กรมบัญชีกลาง ปรับเกณฑ์ขยายสิทธิเบิกจ่ายตรงค่ายา "โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก"
กรมบัญชีกลาง ปรับปรุงและพัฒนาระบบเบิกจ่ายค่ายากลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วย "โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก" ระยะแพร่กระจาย
เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้ดำเนินงานภายใต้คณะทำงานพิจารณาแนวทางปรับปรุงและพัฒนาระบบเบิกจ่ายค่ายากลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคมะเร็ง และเภสัชกรเชี่ยวชาญ โดยคณะทำงานฯ มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วย "โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก" ระยะแพร่กระจาย โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ปรับปรุงและขยายเงื่อนไขข้อบ่งชี้ในการเบิกจ่ายค่ายารักษาโรคมะเร็งที่ต้องลงทะเบียนเพื่อขออนุมัติเบิกจ่ายในระบบ OCPA เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น ดังนี้
1.1 ปรับปรุงเงื่อนไขข้อบ่งชี้ในการเบิกจ่ายค่ายา Abiraterone/Enzalutamide สำหรับการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแพร่กระจาย ให้ใช้ได้โดยไม่ต้องผ่านการใช้ยา antiandrogen มาก่อน รวมทั้งให้ใช้ในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยา Abiraterone ขนาด 250 มิลลิกรัมต่อวัน ตามข้อ 1.2 และไม่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดมาก่อนอย่างน้อย 1 ขนาน
1.2 ขยายเงื่อนไขข้อบ่งชี้ในการเบิกจ่ายค่ายา Abiraterone ขนาด 250 มิลลิกรัมต่อวัน สำหรับการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแพร่กระจาย โดยให้ใช้ก่อนการรักษาเคมีบำบัด (Pre chemotherapy) ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
2. กำหนดอัตราเบิกจ่ายค่ายา Abiraterone ขนาด 250 มิลลิกรัม อัตรา 160 บาทต่อเม็ด และ 500 มิลลิกรัม อัตรา 320 บาทต่อเม็ด
โดยหลักเกณฑ์ตามข้อ 1 จะมีผลใช้บังคับสำหรับค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป สำหรับอัตราเบิกจ่ายค่ายาตามข้อ 2 ให้มีผลใช้บังคับสำหรับค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า “การปรับปรุงหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง และโลหิตวิทยาซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาที่มีค่าใช้จ่ายสูง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวที่ใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการสามารถเข้าถึงการรักษาที่จำเป็นอย่างสมเหตุผล สอดคล้องกับวิวัฒนาการทางการแพทย์ และสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับ ปัจจุบันยารักษาโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงหลายรายการมีทั้งยาต้นแบบ (original/originator) และยาสามัญ (generic) หรือยาชีววัตถุคล้ายคลึง (biosimilar) ซึ่งมีราคาแตกต่างกันมาก โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุนว่ายา generic หรือ biosimilar มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษาพยาบาลเทียบเท่าหรือไม่ด้อยกว่ายา original/originator
ดังนั้น การกำหนดอัตราเบิกจ่ายค่ายาจะช่วยให้รัฐสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยาบางส่วนได้ โดยไม่ทำให้คุณภาพการรักษาพยาบาลลดลง ผู้ป่วยจะยังคงได้รับยาที่มีคุณภาพในการรักษาและมีความปลอดภัยตามมาตรฐานการคัดเลือกยาของสถานพยาบาล และรัฐสามารถนำงบประมาณที่ประหยัดได้ไปใช้ในการเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นที่จำเป็น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาจจะต้องมีการร่วมจ่ายค่ายา หากมีความประสงค์จะเลือกใช้ยาต้นแบบที่มีราคาสูงกว่าอัตราที่กำหนด
ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองสวัสดิการรักษาพยาบาล กรมบัญชีกลาง หมายเลขโทรศัพท์ 02 127 7000 ต่อ 6850 หรือ 6851 ในวัน เวลาราชการ” หรือสืบค้นข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมบัญชีกลาง หัวข้อ รักษาพยาบาล/ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล/กฎหมายระเบียบและหนังสือเวียน (สวัสดิการรักษาพยาบาล)