFปกติ
รวมถึงการให้ธนาคารพาณิชย์กลับมาจ่ายอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF)ที่ระดับปกติที่ 0.46% ต่อปี ตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นไป
จากที่เคยปรับลดลงเหลือ 0.23% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น อีกทั้งสถาบันการเงินมีสถานะที่แข็งแกร่ง ที่สามารถสนับสนุนการฟื้นตัวของลูกหนี้ในระยะต่อไปได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาการลดเงินนำส่ง FIDF
นอกจากนี้ให้สถาบันการเงิน กลับมาจ่ายหนี้ของ FIDF สู่ระดับปกติ จะเป็นการ ไม่สร้างภาระต่อระบบเศรษฐกิจ และการเงินโดยไม่จำเป็นในระยะยาวด้วย
อย่างไรก็ตาม การลดเงินนำส่งเข้าFIDF ที่อัตรา 0.23% ยังมีผลถึงสิ้นปี 2565 ดังนั้นสถาบันการเงินยังจำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญกับการส่งผ่านต้นทุนในการบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ยืดมาตรการช่วยกลุ่มเปราะบาง
นายรณดล กล่าวว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัว แต่ยังมีความไม่เท่าเทียมกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ และยังมีลูกหนี้ที่ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19
โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง กลุ่มรายได้น้อยที่เป็นรายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน กลุ่มนี้ธปท.ก็ยังไม่ได้ละทิ้ง และยังช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ผ่านมาตรการเฉพาะจุด (targeted) เพื่อช่วยดูแลสภาพคล่อง ช่วยลดภาระลูกหนี้ ในช่วงที่ภาระค่าครองชีพสูงขึ้น
ดังนั้น ธปท.จึงมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อยที่มีความเปราะบาง โดยการยืดมาตรการเดิมที่มีอยู่ ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2566 ทั้งการคงการลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำ ที่ 5% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2566 และที่ 8% ในปี 2567
โดยให้กลับสู่เกณฑ์ปกติที่ 10% ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป และคงการขยายระยะเวลาชำระหนี้ของสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลที่ 1 ปี ออกไปจนถึงสิ้นปี 2566 จากเกณฑ์ปกติที่กำหนดไว้ 6 เดือน เพื่อช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้ และรักษาสภาพคล่องให้ครัวเรือนในกลุ่มเปราะบาง
นอกจากนี้ ธปท.จะมีการปรับปรุงโปรแกรมการจ่ายหนี้ของโครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งจะทำการเพิ่มทางเลือกในการผ่อนชำระ เพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ที่ยังมีกำลังในการชำระหนี้สามารถจบหนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งลูกหนี้ที่เลือกแผนการชำระหนี้ที่มีระยะเวลาสั้น จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรนขึ้น
โดยยังเตรียมการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ในไตรมาส 3 ของปีนี้ เพื่อเป็นช่องทางเสริมให้ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางสามารถขอรับความช่วยเหลือได้ ทั้งกลุ่มที่เป็นหนี้เสียแล้ว และยังไม่เป็นหนี้เสีย
อย่างไรก็ตาม ส่วนมาตรการอื่นๆ ยังคงมีอยู่ เช่น มาตรการแก้หนี้ระยะยาว โดยจะหมดถึงสิ้นปี 2566 โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถโอนทรัพย์มาชำระหนี้ได้
โดยให้สิทธิซื้อคืนภายในระยะเวลาที่ตกลงไว้จนถึงสิ้นเดือนเม.ย. 2566 และการเพิ่มสภาพคล่องภายใต้มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ที่สามารถใช้เม็ดเงินที่เหลืออยู่ได้จนถึงสิ้นเดือนเม.ย.2566
ฐานะแบงก์ไทยแข็งแกร่ง
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท.กล่าวว่า การยกเลิกการจำกัดการจ่ายเงินปันผล หลักๆ มาจากสถาบันการเงินมีความมั่นคง เพียงพอ ดูจากเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) อยู่ในระดับสูงถึง 20% จากเกณฑ์กำหนด 8.5% ถือว่าธนาคารสะสมเงินกองทุนค่อนข้างสูง
รวมถึงเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 165% เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้า รวมถึงสภาพคล่องรองรับวิกฤติ (LCR) สูงถึง 192.5% จากเกณฑ์กำหนดอยู่ที่ 100%
ดังนั้น มั่นใจว่าระบบสถาบันการเงินมีกันชนเพียงพอรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าได้
ทั้งนี้แต่ในทางกลับกัน หากยังคงจำกัดการจ่ายเงินปันผล อาจกระทบต่อความเชื่อมั่น และกระทบต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงิน จากมุมมองของสถาบันจัดอันดับเครดิตต่างๆ ได้
นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับ แนวทางการกำกับของธนาคารกลางต่างประเทศ ที่มีการยกเลิกมาตรการนี้ไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีซื้อหุ้นคืนจะต้องขออนุญาตจาก ธปท. โดยการทำ Capital Plan ให้ ธปท.รับทราบก่อน
ช่วยกลุ่มเปราะบางลดเอ็นพีแอลไหล
อย่างไรก็ตาม ในด้านการช่วยเหลือลูกหนี้ ภายใต้ เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแบบไม่เท่าเทียม มีลูกหนี้รายย่อย ที่ถือเป็นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มรายได้น้อย โดยเฉพาะที่เป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ยังเป็นกลุ่มที่น่าห่วง ธปท.จึงมีมติ ยืดอายุมาตรการ ลดขั้นต่ำบัตรเครดิต และสินเชื่อดิจิทัลออกไปอีก 1 ปี ไปถึงปี 2566
นอกจากนี้ สำหรับลูกหนี้ที่ยังมีปัญหา กลุ่มนี้ยังมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว 3 ก.ย. รวมถึง คลินิกแก้หนี้ ที่จะช่วยลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียได้มากขึ้น รวมถึงมาตรการไกล่เกลี่ยหนี้ ที่จะเริ่มไตรมาส 3 ปีนี้ เพื่อจะช่วยอุดลูกหนี้ ที่จะไหลไปสู่หนี้ที่มีปัญหาหรือเอ็นพีแอลได้มากขึ้น
ดังนั้นเชื่อว่า มาตรการที่ยังมีอยู่ จะช่วยช้อนกลุ่มที่เปราะบางที่อยู่ในระบบได้
“สิ่งที่เราทำ ในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เราคุยกับแบงก์ ว่ากลุ่มนี้คือใคร เพื่อออกมาตรการได้ตรงจุด และเพื่อไม่ให้กลุ่มนี้ไหลเพิ่มเติม และพยายามไม่ทำให้ เกิดเป็นหน้าผาหนี้เสีย (NPL cliff)จนระบบจัดการไม่ได้ ส่วนคนที่เสียแล้วเราก็พยายามช่วย ไม่ว่าจะมาตรการไกล่เกลี่ยหนี้ เพระหวังว่าจะช้อนกลับนี้ขึ้นมาได้”
ต้องสะสมPolicy spaceเมื่อเศรษฐกิจฟื้น
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.กล่าวว่า การผ่อนคลายนโยบายการเงินในอดีต ก็เพื่อรองรับช็อกที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ที่ถือเป็นช็อกใหญ่มาก และทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2563 ลงไปติดลบถึง 6.2%
ขณะที่บางไตรมาสติดลบถึง 10% จากการปิดเมือง ทำให้นักท่องเที่ยวที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลังไม่เข้ามา จึงมีผลกระทบทำให้ ผู้ว่างงาน และเสมือนว่างงาน รวมกันมีถึง 3.3 ล้านคน ส่งผลให้เศรษฐกิจลงไปลึกมาก ดังนั้นการทำนโยบายการเงินจึงมีส่วนสำคัญในการช่วยเศรษฐกิจฟื้นตัว และทำให้เศรษฐกิจไม่สะดุด
ทั้งนี้ภาพปัจจุบันเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าปีนี้ขยายตัว 3.3% ปีหน้า 4.2% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่อาจมากกว่าศักยภาพของเศรษฐกิจไทยด้วยซ้ำ
ขณะที่นักท่องเที่ยวคาดว่ากลับมาได้ปีนี้ 6 ล้านคน และปีหน้า 19 ล้านคน ทำให้การว่างงาน เสมือนว่างงานกลับมาดีขึ้น ขณะที่ระบบธนาคาร ตัวเลขสินเชื่อไตรมาสแรก กลับมาขยายตัว 7% ดังนั้นภาพวันนี้เปลี่ยนไปมาก
ดังนั้นมาตรการทางการเงินจำเป็นต้องปรับไปสู่ ระดับปกติมากขึ้น เพราะหากปล่อยไว้ นานๆ อาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้นจำเป็นต้องทำให้การทำนโยบายการเงินกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น ดังนั้น ความจำเป็นที่ต้องสะสม Policy space จึงมีความจำเป็นมากขึ้น
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์