เปิดข้อมูล 10 ปี รายจ่าย 'กำลังคนภาครัฐ’ งบฯบุคลากรโต 42% เบี้ยบำนาญเพิ่ม 150%

เปิดข้อมูล 10 ปี รายจ่าย 'กำลังคนภาครัฐ’ งบฯบุคลากรโต 42% เบี้ยบำนาญเพิ่ม 150%

ครม.รับทราบข้อมูลกำลังคน - รายจ่ายภาครัฐย้อนหลัง 10 ปี 2554 - 2564 พบข้อมูลรายจ่ายบุคลากรเพิ่ม 42% งบประมาณบำเหน็จ-บำนาญเพิ่มปีละกว่า 10% รวมเพิ่มเกือบ 150% ตำแหน่งข้าราชการปรับลดได้ ตำแหน่งข้าราชการภาพรวมเพิ่มขึ้นกว่า 16% จากการรับมือโควิด-หน่วยงานจัดตั้งใหม่

ปัจจุบันการบริหารงานภาครัฐของทุกประเทศมุ่งไปที่การมีราชการที่มีขนาดเล็ก มีประสิทธิภาพ และทันสมัย มุ่งเน้นการใช้งบประมาณที่คุ้มค่า สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และภาคธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว

ในส่วนของประเทศไทยได้มีการกำหนดแผนดังกล่าวไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญในการทำให้ราชการมีความคล่องตัว มีความทันสมัย มีกำลังคนที่ไม่มากจนเกินไปแต่สามารถตอบสนองต่อภารกิจที่มีความท้าทายมากขึ้นได้ในอนาคต  

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบรายงานเรื่องสรุปภาพรวมการบริหารกำลังคนของส่วนราชการในฝ่ายพลเรือน และแนวโน้มค่าใช้จ่ายของบุคคลภาครัฐ ตามที่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน  (ก.พ.) เสนอ

โดยมีสาระสำคัญคือ ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากร 66.17 ล้านคน อยู่ในวัยแรงงาน 38.63 ล้านคน  โดยมีการจ้างงานที่เป็นกำลังคนภาครัฐจำนวน 2.91 ล้านคน ประกอบด้วยข้าราชการ 1.68 ล้านคน ประกอบด้วยข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานกระทรวงสาธารณสุข พนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานองค์การมหาชน จำนวน 1.23 ล้านคน

 

เปิดข้อมูล 10 ปี รายจ่าย \'กำลังคนภาครัฐ’ งบฯบุคลากรโต 42% เบี้ยบำนาญเพิ่ม 150% ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแนวโน้มงบประมาณค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐในระยะ 10 ปี มีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นมากทุกปี โดยค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ 10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 42.6% เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.03% ต่อปี

ขณะที่งบประมาณรายจ่ายของประเทศในภาพรวมเพิ่มขึ้นรวม 40.21% หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้น  3.86%ต่อปี ในขณะที่งบบุคลากร (เงินเดือน ค่าจ้างประจำ ค่าจ้างชั่วคราว และค่าตอบแทนพนักงานราชการ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยเฉลี่ย 1.73% ต่อปี

อย่างไรก็ตามส่วนที่เพิ่มขึ้นมากคือ ในส่วนของเงินเบี้ยหวัด (บำเหน็จ/บำนาญ) ใน 10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 149.6% เฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 10.82% ต่อปี และจากการประมาณการเบื้องต้นของ คปร. พบว่างบประมาณเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ มีแนวโน้มจะสูงกว่างบบุคลากรภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี

ข้อมูลในส่วนของงบประมาณกำลังคนภาครัฐที่ คปร.รายงาน ครม.พบว่าในปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา จากงบประมาณที่มีการเบิกจ่าย 3.01 ล้านล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐจำนวน 1.09 ล้านล้านบาท คิดเป็น 36.4% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำแนกตามงบรายจ่าย ได้แก่

1.งบบุคลากร จำนวน 6.32 แสนล้านบาท โดยมีงบรายจ่ายประจำปีสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เงินเดือน จำนวน 5.67 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นค่าตอบแทนพนักงานราชการ จำนวน 3.9 หมื่นล้านบาท และค่าจ้างประจำ จำนวน 2.38 หมื่นล้านบาท

2.งบกลาง จำนวน 4.64 แสนล้านบาท โดยมีงบรายจ่ายสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เงินเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ จำนวน 3.08 แสนล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ จำนวน 7.97 หมื่นล้านบาท และเงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ จำนวน 2.98 หมื่นล้านบาท

3.ค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ (งบบุคลากร) ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จำแนกตามระดับกระทรวงและระดับกรม ดังนี้

หน่วยงานระดับกระทรวง ที่มีการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐสูงสุด 5 อันดับแรกของงบบุคลากร คือ

1.กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 2.2 แสนล้านบาท  2.กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 1.16 แสนล้านบาท

3.กระทรวงกลาโหม จำนวน 9.11 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 14.5%  4.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2.4 หมื่นล้านบาท และ 5.กระทรวงมหาดไทย 2 หมื่นล้านบาท

 หน่วยงานระดับกรม (รวมหน่วยงานสังกัดกระทรวง และไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี) ที่มีค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐสูงสุด 5 อันดับแรกคือ

1.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 2.02 แสนล้านบาท 2.สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 9.9 หมื่นล้านบาท

3.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 8.2 หมื่นล้านบาท 4.กองทัพบก 5.1 หมื่นล้านบาท และ 5.กองทัพเรือ 1.83  หมื่นล้านบาท

ในส่วนของกำลังคนภาครัฐพบว่าในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา กำลังคนภาครัฐลดลงเล็กน้อย โดยลดลง 1.68 โดยประเภทกำลังคนทีมีแนวโน้มลดลงมากที่สุด คือ ลูกจ้างประจำ ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันยุบเลิกไปแล้ว 49.66% เฉลี่ย 4.78% ต่อปี ปัจจุบันคงเหลือประมาณ 1.17 แสนอัตรา ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรการของ คปร. ที่กำหนดให้ยุบเลิกอัตราลูกจ้างประจำเพื่อเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานราชการ หรือใช้การจ้างเหมาบริการทดแทน

สำหรับตำแหน่งที่มีลักษณะงานที่สามารถดำเนินการได้ รองลงมาคือ ลูกจ้างชั่วคราวลดลง 41.71% หรือเฉลี่ย 4.71%  ต่อปี คงเหลือประมาณ 1.63 แสนอัตรา

ส่วนกำลังคนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ พนักงานจ้าง เพิ่มขึ้นร้อยละ 108.88% หรือเพิ่มขึ้น  10.89% ต่อปี มีจำนวนพนักงานจ้างราชการปัจจุบัน 1.34 แสนคน พนักงานราชการในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 37.82% หรือเฉลี่ย 3.78% ต่อปี ปัจจุบันมีจำนวน 4.1 หมื่นคน และข้าราชการ เพิ่มขึ้น 5.35 % หรือเฉลี่ย 0.54% ต่อปี มีจำนวนประมาณ 6.9 หมื่นคน

ในช่วงเวลาเดียวกัน ข้าราชการสังกัดฝ่ายบริหาร (ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คปร. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย คิดเป็น 0.12% โดยข้าราชการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คือ ข้าราชการพลเรือนสามัญ เพิ่มขึ้น 16.18%  หรือเฉลี่ย 1.62% ต่อปี

ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อบรรจุบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือลูกจ้างชั่วคราว) ที่ปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 3.8 หมื่นอัตราในปีงบประมาณ 2563 และการจัดสรรอัตราข้าราชการให้กับส่วนราชการตั้งใหม่

ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ส่วนราชการที่ส่งข้าราชการไปปฏิบัติงานที่ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม รวม 502 อัตรา

ส่วนข้าราชการพลเรือนในสถาบัน อุดมศึกษา มีแนวโน้มลดลง 65.75% หรือเฉลี่ย 6.57% ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากการยุบเลิกอัตราข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อเปลี่ยนสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีแนวโน้มลดลง6.79% และข้าราชการตำรวจมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย 0.21%

ข้าราชการในราชการบริหารส่วนท้องถิ่นและข้าราชการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งทั้งสองกลุ่มไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คปร. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่ากรณีข้าราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยข้าราชการส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้น 30.06 % (จำนวน 5.5 หมื่นคน) และข้าราชการนอกฝ่ายบริหารเพิ่มขึ้น 52.36%  หรือเฉลี่ย 5.24% ต่อปี (จำนวน 1.2 หมื่นคน)