รักสวย-หล่อ หนุนเครื่องสำอางโต 4% ต้นทุนพุ่ง! ผู้ประกอบการกัดฟันตรึงราคา
ตลาดเครื่องสำอางยังมีอนาคตเติบโตต่อเนื่อง ตราบใดที่ผู้บริโภคยังไม่อยากสูงวัย กลับกันชายและหญิงยุคปัจจุบันต่างต้องการดูดี ไม่โทรม กลายเป็นแรงส่งสร้างการเติบโตให้สินค้าความงาม เครื่องสำอาง แต่จับตา "ต้นทุนผลิตพุ่ง" อาจเตะเบรกความร้อนแรง
เข้าโค้งครึ่งปีหลัง ปัจจัยบวกธุรกิจดูเหมือนมีมาก จากนโยบายเปิดประเทศ การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว เครื่องยนต์เศรษฐกิจหลายตัวกลับมาขับเคลื่อน
ทว่า ท่ามกลางสัญญาณดี ยังมี “ปัจจัยลบ” ที่ทยอยถาโถมเช่นกัน โดยเฉพาะสถานการณ์ “ต้นทุน” การผลิต การขนส่งสินค้าที่พุ่งต่อเนื่อง อีกหนึ่งกลุ่มที่กำลังแบกรับผลกระทบไม่แพ้กันคือ “เครื่องสำอาง”
เกศมณี เลิศกิจจา นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ฉายภาพว่า แนวโน้มตลาดเครื่องสำอางที่มีมูลค่าราว 3.2 แสนล้านบาท ปีนี้คาดการณ์เติบโต 4% ยิ่งภาคการส่งออกจะขยายตัวมากกว่าตลาดในประเทศ
แรงส่งต่อตลาดสินค้าเครื่องสำอาง หนีไม่พ้น การที่ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้าน การเข้าออฟฟิศทำงานกันปกติเหมือนก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ระบาด ทำให้การแต่งเสริมเติมสวยยังมีต่อเนื่อง
นอกจากนี้ เทรนด์ผู้บริโภครักสวยงามหลังโรคระบาด ยังเปลี่ยนไป โดยสิ่งที่เพิ่มเติมมา คือความสวยต้องมาจากสินค้า วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติมากขึ้น และขาดไม่ได้ ต้องตอบสนองความต้องการด้านสุขอนามัยด้วย เช่น การปกป้องผิวจากมลภาวะ ช่วยให้สุขภาพผิวดียิ่งขึ้น เป็นต้น
“ตลาดเครื่องสำอางแทบไม่เคยตกเลย มีช่วงโควิด-19 ระบาดที่หดตัวเกือบ 1% สินค้าหมวดเล็กๆ เช่น กลุ่มสีสันหรือเมกอัพ ครีมกันแดด สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการออกไปใช้ชีวิต ทำกิจกรรมนอกบ้านค่อนข้างได้รับผลกระทบ แต่กลุ่มสกินแคร์ การดูแลผิวพรรณยังจำเป็น การทำงานที่บ้านทำให้มีเวลาดูแลตัวเองมากขึ้น การติดลบน้อยยังเกิดจากมีสินค้าด้านสุขอนามัยมาช่วยประคองตลาดด้วย รวมถึงพ่อแม่ใส่ใจดูแลสุขอนามัยร่างกายให้บุตรหลานยิ่งขึ้น เพราะยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน”
สำหรับความต้องการของผู้บริโภคที่มากขึ้นด้านผลลัพธ์ นวัตกรรมสินค้า ค่อนข้างสวนทางกับความยากลำบากของผู้ผลิต ซึ่งกำลังเผชิญกับภาวะ “ต้นทุน” การผลิตสินค้าที่สูงขึ้นอย่างมาก เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 30-40%
ราคาวัตถุดิบพุ่งในวงการผลิตเครื่องสำอางเกิดก่อนสงครามรัสเซีย-ยูเครนด้วย แต่ปมขัดแยย้งของ 2 โลก สร้างแรงกดดันให้ต้นทุนพุ่งหนักกว่าเดิม เนื่องจากราคาพลังงานเชื้อเพลิง ที่เป็นสารตั้งต้นผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ รวมถึงค่าขนส่งสินค้าขยับเพิ่มราว 40% กลายเป็นโดมิโน เอฟเฟคต์ เช่น กลีเซอรีน ที่มีคุณสมบัตรในการกักเก็บและดูดความชื้นสู่ผิวพุ่งขึ้น 50% สาร Surfacant ที่ช่วยลดแรงตึงผิวในเครื่องสำอาง ราคาขยับสูงมาก รวมถึงปาล์มที่ราคาพุ่งหลายเท่า เป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำหรับผลิตสบู่ เป็นต้น
นอกจากราคาวัตถุดิบพุ่งแล้ว ผู้ประกอบการเจอภาวะ “ขาดแคลน”ซ้ำเติมด้วย ทำให้ช่วงที่ผ่านมา ผู้ผลิตเครื่องสำอาง มีแผนจะเข้าไปหารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอปรับราคา แต่หตุการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้องเบรกการรวมตัวของสมาชิก และกัดฟันจำหน่ายสินค้าราคาเดิมไปอีกระยะ
“ผู้ประกอบการต้องการขอภาครัฐขยับขึ้นราคาสินค้าตั้งแต่ปลายปี 2564 แต่พอเจอภาวะสงคราม สถานการณ์ค่าครองชีพพุ่งแบบนี้ เราพิจารณาว่าไม่ใช่จังหวะที่สวยนัก เพราะผูบริโภคลำบาก จึงทนแบกรับภาระต้นทุนไปก่อน เพื่อช่วยลดผลกระทบให้กับผู้บริโภค”
ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นผู้นำในการผลิตเครื่องสำอางของอาเซียน และถือเป็น “ขุมทรัพย์ความงามระดับโลก” เทียบชั้นธุรกิจอาหารของไทยที่เป็นครัวโลก โดยตลาดมูลค่าแสนล้านบาท ผลักดันการส่งออกสัดส่วนถึง 40% และเป็นตลาดในประเทศ 60% จากสถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อนค่าแตะ 36 บาทดอลลาร์ ผู้ประกอบการไม่ได้รับอานิสงส์นัก เนื่องจากเผชิญต้นทุนการผลิตพุ่ง และวัตถุดิบราว 90% นำเข้าจากต่างประเทศ
“ตลาดเครื่องสำอางในประเทศปีนี้อาจโตน้อยกว่าต่างประเทศ ด้วยปัจจัยกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัว แต่ตลาดสินค้าความงาม เครื่องสำอาง ยังคงมีอนาคต ตราบใดที่ผู้บริโภคยังไม่อยากสูงวัย ทั้งชายและหญิงต่างต้องการดูดี ไม่โทรม ซึ่งเครื่องสำอางตอบโจทย์อย่าหยุดสวยหล่อ และช่วยเสริมบุคลิกภาพได้อย่างดี”