"อมรเทพ จาวะลา CIMBT” ชี้ ศก.ไทย โตต่ำกว่าศักยภาพยาวนาน เสี่ยงนำไปสู่วิกฤติ

"อมรเทพ จาวะลา CIMBT” ชี้ ศก.ไทย โตต่ำกว่าศักยภาพยาวนาน เสี่ยงนำไปสู่วิกฤติ

ซีไอเอ็มบีไทย ชี้ศก.ไทยรอบนี้ เผชิญความเสี่ยงโตต่ำกว่าศักยภาพยาวนานและไม่ทั่วถึง แม้ไม่ซ้ำรอยวิกฤติปี 40 แต่สามารถนำไปสู่วิกฤติไม่หลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง แนะเร่งกระจายการสร้างรายได้ และเน้นโตในประเทศ เล็งปรับคาดการณ์จีดีพีปีนี้โตดีกว่าเดิม คาดไว้ที่ 3.1%

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหาของเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญและเป็นโอกาสนำไปสู่วิกฤตินั้น  มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540  สำหรับปัญหาของวิกฤติต้มยำกุ้งนั้น เกิดจากการบริหารค่าเงินบาทที่ผิดพลาด 

แต่ที่ผ่านมาเราได้ปิดรูรั่วนี้ได้ดี ทำให้ตอนนี้เรามีเสถียภาพด้านต่างประเทศแข็งแกร่งมาก ด้วยเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงถึง 200,000 ล้านดอลลาร์ และมีหนี้ต่างประเทศค่อนข้างต่ำ และการแก้ปัญหาวิกฤติในรอบนี้ ภาครัฐมีมาตรการดูแลและระมัดระวังการใช้จ่ายได้ดีด้วย  
    
 

เราต้องยอมรับว่า ปัญหาของการเกิด "วิกฤติเศรษฐกิจ" สามารถมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบได้เสมอ  แม้เราจะปิดปัญหาของวิกฤติในจุดหนึ่งได้ก็ไม่ได้แปลว่า จะปิดปัญหาได้ทั้งหมด

อย่างเช่น หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 แล้วเกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจปี 2551 หรือวิกฤติสินเชื่อซับไพร์ม ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และ วิกฤติโควิด-19 ในปี 2563  ส่งผลกระทบภาคการท่องเที่ยว เป็นปัญหาฉุดเศรษฐกิจทั้งระบบ 

เราพบว่า  ทุกวิกฤติก่อนปี  2540 เศรษฐกิจไทย(จีดีพี) ขยายตัวเฉลี่ย 10%  หลังจากนั้นค่อยๆ ฟื้นตัว ก่อนปี 2561 จีดีพียังขยายตัวเฉลี่ย 7% และหลังปี 2561 จีดีพียังขยายตัวเฉลี่ย 4-5%  แต่ในช่วงหลังจากนั้น จีดีพีขยายตัวเฉลี่ย 3-4% จะเห็นว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตชะลอตัวลงมาต่อเนื่อง                                      

ขณะที่ในปีนี้ ยังต้องลุ้นกันอีกว่าจีดีพีจะขยายตัวเฉลี่ยได้ถึง 3% หรือไม่ โดยที่ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่ำลงต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตอาจจะต้องพูดตัวเลขจีดีพีกันที่ระดับ 2.5% ซึ่งการลดลงของจีดีพีอย่างต่อเนื่องเช่นนี้เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้ประเทศไทยจะไม่มีทางพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางได้เลย  

วิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540  ถือว่าเป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดแล้ว มอง เศรษฐกิจไทย เป็นแบบรูปตัว U  ซึ่งไม่น่าวิกฤติแบบนี้อีกในอนาคตแล้ว เพราะหลังจากนั้นเศรษฐกิจไทย มีการปรับโครงสร้างและฟื้นตัวขึ้นมา วิกฤติซับไพร์ม ปี 2561 เศรษฐกิจไทยเป็นรูปตัว V ขณะที่วิกฤติโควิด-19 ปี 2563  เศรษฐกิจไทยเป็นรูปตัว J กลับข้าง ที่เราต้องติดตามว่า วิกฤติรอบนี้ เศรษฐกิจไทยปรับตัวลงและยังใช้เวลาปรับตัวขึ้น  ปัจจุบันยังฟื้นช้าและเติบโตต่ำสุดในภูมิภาค และแม้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ แต่ก็ไม่เท่าระดับเดิมก่อนเกิดวิกฤติ เป็นปัญหาที่สะท้อนว่า โอกาสที่เราจะเติบโต มีน้อยลงไปเรื่อยๆ   ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดวิกฤติในตอนต่อไป”

สำหรับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญปัญหาในตอนนี้  นายอมรเทพ  มองว่า มี 3 ความเสี่ยงหลัก ดังนี้ 

1.  “เศรษฐกิจไทย ขาดโอกาสในการเติบโต”  เนื่องจากเศรษฐกิจไทย เติบโตต่ำกว่าศักยภาพมาเป็นระยะเวลานาน และปัจจุบันยังมีหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง ทำให้รายได้โตไม่ทันรายจ่าย   ส่งผลให้การฟื้นตัวหลังวิกฤติโควิด19 ปี 2563  ล่าสุด  เศรษฐกิจไทย เติบโตต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และเป็นประเทศแทบจากสุดท้ายที่กลับมาฟื้นตัวได้เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19

มองว่า การที่เราเดินย่ำอยู่กับที่เป็นเวลนานหรือฟื้นตัวช้าที่สุดในภูมิภาค จะกลายเป็นความเสี่ยงอีกจุดหนึ่ง กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและการลงทุน หรือการเปิดโอกาสของประเทศในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ในอนาคต ที่จะไม่ได้รับโอกาส เช่น เข้าทำงานหรือเติบโตในหน้าที่การงาน น้อยกว่าคนรุ่นก่อน นอกจากปัญหาด้านรายได้แล้ว หากไปถึงจุดนั้นจะเห็น “ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น” ด้วย

“หากมองเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า  ยังเติบโตช้า หรือไม่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นปัญหาที่จะนำไปสู่วิกฤติ อยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยเติบโตไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว ให้รายได้เติบโตเร็วกว่ารายจ่าย”  

2. “การเติบโตของเศรษฐกิจที่ไม่ทั่วถึง”  นั้นคือ เป็นเศรษฐกิจแบบโมเดล “ทุเรียน” ที่กรอบนอกแต่นุ่มใน  ตั้งแต่ก่อนวิกฤติโควิด-19 ปี 2563  เศรษฐกิจไทย เติบโตดีเฉพาะการส่งออกและท่องเที่ยว แต่ภายในประเทศ กลับมีปัญหา อ่อนนิ่มเละเลย  และในวันนี้ก็เช่นกันหลังวิกฤติโควิด-19 เรากำลังฟื้นตัวที่การส่งออกและท่องเที่ยว  จากการกลับมาเปิดเมือง แต่เรายังมีปัญหาเช่น ธุรกิจเอสเอ็มอี  ยังไม่ฟื้นตัว , ภาคการเกษตร ราคาข้าวตกต่ำ แต่ราคาวัตถุดิบการเพาะปลูกแพงขึ้น

ส่วนความเสี่ยงที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยและเงินเฟ้อสูง หรือ Stagflation ในปี 2566 ส่วนตัวมองว่า เป็นความเสี่ยงหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือแม้ว่าเกิดภาวะ Stagflation ก็ไม่ได้รุนแรงเท่าวิกฤติโควิด-19 เพราะเศรษฐกิจไทยผ่านจุดเลวร้ายมาแล้ว 

แต่การที่เราย่ำอยู่กับที่ เราต้องกลับมาถามว่า เราอยากฟื้นตัวกันแบบไหน ถ้าหากการบริหารประเทศยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ไม่รวดเร็ว และไม่ทั่วถึงเพราะเรามองว่า "เศรษฐกิจไทยข้างหน้า  “ยังมีความหวังอยู่รำไร”  เรามีโอกาสปรับคาดการณ์ แนวโน้มการขยายตัวเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปีนี้ดีกว่าที่คาดไว้เดิมที่ 3.1%  เนื่องจากการเปิดเมืองได้เร็วกว่าที่คาดไว้   

โดยคาดการณ์เดิม ประเมินว่า จีดีพีครึ่งปีแรกปีนี้ เติบโต ราว 2%  โดยจีดีพี ไตรมาส 1 เติบโตที่ 2%  ส่วนจีดีพี ไตรมาส 2 คาดเติบโต 2-3% ยังต้องรอติดตามตัวเลขจริง ส่วนในครึ่งปีหลังปีนี้ คาดเติบโต ราว 4%  และต่อเนื่องในปี 2566  มองว่า น่าจะดีกว่าที่คาดไว้เดิม แม้จะยังมีปัจจัยเสี่ยง 6 เรื่อง คือ 3 ความเสี่ยงภายในประเทศ ( เงินเฟ้อสูง การเมือง เงินบาทอ่อนค่า)  และ 3 ปัจจัยภายนอกประเทศ (เศรษฐกิจสหรัฐถดถอย ยุโรปมีปัญหาจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน และจีนกลับมาล็อกดาวน์โควิดอีกรอบ)  

พร้อมกันนี้ นายอมรเทพ แนะแนวทางการแก้ไขปัญหาในรอบนี้ ดังนี้

1.การสร้างรายได้ให้กลับมาเติบโตมากกว่ารายจ่าย เช่น ในขณะที่กำลังเปิดรับการท่องเที่ยว  เราจะสร้างตลาดและผลักดันให้เกิดการจ้างงานได้อย่างไร  จะเลือกลูกค้ากลุ่มเป้าที่จะทำให้เกิดการกระจายตัวไปในหลายจังหวัด ไม่กระจุกอยู่แค่ไม่กี่จังหวัด   

2.สร้างการเติบโตภายในประเทศ ต้องเข้าไปดูแลกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี และสินค้าเกษตร เน้นการกระจายตัวของรายได้ให้มากขึ้น สร้างโอกาสในการทำธุรกิจ ไม่เฉพาะแค่ในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ต้องกระจายตัวในหลายจังหวัด  ด้วยการกระจายอำนาจทางการคลัง  เพื่อสร้างโอกาส เม็ดเงินภาครัฐที่อัดฉีดลงไปในระบบเศรษฐกิจ  มุ่งเน้นด้านการจ้างงาน สร้างการตลาดในพื้นที่ ให้เกิดกระจายตัวมากกว่านี้ เพื่อให้ในพื้นที่อื่นๆ ยังเติบโตได้

 

เตือนเตรียมตั้งรับตลาดผันผวน หากไทยขึ้นดบ.แรงที่ 0.75%

พร้อมกันนี้ ยังเตือนด้วยว่า ถ้าหากสถานการณ์หลังจากนี้เปลี่ยนไปจากปัจจุบัน เช่น นโยบายการเงินสหรัฐ เร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็ว มีเงินไหลออก มีความวุ่นวาย และเงินเฟ้อไทยเร่งตัวแรงขึ้น เป็นจุดที่ประชุม กนง. ในเดือนส.ค. นี้ อาจจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงระดับ 0.5% ไม่ใช่ 0.25% เพื่อที่สกัดเงินเฟ้อ มีความเป็นไปได้เช่นกัน  ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น และยังไม่มีการส่งสัญญาณให้ตลาดรับรู้ข่าวชัดเจน หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ต้องเตรียมตั้งรับให้ดี ก็น่ากลัวว่า ตลาดจะผันผวนได้