ส.อ.ท.แนะรัฐต่อเวลาลดภาษีดีเซลอีก 3 เดือน

ส.อ.ท.แนะรัฐต่อเวลาลดภาษีดีเซลอีก 3 เดือน

ส.อ.ท.แนะรัฐขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ที่กำลังจะสิ้นสุดในวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ออกไปอีก 2 - 3 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและช่วยลดภาระต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ

รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์  เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 18 ในเดือนมิถุนายน 2565 ภายใต้หัวข้อ “ภาคอุตสาหกรรมจะรับมือกับวิกฤตพลังงานแพงอย่างไร” มองว่า จากวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นกว่า 20% สวนทางกับการปรับราคาขายสินค้าและบริการในช่วงที่ผ่านมา ที่มีการปรับเพิ่มขึ้นได้น้อยกว่า 10% เนื่องจากต้องการรักษายอดขาย ขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาด รวมทั้ง การปฏิบัติตามมาตรการควบคุมราคาสินค้าของรัฐ โดยผู้บริหาร ส.อ.ท. คาดว่าแนวโน้มราคาน้ำมันดิบโลกช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 จะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับ 120 - 140 ดอลลาร์ต่อบาเรล จากภาวะสงครามที่ยืดเยื้อประกอบกับมาตรการตอบโต้ระหว่างชาติตะวันตกและรัสเซียที่มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะการที่สหภาพยุโรป (EU) มีมติระงับการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย 90% ภายในสิ้นปีนี้

ส.อ.ท. จึงเสนอขอให้ภาครัฐพิจารณาขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ที่กำลังจะสิ้นสุดในวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ออกไปอีก 2 - 3 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและช่วยลดภาระต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ ส่วนมาตรการแก้ไขปัญหาวิกฤตพลังงานในระยะยาว ภาครัฐควรมีการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคธุรกิจและภาคประชาชน สนับสนุนให้เกิดการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงานในภาคการผลิต ควบคู่ไปกับการทบทวนโครงสร้างราคาพลังงานให้เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย 

นอกจากนี้ยังได้แนะนำให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเร่งปรับตัวรับมือกับวิกฤตพลังงานด้วยการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้เองภายในโรงงาน ปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน รวมทั้งนำระบบการบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) มาใช้และปรับแผนการผลิต/โลจิสติกส์เพื่อลดต้นทุนพลังงานในช่วงนี้

ขณะที่ผลสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 165 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 
45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 18 จำนวน 6 คำถาม ดังนี้
1. ภาวะราคาพลังงานแพงในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตอย่างไร
   อันดับที่ 1 : ต้นทุนเพิ่มขึ้น 20%   อยู่ที่​38.8%
   อันดับที่ 2 : ต้นทุนเพิ่มขึ้น 10%   อยู่ที่​30.3%
   อันดับที่ 3 : ต้นทุนเพิ่มขึ้น 30%   อยู่ที่​23.0%
   อันดับที่ 4 : ต้นทุนเพิ่มขึ้น 40%   อยู่ที่​7.9% 

2.  ผลกระทบของต้นทุนราคาพลังงานและวัตถุดิบแพง ทำให้อุตสาหกรรมท่านต้องปรับราคาขายสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นแล้วเท่าใด เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงต้นปี 2565 
    อันดับที่ 1 : ปรับราคาเพิ่มขึ้น น้อยกว่า 10% อยู่ที่​ 44.9%
    อันดับที่ 2 : ปรับราคาเพิ่มขึ้น 10 - 20%
อยู่ที่​ 38.8%
    อันดับที่ 3 : ปรับราคาเพิ่มขึ้น 20 – 30%  
อยู่ที่​12.7%
    อันดับที่ 4 : ปรับราคาเพิ่มขึ้น มากกว่า 30%  อยู่ที่​​ 3.6%

3.  แนวทางการดำเนินงานในเรื่องใดที่ท่านคิดว่าจะช่วยลดผลกระทบจากราคาพลังงานแพงในช่วงนี้
    อันดับที่ 1 : ขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร  62.4%
    อันดับที่ 2 : ขอความร่วมมือโรงกลั่นฯ ลดกำไรจากค่าการกลั่น และนำมาช่วยลดราคาน้ำมันสำเร็จรูป​ 60.6%
    อันดับที่ 3 : รณรงค์และดำเนินโครงการให้ทุกภาคส่วนประหยัดและลดการใช้พลังงาน  60.0%
    อันดับที่ 4 : เจรจานำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย  55.2%

4.  ภาครัฐควรดำเนินการเพื่อป้องกันปัญหาวิกฤตพลังงานในระยะยาวอย่างไร
    อันดับที่ 1 : ส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคธุรกิจและภาคประชาชน                       76.4% 
    อันดับที่ 2 : สนับสนุนการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประหยัดพลังงาน  73.9%
   อันดับที่ 3 : ทบทวนโครงสร้างราคาพลังงานให้เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย  61.8%
    อันดับที่ 4 : ผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในภาคขนส่งเต็มรูปแบบ  58.8%

5.  ภาคอุตสาหกรรมควรมีการปรับตัวรับมือกับราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างไร
    อันดับที่ 1 : การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้ภายในโรงงาน                          69.7%
    อันดับที่ 2 : ปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน  67.9%
    อันดับที่ 3 : นำระบบการบริหารจัดการพลังงาน (EMS) มาใช้และปรับแผนการผลิต/โลจิสติกส์เพื่อลดต้นทุนพลังงาน   60.0%
    อันดับที่ 4 : ส่งเสริมการใช้การขนส่งหลายรูปแบบ (Multimodal Transport)เช่น ระบบราง, เรือ และทางรถ  50.9%
                    

6.  คาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันดิบโลกช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 
    อันดับที่ 1 : 120 - 140 ดอลลาร์ต่อบาเรล    44.3%
    อันดับที่ 2 : 100 – 120 ดอลลาร์ต่อบาเรล    33.3%
    อันดับที่ 3 : มากกว่า 140 ดอลลาร์ต่อบาเรล    18.8%
    อันดับที่ 4 : ต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาเรล        3.6%