25 ปี วิกฤติ "ต้มยำกุ้ง" 25 หมุดเหตุการณ์ เมื่อ "เสือตัวที่ 5" เป็นเพียงฝันไป
25 ปี "วิกฤติต้มยำกุ้ง" สรุป 25 หมุดไมล์น่าสนใจ หลังเศรษฐกิจไทยเติบโตไม่ติดเบรก จนฝันถึง “เสือตัวที่ 5" แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2540 เศรษฐกิจที่กำลังเฟื่องฟู “ดิ่งพสุธา” กระทั่งลุกลามจนเป็น “วิกฤติต้มยำกุ้ง” โดยมีเหตุการณ์ "ลอยตัวค่าเงินบาท" เป็นฟางเส้นสุดท้าย ก่อนจะล้มครืน
ครบรอบ 25 ปี "วิกฤติต้มยำกุ้ง" ที่ตอกหมุดประวัติศาสตร์ไว้ที่ 2 กรกฎาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่ไทยประกาศ "ลอยตัวค่าเงินบาท" และถือเป็นฟางเส้นสุดท้าย หลังมรสุมปัญหาทยอยกระหน่ำต่อเนื่องให้เศรษฐกิจไทยยากจะโงหัวขึ้น
ทั้งๆ ที่ นับตั้งแต่ปี 2530-2539 เศรษฐกิจไทยเติบโตไม่ติดเบรก จนฝันถึงภาพก้าวสู่การเป็น “เสือตัวที่ 5" และไม่มีนักเศรษฐศาสตร์คนใดคาดคิดว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ “ยุคเสื่อม” อย่างกะทันหัน
ครึ่งปีของการก้าวเข้าสู่ปี 2540 เศรษฐกิจที่กำลังเฟื่องฟู “ดิ่งพสุธา” อย่างน่าอัศจรรย์ จากโรคร้ายหนี้เสียที่ “คุกคาม" ภาคธุรกิจ ลุกลามเกาะกินฐานเงินทุนสถาบันการเงินอย่างเงียบๆ กระทั่งลุกลามจนเป็น “วิกฤติต้มยำกุ้ง” โดยมีเหตุการณ์ไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เป็น ฟางเส้นสุดท้าย ก่อนจะล้มครืน!
ธุรกิจที่กู้เงินเป็นดอลลาร์ แต่มีรายได้เป็นเงินบาท
..แค่ตื่นขึ้นมาหนี้ก็เพิ่มขึ้นเท่าตัว
เหล่าเศรษฐีกลายเป็น “คนเคยรวย” แค่ชั่วข้ามคืน
จนไทยต้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ “ไอเอ็มเอฟ”
“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” เก็บตก 25 หมุดเรื่องราวสำคัญและน่าสนใจ ในโอกาสครบรอบ 25 ปี “วิกฤติต้มยำกุ้ง” (Tom Yum Kung Crisis) เพื่อให้สามารถมองเห็นภาพสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2540 อันเป็นประวัติศาสตร์ที่เจ็บปวดครั้งหนึ่งของคนไทย
1. ช่วงปี 2530-2539 เศรษฐกิจไทยเติบโตไม่ติดเบรก ใครๆ ก็ต่างฝันถึงก้าวต่อไปของไทยสู่การเป็น “เสือตัวที่ 5"
2. เข้าสู่ปี 2540 เศรษฐกิจที่เฟื่องฟูกลับ “ดิ่งพสุธา” จาก “หนี้เสีย” ที่เกาะกินสถาบันการเงินอย่างเงียบๆ
3. ต้นเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หลักๆ มาจาก “ความผิดเพี้ยน 3 ประการ” ของโครงสร้างทางการเงินและเศรษฐกิจที่ “ผิดเพี้ยน” และไม่มีระบบสัญญาณเตือนภัยทางเศรษฐกิจ
ความผิดเพี้ยนดังกล่าวเริ่มต้นจาก..
ผิดเพี้ยนจาก “โครงสร้างเศรษฐกิจ” ที่พึ่งพิงปัจจัยการผลิต และการตลาดต่างประเทศมากเกินไป
ผิดเพี้ยนจาก “โครงสร้างการออมภายในประเทศ” ต่ำกว่าการลงทุน
ผิดเพี้ยนจาก “โครงสร้างเงินกู้ต่างประเทศ” ของภาคเอกชนมากเกินเป็น ..ที่สำคัญ คือ กู้เงินในรูปดอลลาร์ แต่มีรายได้เป็นเงินบาท
ผลพวงของความผิดเพี้ยนสะสมมาบรรจบกัน..ความหายนะก็เข้ามาเยือน
4. ในเดือนพฤษภาคม 2540 ธปท.ใช้งิน 4 พันล้านดอลลาร์ พยุงค่าเงินบาท หลังถูกกระหน่ำโดยนักเก็งกำไร ส่งผลให้ขาดดุล 1.12 แสนล้านบาท
5. ความพยายามของรัฐบาลที่จะ “อุ้มบีบีซี” หรือ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ หรือ บีบีซี แม้ว่าสถานการณ์ของบีบีซีขณะนั้นจะ “เกินเยียวยา” โดยรวมเม็ดเงินที่กองทุนฟื้นฟูได้เข้าช่วยเหลือบีบีซีทั้งหมด 1.05 แสนล้านบาท ก่อนที่ธปท.ในยุคดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ จะมีการสั่งลดทุนบีบีซีเหลือ 50 สตางค์ ในช่วงปลายปี 2540 ทั้งนี้กองทุนฟื้นฟูได้รับความเสียหายเฉพาะการ “ลดทุน” เกือบ 3 หมื่นล้านบาท
การกระทำดังกล่าวของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้เกิดข้อกังขาในความเป็นธรรม เนื่องจากธปท.ไม่ได้มีการดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับกลุ่มผู้บริหารที่มีพฤติกรรมไม่ตรงไปตรงมา รวมทั้งการ “เพิ่มทุน” ครั้งนี้ไม่ได้ “ลดทุน” ก่อน ทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมไม่ได้ความรับเสียหาย จนกลายเป็น "วิกฤติศรัทธา" ของสาธารณชนที่มีต่อ ธปท.
6. วันที่ 1 ก.ค.40 ครม. อนุมัติมาตรการฟื้นฟูอสังหาริมทรัพย์ ไฟเขียว 3 เรื่องสำคัญเกี่ยวกับต่างชาติครอบครองที่ดิน ได้แก่
- ให้สิทธิคนต่างด้าวที่สมรสกับคนไทยมีสิทธิในที่ดิน 1 ไร่ และให้สิทธิคนต่างด้าวที่เข้ามาลงทุนในไทยเกิน 25 ล้านบาท สามารถซื้อที่ดินที่เป็นที่อยู่อาศัยได้ 1 ไร่
- ให้นิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาชาวต่างชาติ ถือครองอาคารชุดได้เกินกว่า 49 เปอร์เซ็นต์ หรือสูงสุดร้อยปอร์เซ็นต์ กรณีปลูกสร้างบนที่ดินไม่เกิน 5 ไร่ ในเขตกรุงเทพฯ เขตเทศบาล และเขตส่วนราชการท้องถิ่นอื่นๆ
- ยืดเวลาเช่าที่ดินโดยชาวต่างชาติ จากเดิมไม่เกิน 30 ปี เป็นไม่เกิน 99 ปี
7. วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 รัฐบาลประกาศ “ยกธงขาว” ปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัว ภายใต้การจัดการ (Managed Float) โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 นำโดยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายเริงชัย มะระกานนท์
หลังประกาศค่าเงินลอยตัว ทำให้หนี้ต่างประเทศ 8.3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นทันทีประมาณ 3.3 แสนล้านบาท
8. ธุรกิจที่กู้เงินเป็นดอลลาร์ แต่มีรายได้เป็นเงินบาท ..แค่ตื่นขึ้นมา หนี้ก็เพิ่มเท่าตัว!
9. วันที่ 13 สิงหาคม 2540 ดร.ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และนายอิวเบิร์ต นีอิส หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่กองทุนระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงการหารือและจัดทำโปรแกรมฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ซึ่งรัฐบาลไทยได้เซ็นหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) เพื่อขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากไอเอ็มเอฟ
10. เหล่าเศรษฐีกลายเป็น “คนเคยรวย” และเป็น “ปฐมบท” ของ “ธุรกิจเอสเอ็มอี” ที่แพร่หลายในปัจจุบัน
11. ราคาที่ดินลดฮวบกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ล้มละลายเป็นว่าเล่น
12. โรงงานขนาดเล็กนับแสน “ปิดกิจการ” โรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่แบกภาระหนี้หลังแอ่น คนไทย “ตกงาน” นับล้านคน
13. พ.ร.ก.ปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มีผลบังคับใช้ 25 ต.ค.40 จัดตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ดำเนินการกับ 58 ไฟแนนซ์
14. 56 ไฟแนนซ์ล้มครืน (เดิมสั่งปิด 58 ไฟแนนซ์แต่มี 2 รายที่ยื่นแผนฟื้นฟูผ่านคือ บงล.เกียรตินาคิน และ บงล.บางกอกอินเวสท์เมนท์) พนักงานไฟแนนซ์กลายเป็น “อดีตมนุษย์ทองคำ” ต้องตกงานนับหมื่นคน
15. วิกฤติ “ลุกลาม” ไปยังประเทศในเอเชีย จนถูกเรียกว่า “วิกฤติต้มยำกุ้ง”
16. ปรส.ถูกข้อครหา “ขายสมบัติชาติ” เนื่องจากขายทรัพย์สินอย่าง “เร่งรีบ” โดยเฉพาะกรณี เลแมน บราเดอร์ส โฮลดิ้ง ชนะการประมูลสินเชื่อที่อยู่อาศัย
17. วันที่ 20 ต.ค. 40 “ม็อบชนชั้นกลาง” หรือที่เรียกกันว่า ม็อบสีลม กว่า 3,000 คน ชุมนุมบริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ ธ.กรุงเทพ รวมพลังขับไล่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
18. วันที่ 6 พ.ย.40 พลเอกชวลิต ประกาศลาออก ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่
19. ปัญหาลามไปยัง “Real Sector” ที่ไม่อาจแบกรับภาระเงินกู้ต่างประเทศ โรงงานปิดตัวจำนวนมาก ลูกจ้าง 2 ล้านคนถูก “ลอยแพ" ปิดตำนานสาวฉันทนา
20. จุดกำเนิด ตลาดนัด “คนเคยรวย” โดย วสันต์ โพธิพิมพานนท์ แห่งเบนซ์ทองหล่อ จัดครั้งแรก 1 พ.ย.40 ที่โชว์รูมเบนซ์ทองหล่อ มีคนในแวดวงการเมือง บันเทิง นักธุรกิจ นำสินค้าหรูมาจำหน่าย ตั้งแต่ เครื่องเพชร นาฬิกาหรู รถยนต์ จนถึงเครื่องบินเล็ก
21. เป็นครั้งแรกที่กระทรวงต่างประเทศดำเนินนโยบายขายทรัพย์สินที่ไม่ใช้แล้ว เช่น ขายสถานกงสุล ณ นครลอสแองเจลิส หลังเก่า และ ขายบ้านพักของเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน หลังเก่า เพื่อนำรายได้กลับเข้ากระทรวงการคลัง
22. อสังหาฯ สู่ยุคเลหลังราคาถูก โดยเฉพาะกลยุทธ์การวางเงินดาวน์ และการผ่อนดาวน์สั้นลงจาก 24-30 เดือน เหลือเพียง 10-12 เดือน
23. หลังจากค่าเงินบาทตกต่ำไปถึง 45.50 บาทต่อดอลลาร์ ในวันที่ 12 ธ.ค.40 กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นความจำเป็นต้องใช้นโยบายดันอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นสูงถึง 24 เปอร์เซ็นต์ ร่วมกับนโยบายเข้าแทรกแซงค่าเงิน
24. ปรับแผนพัฒนาฉบับที่ 8 ฉุกเฉิน “กู้เศรษฐกิจก่อนพัฒนาคน” ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้พึ่งพาเศรษฐกิจโลกมากยิ่งขึ้น
25. ปี 2540 ถือเป็นปีที่มีสถิติการฆ่าตัวตายสูงจากปัญหาเศรษฐกิจมากที่สุดในรอบ 20 ปี
ทั้งหมดนี้ เปรียบเหมือนจดหมายเหตุ "เศรษฐกิจไทย" อย่างย่อ ในช่วงปี 2540 ที่สะท้อนประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดและลืมไม่ลงของคนไทย