“วิกฤติต้มยำกุ้ง” บทเรียนราคาแพง จากการท้าทาย “ทฤษฎีสามเป็นไปไม่ได้”

“วิกฤติต้มยำกุ้ง” บทเรียนราคาแพง   จากการท้าทาย “ทฤษฎีสามเป็นไปไม่ได้”

ชวนเรียนรู้อีกหนึ่งแง่มุมของ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” บทเรียนราคาแพง ที่เกิดขึ้นจากการท้าทาย “ทฤษฎีสามเป็นไปไม่ได้” (Impossible Trinity)

ครบรอบ 25 ปี เหตุการณ์ “ลอยตัวค่าเงินบาท” 2 กรกฎาคม 2540 ซึ่งนำไปสู่ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” วิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย 

แม้การลอยตัวค่าเงินบาทจะเป็นจุดเริ่มต้น แต่หากพิจารณาถึงภาพรวมของเศรษฐกิจ และการดำเนินนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเวลานั้น จะพบว่า การลอยตัวค่าเงินบาทเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งที่มาของปัญหานี้ คือ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผิดหลัก “สามเป็นไปไม่ได้” (Impossible Trinity) นั่นเอง

 

  ทำความรู้จัก “ทฤษฎีสามเป็นไปไม่ได้”  

ทฤษฎีสามเป็นไปไม่ได้ (Impossible Trinity) มีใจความว่าเราจะไม่สามารถบรรลุ 3 นโยบายเป้าหมายได้อย่างพร้อมกัน นโยบายเป้าหมายทั้ง 3 ด้าน ประกอบด้วย 

  1.  นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (Fixed Exchange Rate) ซึ่งทำให้การค้าและลงทุนมีเสถียรภาพ 
  2.  นโยบายการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศอย่างเสรี เป็นส่วนช่วยในการสนับสนุนการร่วมมือทางการเงิน กระจายความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพทางการเงิน
  3.  ความเป็นอิสระของนโยบายการเงิน (Monetary Policy Autonomy) เพื่อที่จะสามารถจัดการกับวัฎจักรธุรกิจของประเทศได้

ตามทฤษฎีนี้ จะสามารถบรรลุได้มากสุดเพียง 2 นโยบายเป้าหมายเท่านั้น โดยจำเป็นจะต้องสละ 1 นโยบายเป้าหมายทิ้งไป 

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทยในปัจจุบัน ดำเนินนโยบายการเงินที่เปิดให้มีการเคลื่อนย้านเงินทุนระหว่างประเทศอย่างเสรี และเลือกที่มีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน ดังจะเห็นได้จากความสามารถในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  และสละการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ซึ่งเป็นการปล่อยให้ค่าเงินบาทสามารถเคลื่อนไหวความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในตลาดปริวรรตเงินตรา

 

  “วิกฤติต้มยำกุ้ง” บทเรียนจากการละเมิดทฤษฎีสามเป็นไปไม่ได้  

อย่างไรก็ตาม ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย เราเคยละเมิด “ทฤษฎีสามเป็นไปไม่ได้” ซึ่งบทเรียนที่ได้รับจากครั้งนั้น มีชื่อเรียกว่า “วิกฤติต้มยำกุ้ง”

ตามที่ได้อธิบายไปก่อนหน้าว่า การดำเนินนโยบายการเงินจะสามารถบรรลุได้เพียง 2 จาก 3 เป้าหมาย แต่ในช่วงทศวรรษ 2530 ธปท. กลับท้าทายข้อจำกัดนี้ โดยการดำเนินนโยบายเปิดเสรีทางการเงิน ขณะที่ยังใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบตะกร้าเงิน (Basket of currencies) ที่รองรับความผันผวนของค่าเงินได้ต่ำ เป็นผลให้ต้องดำรงทุนสำรองระหว่างประเทศ (International reserves) ไว้ในระดับสูง 

จากการที่ต้องมีทุนสำรองฯ ไว้ในระดับสูง ธปท.จึงทำการตรึงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง เพื่อหวังดึงดูดให้เงินไหลเข้าสู่ประเทศ เมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่า ธปท. กำลังเลือกที่จะอุ้มทั้ง 3 นโยบายเป้าหมายไปพร้อมกัน 

ในช่วงแรกของการดำเนินนโยบายการเงินทั้งหมดพร้อมกัน เศรษฐกิจไทยก็เติบโตขึ้นจริง จากเงินทุนที่ไหลเข้ามาในประเทศ อีกทั้งยังมีการออกนโยบายกิจการวิเทศธนกิจ (BIBF) ที่เอื้อต่อการกู้เงินจากต่างประเทศ ซึ่งในเวลานั้นมีดอกเบี้ยต่ำกว่าไทย เปิดโอกาสให้สถาบันการเงินนำเงินจากต่างประเทศมาปล่อยกู้ เพื่อทำกำไรที่สูงกว่านำเงินทุนในประเทศมาปล่อยกู้ 

แม้ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นดังที่กล่าวไป แต่ก็เป็นการเติบโตที่ไร้เสถียรภาพ ทั้งยังขาดมาตรการที่รอบคอบในการปล่อยสินเชื่อ และการกำกับสถาบันการเงินที่หละหลวมของธนาคารแห่งประเทศไทยในเวลานั้น จึงมีผลให้เงินกู้ส่วนใหญ่เป็นการนำไปใช้ในการเก็งกำไรในหลักทรัพย์ หรือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ในขณะนั้นได้เข้าสู่ช่วงภาวะล้นตลาด (Oversupply) ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจจริง (Real sector) 

เงินทุนที่เข้ามาในประเทศจึงกลายเป็นสภาพคล่องส่วนเกิน หรือเป็นสภาพคล่องไม่สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และส่วนเกินตรงนี้จึงได้ก่อตัวเป็นฟองสบู่ของระบบเศรษฐกิจในที่สุด

นอกจากนั้น นับตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา ไทยขาดดุลทางการค้า และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดด้วยมูลค่ามหาศาล จากการที่เงินบาทถูกผูกไว้กับดอลลาร์ ตามระบบตะกร้าเงิน แต่ช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น จึงมีผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าตามไปโดยปริยาย ความได้เปรียบทางการค้าที่เคยมีจึงหายไป ปริมาณส่งออกลดลง ในทางกลับกัน มูลค่าการนำเข้ายังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งหมดที่กล่าวไป มีผลให้สถานะทุนสำรองฯ อ่อนแอเป็นอย่างมาก ความเชื่อถือในสกุลเงินบาทและเศรษฐกิจไทยจึงลดลง ทำให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกนอกประเทศไทยเรื่อยๆ (Capital Flight) อีกทั้งมีนักลงทุนที่คอยทำการโจมตีค่าเงินบาท ซึ่งทำให้ระดับทุนสำรองฯ ลดลงอย่างต่อเนื่อง

การโจมตีค่าเงินบาท อย่างหนักครั้งแรก เกิดขึ้นในเดือนก.พ. ปี 2540 ซึ่งการโจมตีครั้งนี้ธปท. ก็ยังเลือกที่จะต่ออายุของระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ออกไปด้วยการเข้าไปปกป้องค่าเงินบาท แม้จะสามารถปกป้องค่าเงินบาทจากการถูกโจมตีในครั้งนั้นได้สำเร็จ แต่ไม่ทันที่ทุนรักษาระดับฯ จะได้เริ่มสะสมทุนสำรองฯ ขึ้นมา ก็โดนการโจมตีค่าเงินบาทครั้งใหญ่เป็นหนที่ 2 ในเดือนพ.ค. ปีเดียวกัน ซึ่งธปท. ก็ยังพยายามที่จะปกป้องค่าเงินบาทให้ได้เหมือนครั้งที่ผ่านมา แต่ก็ไม่สามารถต้านทานแรงเทขายเงินบาทอย่างหนักจากนักเก็งกำไรได้อีกต่อไปแล้ว 

การปกป้องค่าเงินบาททั้ง 2 หนที่กล่าวไป ไทยต้องใช้ทุนสำรองฯ เกือบ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ และที่เหลืออยู่ก็ไม่เพียงพอต่อมูลค่าค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเฉลี่ยสามเดือน ทำให้ท้ายที่สุด กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540  

แม้ว่าการลอยตัวค่าเงินบาท จะนำไทยสู่วิกฤติต้มยำกุ้งในเวลาต่อมา แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยต้องลอยตัวค่าเงินบาท เป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของธปท. ที่ได้เลือกจะบรรลุ 3 เป้าหมายในเวลาเดียวกัน ซึ่งถือว่าผิดหลักจากทฤษฎีสามเป็นไปไม่ได้ 

นอกจากนั้น ธปท. ยังมีส่วนทำให้การกระจายเงินทุนสู่ระบบเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างไม่มีประสิทธิภาพ จากการไม่มีมาตรการกำกับสถานบันการเงินที่ดีพอ หนี้สินที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างที่ควรจะเป็น 

อย่างไรก็ตาม นับว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นบทเรียนที่สำคัญกับธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ทำให้ภาคการเงินของไทยถูกพัฒนาขึ้นตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา จนในวันที่ไทยต้องเจอกับวิกฤติโควิด-19 ภาคการเงินไทยก็มีสถานะที่แข็งแกร่งมากพอจนสามารถอยู่รอดได้ และยังถือเป็นภาคส่วนสำคัญที่คอยช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ในปัจจุบันนี้ 

----------------------------------------

อ้างอิง

ดมิศา มุกด์มณี

พรชัย ชุนหจินดา

ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย