เปิดหม้อสุกี้ 'หุ้น' เอ็มเค หลังโควิดคลี่คลาย แต่ต้นทุนพุ่ง!
“กินอะไร กินอะไร กินอะไร ไปกินเอ็มเค” เชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งวลีทองที่ติดปากคนไทยเป็นอย่างดี เพราะมักจะได้ยินบ่อยๆ เมื่อไปทานสุกี้ที่ร้านเอ็มเค หรือฟังจากสื่อโฆษณาต่างๆ จนติดหู
“เอ็มเค” เปิดให้บริการมาแล้วกว่า 60 ปี ถือเป็นหนึ่งในร้านอาหารขวัญใจคนไทย ด้วยรสชาติที่ถูกปาก การบริการที่น่าประทับใจ จนครองมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 ในกลุ่มร้านสุกี้
ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานทำให้ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านวิกฤตมาแล้วมากมาย แต่รอบล่าสุดนี้กับการระบาดของโควิด-19 น่าจะหนักหนาสาหัสที่สุด เพราะหลายสาขาถูกปิด ถูกจำกัดเวลาในการเปิดให้บริการ มีการประกาศห้ามนั่งทานที่ร้าน เพื่อป้องกันโรคระบาดตามมาตรการที่ภาครัฐกำหนด กระทบยอดขายดิ่งฮวบ!
สะท้อนจากผลประกอบการของ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ M ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยกำไรสุทธิปี 2563 ทรุดหนักเหนือเพียง 907.37 ล้านบาท จากปี 2562 ที่ 2,603.59 ล้านบาท เนื่องจากเป็นปีแรกที่รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่วนปี 2564 ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก หลังมีการใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มข้นขึ้น กดดันกำไรสุทธิเหลือเพียง 130.98 ล้านบาท
ส่วนปีนี้เมื่อสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ส่งผลให้ยอดขายของทุกร้านในเครือ ทั้ง เอ็มเค, ยาโยอิ, แหลมเจริญ ฯลฯ ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยงวดแรกปี 2565 ตุนกำไรเข้ากระเป๋าไปแล้ว 270.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 205% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้นเมื่อออกสตาร์ทดีแบบนี้เชื่อว่ากำไรทั้งปีได้เห็นหลักพันล้านอีกครั้งแน่นอน
อย่างไรก็ตาม แม้ยอดขายจะเติบโตดีขึ้น แต่ในฝั่งต้นทุนก็พุ่งไม่หยุดเช่นกัน ทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว อาหารทะเล ผักต่างๆ พาเหรดปรับตัวเพิ่มขึ้นถ้วนหน้า จนปีนี้ต้องมีการปรับขึ้นราคามาแล้วถึง 2 รอบในเดือน ก.พ. และ มิ.ย. เฉลี่ยรอบละ 2-3%
เมื่อวัตถุดิบยังขึ้นไม่หยุดเชื่อว่าในอนาคตคงต้องปรับราคาอีกแน่นอน ซึ่งการขึ้นราคาในช่วงภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ อาจส่งผลกระทบต่อยอดขายได้เช่นกัน เพราะปัจจุบันผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น
ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ขยับขึ้นมาติดๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าขนส่งซึ่งขึ้นตามราคาน้ำมัน ส่วนค่าแรงเมื่อร้านกลับมาเปิดตามปกติต้องจ้างพนักงานเพิ่มขึ้น ด้านส่วนลดค่าเช่าซึ่งเคยได้รับจากทางศูนย์การค้าแทบไม่มีแล้ว
แม้ปีนี้น่าจะเป็นปีแห่งการเทิร์นอะราวด์ของบริษัท แต่ด้วยปัจจัยถ่วงจากภาวะต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น อาจทำให้การเติบโตยังไม่ได้หวือหวามาก แต่ก็คงไม่ขี้เหร่เชื่อว่าบริษัทจะปรับตัวได้ เพราะเรื่องต้นทุนราคาสินค้ายังไม่น่ากลัวเท่ากับโรคระบาด
เวลานี้ต้องภาวนาไม่ให้เกิดการระบาดรอบใหม่ขึ้น ขณะที่การเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบหนุนให้กลุ่มลูกค้าต่างชาติเริ่มกลับมาใช้บริการอีกครั้ง โดยเฉพาะคนจีนซึ่งเป็นลูกค้าหลักของบริษัท คิดเป็นสัดส่วนราวๆ 10% ของรายได้รวม รอลุ้นว่าครึ่งปีหลังจะได้รับไฟเขียวให้สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้หรือไม่
ส่วนแผนการเปิดสาขาใหม่ปีนี้จะกลับมาเร่งเครื่องอีกครั้ง หลัง 2 ปีที่ผ่านมาถูกพิษโควิดเล่นงานจนแทบไม่ได้ขยายสาขา โดยปี 2565 ตั้งเป้าเปิดสาขารวม 26 สาขา แบ่งเป็น เอ็มเค 11 สาขา, ยาโยอิ 9 สาขา และอื่นๆ 6 สาขา
ด้านธุรกิจในต่างประเทศรอลุ้นการฟื้นตัวเช่นกัน โดยปัจจุบันมีร้านเอ็มเค 25 สาขาในญี่ปุ่น, 7 สาขาในเวียดนาม ส่วนสปป.ลาว มีร้านเอ็มเค 3 สาขา และมิยาซากิ 1 สาขา และสิงคโปร์มีร้านยาโยอิ 8 สาขา
ขณะที่ราคาหุ้นเชื่อว่าน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วเช่นกัน หลังวิกฤตรอบนี้ลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 40 บาท เมื่อช่วงเดือน มี.ค. 2563 โดยปัจจุบันค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมาจนยืนเหนือ 50 บาท สูงกว่าราคาไอพีโอที่ 49 บาท แถมยังมีจุดแข็งจากกระแสเงินสดและฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง
ด้าน บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า กำไรได้ผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 1 ปี 2565 ไปแล้ว โดยกำไรไตรมาส 2 ปี 2565 จะฟื้นตัวมาอยู่ที่ 366 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 99 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 35.1% จากไตรมาสก่อน รับอานิสงส์จากปัจจัยฤดูกาลเนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาว ประกอบกับฐานที่ต่ำในปีก่อนซึ่งถูกสั่งห้ามนั่งรับประทานในร้าน
คาดยอดขายสาขาเดิม (SSSG) จะบวกแรง 60% จากปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากการปรับขึ้นราคาอาหารเพื่อลดผลกระทบของต้นทุนอาหารที่สูงขึ้นแต่คงไม่ทั้งหมด จึงคาดอัตรากำไรขั้นต้นจะลดลงเป็น 65% จาก 65.6% ในไตรมาสก่อน แต่ยังสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 63.2%
ทั้งนี้ จากผลกระทบต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นมาก จึงปรับลดกำไรสุทธิปี 2565 ลง 30% เป็น 1,572 ล้านบาท โดยคาดว่าราคาวัตถุดิบจะเริ่มคลี่คลายในปีหน้า หนุนกำไรปี 2566 โตต่อ 35.8% สู่ระดับ 2.1 พันล้านบาท