“ไออาร์พีซี” มุ่งแบรนด์โซลูชั่น ดึงธุรกิจสู่เมกะเทรนด์ 4D
“ไออาร์พีซี” ชูเมกะเทรนด์ 4D ดำเนินธุรกิจสร้างสมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ บริการ และกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง สร้าง “อีโคซิสเต็ม” ตอบโจทย์ New-S Curve ประเทศ
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC กล่าวในเวทีเสวนาออนไลน์ “POLIMAXX เจาะอนาคตเศรษฐกิจไทย” ว่า ในฐานะผู้สร้างนวัตกรรมปิโตรเคมีได้พัฒนาเม็ดพลาสติกให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีควบคู่กับการดำเนินชีวิตปัจจุบัน เนื่องจากภาพรวมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีภัณฑ์ขั้นต้น (Upstream petrochemical industry) ในทิศทางใหม่นั้น จะอยู่ในชีวิตประจำวันตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย และมีอิทธิพลหลายเรื่อง อาทิ Packaging ในการบรรจุอาหารต่าง ๆ ตอบโจทย์ฟังก์ชันการทำงาน เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์รถยนต์ รวมถึงอุปกรณ์ก่อสร้าง เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงด้วย 4 เทรนด์หลัก หรือ เมกะเทรนด์ 4D ซึ่งจะเป็นตัวที่ผลักดันให้บริษัทฯ ได้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่า มนุษย์ต้องการวัสดุที่จะตอบโจทย์ในเรื่องของการตื่นตัวรวมถึงการใช้พลังงานที่เหมาะสม ดังนั้น ขณะที่โลกมนุษย์มีการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงไปตามเมกะเทรนด์ ปิโตรเคมีจะยังมีบทบาทสำคัญที่จะตอบโจทย์ความต้องการสำหรับ 4D ประกอบด้วย คือ
1. D-carbonization ลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า แรงกดดันและความตื่นตัวของโลกโดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมจากการประชุมเวที COP26 เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน กลายเป็นโจทย์ที่กำหนดเป้าหมาย ดังนั้น บริษัทณฯ จะช่วยทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย
2. Disruption Technology จากการที่โลกหมุนเร็วทำให้การติดต่อสื่อสารเร็วขึ้น มีนวัตกรรมมาเกี่ยวกับธุรกิจช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น รวมทั้งนวัตกรรมเกี่ยวกับ AI หรือแม้แต่พลังงานหมุนเวียน ซึ่งเทคโนโลยีที่เกิดใหม่นี้ จะก่อให้เกิดความต้องการของวัสดุใหม่ ๆ เช่นกัน
3. Demographic Shift ประเทศไทยตกอยู่ในคีย์เวิร์ดอันนี้ เนื่องจากมีประชากรที่สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นโจทย์สำคัญ ที่จะตอบกลุ่มผู้สูงอายุที่ความใส่ใจสุขอนามัยต่าง ๆ และ
4. De-Globalization เมื่อเรามีความรู้สึกรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ของการถูกทำลายต่างๆ อาทิ จากการแบ่งขั้วมหาอำนาจในโลก ซึ่งมีอิทธิพลในหลาย ๆ เรื่อง อาทิ การสร้างหรือกำหนดเทรนด์ต่าง ๆ เช่น การเชื่อมโยงของระบบโลจิสติกส์ หรือ Supply chain ของโลกมีการเปลี่ยนแปลงจากการแบ่งขั้วอย่างเห็นได้ชัด ในช่วงที่มีการ Transform หรือปรับตัว ทั้งภาวะเงินเฟ้อ แต่ข้อดี คือ ประเทศไทยสามารถสร้าง Economic Ecosystem ใหม่ ๆ ให้กับประเทศได้
ส่วนตัวอย่างที่จะตอบโจทย์ อาทิ พลาสติกมีบทบาทค่อนข้างเยอะคือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลาสติกน้อยลงเพื่อให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยลง พร้อมกับสามารถรีไซเคิลได้ หรือแม้แต่วัสดุที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ หรือการใช้วัสดุทดแทนพลาสติกได้บางส่วนแต่มีลักษณะฟังก์ชันใกล้เคียงกับวัสดุธรรมชาติ ซึ่ง บริษัทฯ มีเยื่อไม้ที่สามารถใช้แทนผสมอยู่ในวัสดุต่าง ๆ ที่เป็นพอลิเมอร์เพื่อลดปริมาณพอลิเมอร์ได้ ช่วยให้บลดปริมาณคาร์บอนได้
นอกจากนี้ วัสดุต่างๆ ของบริษัทฯ ยังมีวิวัฒนาการในการตอบโจทย์สิ่งต่าง ๆ ได้ เช่น วัสดุที่มีน้ำหนักเบาสามารถลด Energy และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ซึ่งเทคโนโลยีวัตถุศาสตร์พอลิเมอร์ทำให้ความหนาแน่นของตัวพอลิเมอร์หรือพลาสติกน้อยลงมีน้ำหนักเบาแต่มีความแข็งแรงของตัววัสดุเพียงพอที่จะนำไปใช้งานได้อย่างปลอดภัย
ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สามารถสร้าง EV Value chain ขึ้นมาแทน Value chain ของเครื่องยนต์สันดาป เนื่องจากประเทศไทยพึ่งพา Value chain ที่เกี่ยวข้องกับสายการผลิตรถยนต์ค่อนข้างมาก ซึ่งพลาสติกจะเข้ามามีบทบาทค่อนข้างมาก บริษัทฯ มีวัสดุที่เข้าไปเป็นส่วนประกอบรถยนต์ รวมถึงสถานีชาร์จที่สามารถผลิตตัววัตถุดิบที่เข้าไปเป็นส่วนประกอบสำคัญของ EV Battery จะส่งเสริมให้ประเทศไทยสร้าง Eco System Value chain รถยนต์ไฟฟ้าได้
นายชวลิต กล่าวว่า บริษัทฯ ได้มีบทบาทสำคัญในเรื่องของพลังงานสะอาดต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยวิวัฒนาการการใช้โซล่าเซลล์ที่ตั้งบนดิน บนหลังคา วิวัฒนาการโซล่าเซลล์บนผืนน้ำ ซึ่งช่วงแรก ๆ ติดตั้งบนแหล่งน้ำจืด ที่ต้องการทุ่นรองรับถือเป็นวัสดุสำคัญโดยตัวทุนจะต้องมีน้ำหนักเบา และคงทน จึงต้องใช้วัสดุน้อยเพื่อลดปริมาณคาร์บอน บริษัทฯ จะซัพพอร์ตในวิวัฒนาการดังกล่าว
“ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างวิเคราะห์วิจัยและทดลองการติดตั้งโซลาร์บนผืนทะเล จะช่วยให้ใช้พื้นที่ใช้สอยว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์ได้ ดังนั้นพอลิเมอร์ต่าง ๆ จะตอบโจทย์ในเรื่องนี้เช่นกัน”
ในส่วนของวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุดจะเห็นได้ชัดในช่วงโควิด- 19 ที่ประเทศไทยเริ่มใส่ใจในเรื่องของการใช้หน้ากากอนามัย และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์สิ้นเปลืองต่าง ๆ ได้มีความจำเป็น บริษัทได้สร้างนวัตกรรมเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษไปสู่ Smart Material ที่ตอบสนองผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น พร้อมผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ผ้าไม่ถักไม่ทอ (Non-woven Fabric) ที่ขึ้นรูปด้วยวิธี Melt Blownวัตถุดิบหลักสำหรับผ้าชั้นกรองหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ และแผ่นกรองอากาศทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบ เพิ่มเสถียรภาพและความสามารถในการแข่งขันการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ไทยให้ทัดเทียมกับสากล
ด้านผลิตภัณฑ์ผ้าไม่ถักไม่ทอ มีลักษณะเส้นใยขนาดเล็ก และละเอียดในระดับนาโนเมตรถึงไมโครเมตร มีคุณสมบัติในการกรองที่มีประสิทธิภาพสูง ผลิตจากเม็ดพลาสติกโพลีโพรพิลีนชนิดพิเศษ (PP melt blown grade) ที่บริษัท ไออาร์พีซี วิจัยและพัฒนาเป็นผู้ผลิตแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย
“พอลิเมอร์ได้ตอบโจทย์ไม่สิ้นสุด หากมองเรื่องของสุขอนามัยและความแข็งแรงของร่างกาย กลุ่มคนจำนวนหนึ่งก็ต้องการเครื่องมือที่จะใช้ให้การใช้ชีวิตประจำวันสะดวกสบายมากขึ้นจากข้อบกพร่องของร่างกาย ซึ่งพอลิเมอร์จะตอบโจทย์วัสดุศาสตร์ที่มีความแข็งแรง สามารถนำไปทำงานร่วมกับโลหะเบาและนำไปทำงานร่วมกับระบบอิเล็กทรอนิกส์สั่งการ อาจเชื่อมโยงกับระบบประสาทในอนาคต ทำให้การใช้งานของอวัยวะร่างกายใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายเหมือนคนปกติได้”
ปัจจุบัน บริษัทฯ อยู่ระหว่างวิจัยไหมย่อยสลายในร่างกาย เพื่อใช้ทดแทนวัสดุที่นำเข้า โดยการใช้ 3D Printing เพื่อตอบโจทย์อวัยวะต่างๆ เช่น ลิ้นหัวใจ โดยทำการวิจัยกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ จะเป็นตัวอย่างต่าง ๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าวัสดุผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ได้ตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนไปได้