“ถูกเลิกจ้าง” อ่านให้ชัด เกณฑ์จ่าย “เงินชดเชย” เป็นอย่างไร ต้องเสียภาษีไหม

“ถูกเลิกจ้าง” อ่านให้ชัด เกณฑ์จ่าย “เงินชดเชย” เป็นอย่างไร ต้องเสียภาษีไหม

หากได้ “เงินชดเชย” เป็นเงินก้อน จากการ “เลิกจ้าง” ลูกจ้างควรทราบถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินชดเชย ที่แตกต่างกันทั้งเรื่องอายุงาน ถูกเลิกจ้าง ถูกไล่ออก จนถึงเกษียณอายุ หรือแม้กระทั่งลาออกเอง ต่างก็มีเงื่อนไขการจ่ายเงินไม่เหมือนกัน รวมถึงวิธีคำนวณภาษีด้วย

ความบอบช้ำจากหลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ อันเป็นต้นเหตุให้บริษัทมากมายต้องมาถึงทางตัน บ้างก็เลิกกิจการเพราะแบกรับภาระไม่ไหว บางบริษัทต้องแก้ปัญหาโดยการลดจำนวนพนักงาน เลิกจ้างพนักงานบางส่วนพร้อมจ่ายค่าชดเชยให้ตามที่กฎหมายกำหนด

​แต่ผู้ถูกเลิกจ้างจะยังคงมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหมือนทุกปี พร้อมกับต้องเสียภาษีในส่วนของเงินชดเชยที่ได้รับมาด้วย ซึ่งหลักเกณฑ์การเสียภาษีสำหรับเงินชดเชยสามารถแยกออกได้เป็น 4 ประเภท แตกต่างกันดังนี้

 

เงินชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ได้กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายให้ลูกจ้างออกจากงาน นายจ้างเลิกกิจการ หรือลูกจ้างต้องออกจากงานเพราะสัญญาจ้างสิ้นสุดลงโดยให้

 

- จ่ายค่าชดเชยตามอายุงานของลูกจ้าง ดังนี้

  • ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
  • ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
  • ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
  • ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน  
  • ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน

หลักเกณฑ์การเสียภาษีเงินชดเชย

​จากที่กล่าวไปแล้วว่า เงินชดเชยที่ได้รับจากการเลิกจ้างถือเป็นเงินได้ตามกฎหมาย ดังนั้น ผู้ที่ได้รับเงินชดเชยมีหน้าที่ต้องเสียภาษีด้วย

โดยเงินค่าชดเชยที่ไม่เกิน 300,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่ถ้าหากเงินชดเชยที่ได้รับมากกว่า 300,000 บาท ส่วนที่เกินจะต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  

อย่างเช่นได้รับค่าชดเชยจำนวน 550,000 บาท ผู้ได้รับเงินชดเชยจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินชดเชยจำนวน 300,000 บาทแรกไปเสียภาษี แต่นำเพียงส่วนที่เกินจำนวน 250,000 บาทที่เหลือไปคำนวณภาษีรวมกับรายได้ที่ได้รับในปีนั้น ซึ่งมีหลักเกณฑ์การยื่นภาษีแยกตามประเภทเงินชดเชยที่ได้รับ ดังนี้

1. เงินชดเชยจากการเลิกจ้าง

- อายุงาน 5 ปีขึ้นไป สำหรับผู้ที่ทำงานครบ 5 ปี หรือมากกว่านั้น เมื่อได้รับเงินชดเชยจากการถูกเลิกจ้าง สามารถเลือกได้ว่าจะนำเงินชดเชยที่ได้มารวมคำนวณภาษีเงินได้ประจำปี หรือจะนำไปแยกคำนวณก็ได้ ซึ่งหากเลือกแยกคำนวณภาษีจะต้องยื่นโดยแนบใบ ภ.ง.ด.90, 91 ทั้งนี้ การไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นๆ จะทำให้เสียภาษีน้อยลง ​

- อายุงานไม่ครบ 5 ปี ในกรณีที่ทำงานกับบริษัทที่ได้รับเงินชดเชยยังไม่ครบ 5 ปี (นับตั้งแต่วันเริ่มงานจนถึงวันสิ้นสุดการเป็นพนักงาน) ผู้ที่ได้รับเงินชดเชยจากการเลิกจ้างจะต้องนำเงินที่ได้รับมาทั้งหมด ไปคำนวณภาษีรวมกับรายได้จากงานประจำ และรายได้จากช่องทางอื่นๆ ด้วย (ถ้ามี)
กฎหมายกำหนดว่าผู้ได้รับเงินชดเชยที่ได้รับจากเหตุออกจากงานทั้งหมดไปคำนวณภาษีเป็นรายได้จากงานประจำ (เงินได้ประเภทที่ 1) และต้องคำนวณภาษีรวมกับรายได้ประเภทอื่นๆ ด้วย (ถ้ามี)) โดยไม่สามารถแยกคำนวณเหมือนทำงานครบ 5 ปีได้

2. เงินชดเชยจากการไล่ออก

การถูกเลิกจ้างเนื่องจากมีความผิดร้ายแรง หรือเรียกว่าการไล่ออกนั้น จะไม่ได้ค่าชดเชยและไม่ได้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี แต่ถ้าหากว่านายจ้างได้มีการจ่ายค่าชดเชยให้ ค่าชดเชยที่ได้รับ 300,000 บาทแรกจะได้รับการยกเว้นภาษี หากได้เกินกว่านี้ส่วนที่เกินมาจะต้องนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย

ทั้งนี้ ในกรณีที่ถูกเลิกจ้างระหว่างปีภาษี เงินเดือนที่ได้จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหมือนปกติทุกปี ยกเว้นเฉพาะเงินค่าชดเชย 300,000 บาทแรกที่ได้รับยกเว้นภาษีเท่านั้น​​​​

3. เงินชดเชยจากการเกษียณอายุหรือหมดสัญญาจ้าง

กรณีที่ได้รับค่าชดเชยจากการเกษียณอายุหรือหมดสัญญา เงินค่าชดเชยที่ได้รับจะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีทั้งหมด ไม่ได้รับยกเว้น 300,000 บาทแรก

ตัวอย่างเช่น ทำงานจนเกษียณอายุครบ 60 ปี ได้รับเงินค่าชดเชยเกษียณอายุ 1,000,000 บาท จะต้องนำเงินชดเชยทั้งหมดนี้ไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย ​

4. เงินชดเชยลาออกเอง

โดยปกติเมื่อมีการลาออกเองด้วยความสมัครใจ ทางนายจ้างไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยใดๆ และยังต้องยื่นภาษีประจำปีเหมือนเดิม โดยไม่ได้รับสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีใดๆ หรือในกรณีที่นายจ้างจ่ายเงินชดเชยซึ่งคำนวณตามกฎหมาย ก็ไม่ถือว่าเป็นการจ่ายเงินชดเชย ดังนั้น ไม่มีสิทธิ์ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินชดเชยในส่วน 300,000 บาท กล่าวคือ ต้องนำเงินชดเชยทั้งหมดที่ได้รับมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั่นเอง

 

เงินชดเชยอื่นๆ ต้องเสียภาษีด้วยหรือไม่

นอกจากเงินชดเชยจากการเลิกจ้างที่ได้รับแล้ว หากได้รับเงินชดเชยในส่วนอื่นๆ ด้วย เช่น เงินชดเชยวันหยุดพักร้อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้ เงินสมทบที่นายจ้างจ่ายให้เป็นพิเศษ นายจ้างจะต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีให้กรมสรรพากร

ดังนั้น ผู้ถูกเลิกจ้างต้องนำเงินค่าชดเชยในส่วนนี้มาคำนวณรวมภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีด้วย ส่วนเงินชดเชยว่างงานจากประกันสังคมจะได้รับยกเว้นภาษีตามกฎหมาย จึงไม่ต้องนำไปรวมคำนวณรวมกับภาษีเงินได้ประจำปี

สรุป

แม้ว่าบทสรุปตอนสุดท้ายจะเป็นเราที่ต้องถูกเลิกจ้าง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ผู้ถูกเลิกจ้างควรศึกษาข้อมูลสิทธิประโยชน์ต่างๆ ไว้ให้ถี่ถ้วน เพราะนอกจากจะรักษาสิทธิ์ที่ตนเองควรได้รับแล้ว ยังสามารถทำหน้าที่ในฐานะผู้เสียภาษีได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องด้วย

-----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่