‘มาม่า’ เคลียร์ชัด 'ดราม่า' ราคาบะหมี่ ลุยออกสินค้าใหม่ Less Sodium ขาย 8 บาท

‘มาม่า’ เคลียร์ชัด 'ดราม่า' ราคาบะหมี่ ลุยออกสินค้าใหม่ Less Sodium ขาย 8 บาท

‘ดราม่า’ บะหมี่ “มาม่า” สินค้าหลักราคา 6 บาทต่อซอง ขอขึ้นราคาเป็น 7 บาทต่อซอง ประเด็นใหญ่ที่สังคมให้ความสนใจมาก ภาครัฐมอง 1 บาทที่ขึ้น จะกระทบปากท้องประชาชน ส่วนผู้ผลิตที่เจอภาระต้นทุนพุ่ง เริ่มแบก “ขาดทุน” จะหาทางอุ้มอย่างไร ตรงไหนคือ “จุดร่วม” ของทางออกในครั้งนี้

งานสหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 26 เครือสหพัฒน์ ระดมทัพสินค้ากว่า “พันรายการ” มากระหน่ำ ช่วยปลดล็อกค่าครองชีพให้ประชาชน

ในงานผู้บริหารที่ดูแลสินค้าแต่ละรายการยังตบเท้าแถลงข่าวเปิดตัวสินค้าใหม่ อวดสินค้านวัตกรรม มีการลงนามความร่วมมือ(MOU)กับพันธมิตร เพื่อขยับขยายธุรกิจ เป็นต้น ฟาก “มาม่า” ที่อยู่ในตลาดยืนหนึ่งยาวนาน 50 ปี เสิร์ฟบะหมี่สูตรใหม่ “Less Sodium” รับเทรนด์สุขภาพด้วย

ทว่า “การขึ้นราคามาม่า” เป็นสิ่งที่สื่อต้องการคำตอบ และแม่ทัพธุรกิจอย่าง “เวทิต โชควัฒนา” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” แจงชัดทุกประเด็น

“มาม่า” ขอกระทรวงพาณิชย์ปรับขึ้นราคาสินค้า ไม่ใช่ยังไม่อนุญาตให้ปรับ แต่รัฐมีขั้นตอนของกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน ขณะที่บริษัทจำเป็นต้องชี้แจงต้นทุน นำเสนอราคาวัตถุดิบ สูตรการผลิต เพื่ออัปเดตให้ทราบ

ขณะที่สถานการณ์ต้นทุนการผลิตบะหมี่ค่าใช้จ่ายต่างๆ เวลานี้ “เกินเพดาน” แล้ว เพราะวัตถุดิบหลายตัวปรับสูงขึ้นตั้งแต่ก่อน “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” ยิ่งปมต่อกรสองประเทศ ทำให้วัตถุดิบขยับราคาแบบก้าวกระโดด ทั้งแป้งสาลีพุ่งกว่า 53% น้ำมันปาล์มกว่า 110% บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นผลพลอยได้จากปิโตรเลียม รวมถึงค่าขนส่งแพงขึ้นทั้งสิ้น

“ตั้งแต่ผมดูแลมาม่า เวลานี้ต้นทุนขึ้นรุนแรงสุด ผมเคยฟังคุณปู่(ดร.เทียม โชควัฒนา)ผมพูดตอนลดค่าเงินบาทครั้งแรก ท่านเหนื่อยพอสมควร แต่สำหรับผมวิกฤติครั้งนี้ท้าทายสุด เพราะไม่เคยเจอต้นทุนพุ่งขนาดนี้มาก่อน”

‘มาม่า’ เคลียร์ชัด \'ดราม่า\' ราคาบะหมี่ ลุยออกสินค้าใหม่ Less Sodium ขาย 8 บาท

เวทิต โชควัฒนา

เมื่อบริษัทไม่สามารถประคองภาระได้ จึงดำเนินการยื่นขอปรับราคา “มาม่า” จาก 6 บาท เป็น 7 บาท และรอรัฐอย่างมีความหวัง ส่วนประเด็น “เวลา” จะเป็นเมื่อไหร่ ต้องรอศึกซักฟอกรัฐบาลการ “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” สิ้นสุดหรือไม่ มองเป็นกระบวนการพิจารณามากกว่า บริษัทไม่คาดการณ์เวลาใดๆ ทั้งนั้น

“มาม่า เป็นสินค้าแมสที่เข้าถึงผู้บริโภคทุกคน การปรับขึ้นราคาไม่ใช่รัฐ ไม่อนุญาต เพราะกระทรวงพาณิชย์น่าจะเข้าใจอยู่แล้ว แต่การอนุญาตขึ้นราคาต้องอยู่ในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งอะไรที่กระทบการกินอยู่ของประชาชน กระทรวงต้องใส่ใจ จากขั้นตอนการพิจารณาราคาสินค้าปกติ ต้องดับเบิ้ลเช็ค ขอข้อมูลรายละเอียดเพิ่ม”

ระหว่างรอรัฐไฟเขียวขึ้นราคา การผลิตมาม่าจะขาดแคลนหรือไม่ เวทิต ย้ำว่า ปัจจุบันไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ซึ่งรับหน้าที่ผลิตมาม่า ยังเดินเครื่องเต็มกำลัง แต่ยอมรับว่าบะหมี่ ไม่ได้มีแค่ตลาดในประเทศที่ต้องการบริโภคสูง ตลาดต่างประเทศโตวันโตคืนอย่างมาก สัดส่วนการส่งออก 30% จากเดิม 10% คือ ตัวพิสูจน์ความฮิตของบะหมี่ไทยในเวทีโลก

“กำลังผลิตไม่ลด แต่ความต้องการมาม่าในต่างประเทศมีมโหฬาร เราต้องเพิ่มการผลิตตอบสนองตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพราะมาม่าสินค้าจากไทยมีทั้งความอร่อยและคุ้ม”

อีกประเด็นที่ถูกตั้งคำถามคือ การออกสินค้ามาม่าสูตรใหม่ “Less Sodium” นำสินค้ายอดฮิตตลอดกาล 4 รสชาติมาปรับสูตร ได้แก่ รสต้มยำกุ้ง โซเดียมลดลง 43% รสหมูสับ โซเดียมลดลง 32% รสต้มยำกุ้งน้ำข้น โซเดียมลดลง 38% และรสเส้นหมี่น้ำใส โซเดียมลดลง 38%

‘มาม่า’ เคลียร์ชัด \'ดราม่า\' ราคาบะหมี่ ลุยออกสินค้าใหม่ Less Sodium ขาย 8 บาท

มาม่าสูตรใหม่ Less Sodium ราคา 8 บาท เตรียมขายส.ค.65

สินค้าดังกล่าว บริษัทต้องการตอบเทรนด์สุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมาคนไทยทานโซเดียมลดลง 14% จากการบริโภคบะหมี่ 52 ซองต่อคนต่อปี และไม่ได้รับกับมาตรการจัดเก็บภาษีความเค็มด้วย

ส่วนราคาขายจะอยู่ที่ 8 บาทต่อซอง จะเริ่มวางจำหน่ายต้นเดือนสิงหาคม 2565 ผ่านช่องทางห้างค้าปลีกสมัยใหม่ รวมถึงร้านสะดวกซื้อบางแบรนด์ ที่ผ่านมาสินค้าใหม่บริษัทมีการ “ตั้งราคาใหม่” เช่น มาม่า 50 ปีคอลเลกชัน นำ 3 รสชาติในตำนานมาจัดแพ็ค ขาย 10 บาทต่อซอง เป็นต้น

“มาม่า Less Sodium สินค้าใหม่ ไม่เกี่ยวกับการปรับราคา แต่พัฒนาเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค ส่วนราคาขาย สินค้าทุกตัวที่ออกใหม่ต้องขออนุญาตกระทรวงพาณิชย์ก่อน”

สำหรับมาม่า Less Sodium จะเป็นหนึ่งในกลุ่ม “พรีเมียม” ซึ่งปัจจุบันมีหลายรายการ เช่น มาม่าโอเค คิดเป็นสัดส่วน 20% ของพอร์ตโฟลิโอ ส่วนสินค้าหลักราคา 6 บาท สัดส่วน 80%

ตลาดบะหมี่ช่วงครึ่งปีแรกมีมูลค่าราว 8,000 ล้านบาท เติบโต 7% โดยบะหมี่พรีเมียมมีการเติบโต 15% มาม่าพรีเมียม เติบโต 28% สูงกว่าตลาด อย่างไรก็ตาม ภาพรวมตลาดบะหมี่ทั้งปี 2565 คาดการณ์เติบโตราว 3-5%

‘มาม่า’ เคลียร์ชัด \'ดราม่า\' ราคาบะหมี่ ลุยออกสินค้าใหม่ Less Sodium ขาย 8 บาท

สหพัฒนพิบูล องค์กรแรกในเครือสหพัฒน์ ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายกระจายสินค้า 80 ปี

“สหพัฒนพิบูล” รับบทเป็นผู้จัดจำหน่ายและกระจายสินค้าในเครือสหพัฒน์และสินค้านอกเครือ ไม่เพียง “มาม่า” ที่ต้นทุนพุ่งต้องขอขึ้นราคา แต่สินค้าอื่นที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐหลายรายการ ทยอยขยับราคาไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน ฯลฯ

ด้านการบริหารจัดการต้นทุนมีทั้งจัดเส้นทางขนส่งสินค้าจากโรงงาน การกระจายสินค้าไปยังร้านค้าต่างๆ ต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้บริษัทดำเนินการเข้มข้นมาเกือบ 3 ปีแล้ว ตั้งแต่เผชิญวิกฤติโควิด-19 ระบาด

“การขึ้นราคาสินค้าผู้บริโภคจะช็อกไหม..ไม่ช็อกหรอก เพราะช็อกไปแล้ว จะช็อกอีกได้อย่างไร และเป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับความจริงเป็นภาวะที่เกิดทั้งโลก ที่สุดแล้วเรื่องราคาสินค้าจะมีกลไกตลาดควบคุม..คนชอบถามว่า..ขึ้นราคาแล้วไม่ยอมลง ไม่จริง เพราะเราไม่ใช่แบรนด์เดียวในตลาด ทุกคนอยากได้ส่วนแบ่งการตลาด จึงต่อสู้กัน นั่นเป็นกลไกตลาดเสรี ไม่ผูกขาด อย่าควบคุมมาก เพราะตลาดจะหาวิธีคุมราคาได้เอง”

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์