‘MAMA Shop’ ร้านอาหาร “มาม่า” ลงทุน 8-9 แสน! เจาะปั๊ม-แลนด์มาร์กท่องเที่ยว

‘MAMA Shop’ ร้านอาหาร “มาม่า” ลงทุน 8-9 แสน! เจาะปั๊ม-แลนด์มาร์กท่องเที่ยว

ผ่าโมเดล MAMA Shop ภารกิจปั้นร้านอาหาร ต่อจิ๊กซอว์เติบโตให้อาณาจักรบะหมี่ฯหมื่นล้าน "ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์" ในการนำสินค้าหลักมารังสรรค์เมนูอร่อยเสิร์ฟลูกค้าบนทำเลทอง ปั๊มน้ำมัน แหล่งท่องเที่ยวทั่วไทย

“ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์” ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” ครองบัลลังก์ “ผู้นำตลาด” อย่างยาวนาน 5 ทศวรรษ ในปี 2564 บริษัทมีรายได้กว่า 25,000 ล้านบาท “กำไรสุทธิ” กว่า 3,400 ล้านบาท

ขายบะหมี่ฯซองละ 6 บาท สินค้าหลักคิดเป็นสัดส่วนราว 80% แม้ทยอยเติมสินค้าพรีเมียมในพอร์ตโฟลิโอ ขาย 8 บาท 10 บาท และ 15 บาท(มาม่า โอเค) แต่การจะสร้างยอดขายให้โตต่อ พึ่งพาบะหมี่ฯ อย่างเดียวไม่พอ จึงขอปั้นโมเดลใหม่ๆต่อจิ๊กซอว์ให้อาณาจักรบะหมี่ฯหมื่นล้านเติบโตยิ่งขึ้น

ล่าสุด ในงานสหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 26 บริษัทเปิดร้านอาหาร “MAMA Shop”เสิร์ฟเมนูอร่อยจาก 3 รสชาติยอดฮิต และจำหน่าย 100-120 บาทคู่น้ำแร่ “มองต์เฟลอ” ขนาด 500 มิลลิลิตร(มล.)สินค้าในเครือสหพัฒน์ ชิมลางตลาด

“พันธ์ พะเนียงเวทย์” ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)หรือTFMAMA เล่าว่า การเดินหน้าเปิดโมเดลธุรกิจใหม่ ร้านมาม่า ช็อป(MAMA Shop) จุดมุ่งหมายเพื่อขยายแบรนด์ให้ “คนรุ่นใหม่” รู้จักในวงกว้างมากขึ้น

แม้แบรนด์ “มาม่า” จะเป็นชื่อเรียกทั่วไป(Generic Name)หรือแบรนด์ที่กลายเป็นชื่อเรียกของสินค้าประเภทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโดยปริยาย ในฐานะเจ้าตลาดที่ยืนหยัดมา 50 ปี แต่หากไม่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ชื่อแบรนด์อาจหายไปจากตลาดได้ เหมือนกับแบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่เป็นตำนานทั่วโลก

ในงานสหกรุ๊ปแฟร์ เมนูมาม่าที่เสิร์ฟ ได้แก่ มาม่าหมูสับ ราคา 100 บาทต่อชาม มาม่าต้มยำกุ้งน้ำข้น และมาม่าเย็นตาโฟทะเลขายในราคา 120 บาทต่อชาม

ทว่า การผลักดันโมเดลร้านอาหาร MAMA Shop ให้ไปต่อในอนาคต “พันธ์” เผยโมเดลร้านจะลงทุนประมาณ 8-9 แสนบาท ส่วนจำนวนที่นั่งให้บริการจะมีราว 20-30 ที่ ส่วนทำเลเป้าหมาย มองสถานีบริการน้ำมัน(ปั๊ม) และคาดว่าจะประเดิมบนถนนสาย “มิตรภาพ” นำร่อง เพราะผู้คนเดินทางมหาศาล(Traffic)

‘MAMA Shop’ ร้านอาหาร “มาม่า” ลงทุน 8-9 แสน! เจาะปั๊ม-แลนด์มาร์กท่องเที่ยว

อีกหมุดหมายคือ “แลนด์มาร์ก” แหล่งท่องเที่ยวทั่วไทย รวมถึงมองโอกาสจาก “อุทยานแห่งชาติ” เพราะไม่เพียงแค่นักท่องเที่ยวมีเมนูอร่อยทาน แต่บริษัทยังมองการบริหารจัดการ “ขยะ” ที่เกิดจากการบริโภคถูกทิ้งไว้ในสถานที่ต่างๆด้วย ซึ่งหลายครั้งที่ไปจุดหมายปลายทาง(Destination)ต่างๆ แล้วพบขยะที่เป็นสินค้าของบริษัท มีความตระหนัก “รับผิดชอบ” ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย

การขยาย MAMA Shop ไม่มองแค่ “มาม่า” เติบโต แต่บริษัทต้องการควงพันธมิตรที่มีวัตถุดิบดี อาหารเด่น รสชาติอร่อย นำมาเป็น “ส่วนประกอบ” ในชามบะหมี่ฯ ที่เสิร์ฟด้วย ซึ่งโมเดลในงานกรุ๊ปแฟร์ ได้ควงผู้ประกอบการรุ่นใหม่เจ้าของ “ลูกชิ้นปั้นสดบุญชูโภชนา” มาอยู่ในเมนู “มาม่าหมูสับ” ด้วย

สำหรับ 3 เมนูแรก เป็นเพียงการประเดิม แต่การคิกออฟเปิดร้านเต็มรูปแบบปี 2566 จะมีเมนูให้บริการแก่ลูกค้า 6-8 เมนู

 

‘MAMA Shop’ ร้านอาหาร “มาม่า” ลงทุน 8-9 แสน! เจาะปั๊ม-แลนด์มาร์กท่องเที่ยว “การเปิดมาม่า ช็อป เราพยายามนำของดีในแต่ละท้องถิ่นมาเป็นส่วนประกอบของเมนูมาม่า เป็นกลยุทธ์ร่วมสร้างการเติบโตด้วยกัน(Win-win strategy) ขณะที่โมเดลร้านอาหาร เป็นการย้ำให้ผู้บริโภคเห็นว่ามาม่า นำมารังสรรค์เมนูอื่นๆได้หลากหลาย ที่สำคัญเป็นการสร้างแบรนด์มาม่าให้แข็งแกร่ง เข้าถึงคนรุ่นใหม่ต่อเนื่อง เพราะถ้าเราไม่ทำ แบรนด์อื่นก็ทำ จึงแผ่วไม่ได้ในการสร้างแบรนด์ ถึงแม้มาม่าจะเป็น Generic Name แต่ชะล่าใจไม่ได้ เพราะในโลกแบรนด์ที่เป็นชื่อเรียกประเภทสินค้า หายไปจากตลาดจำนวนมาก”

อย่างไรก็ตาม "มาม่า" ถูกนำมารังสรรค์อาหารเมนูหลาหลาย โดนใจผู้บริโภคในร้านดัง ต้องยกให้ มาม่าโอ้โห ของร้าน "เจ๊โอว" รวมถึงร้านมาม่าฟ้าธานี เชียงใหม่ ที่ใครไปเที่ยวต้องแวะลิ้มลอง 

สำหรับโมเดลร้านอาหารมาม่า เคยเกิดขึ้นเมื่อในงานสหรุ๊ปแฟร์ ปี 2559 และจำหน่ายเมนูละ 79 บาท ซึ่งราคาที่จำหน่ายในงาน ไม่ใช่ราคาอ้างอิงที่จะขายจริงในปีหน้า เพราะต้องคำนวณต้นทุนวัตถุดิบต่างๆในเวลานั้นด้วย มีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด แต่เบื้องต้นต่อชาม “ต่ำกว่า 100-120 บาท” เพราะหากขายแพงกว่า “ก๋วยเตี๋ยว” หรือเมนูอาหารจานเดียวที่ “ราคาแข่งขันได้” จะเป็นตัวแปรดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย