เด้งตามรอบบ้าน (ประจำวันที่ 8 กรกฎาคม 2565)
ตลาดหุ้นวานนี้ SET พุ่งแรง 21 จุด ดัชนีมี Technical Rebound หลังจากที่นักลงทุนเข้าช้อนซื้อหุ้นที่ร่วงแรงในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับมีแรงซื้อเพื่อ Cover short ทำให้ดัชนีพุ่งแรงมากกว่าที่เราประเมินกันไว้
โดยหุ้นที่ปรับตัวขึ้นเด่นและเป็นกลุ่มนำตลาดวันนี้อยู่ในกลุ่ม อิเล็กฯ และ ค้าปลีก นำโดย DELTA CPALL CRC และ MAKRO
แนวโน้มตลาดหุ้นวันนี้
ประเมิน SET ปรับตัวขึ้นแนวต้าน 1,570 / 1,575 จุด ตามทิศทางตลาดหุ้นรอบบ้านที่ดีดตัวขึ้นตอบรับความเห็น FED ที่ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่งพอจะรับมือกับการคุมเข้มนโยบายการเงิน รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่รีบาวด์ขึ้นจากความกังวลด้านอุปทาน อย่างไรก็ตามคาดว่าดัชนีจะสลับอ่อนตัวลงจากความกังวลยอดผู้ติดเชื้อ Covid-19 ในประเทศที่อาจเร่งตัวขึ้นรวมถึงแรงขายตามสัญญาณเทคนิค
กลยุทธ์การลงทุน: Selective Buy
PTTEP TOP IVL SPRC BCP BANPU ราคาน้ำมันดิบฟื้นตัวขึ้น
BDMS BH BCH CHG อานิสงส์แนวโน้มยอดผู้ติดเชื้อ Covid-19 สูงขึ้น
ASIAN GFPT KCE HANA กลุ่มส่งออกได้อานิสงส์เงินบาทอ่อนค่า
หุ้นแนะนำวันนี้
CPF (ปิด 27 บาท ซื้อ/ เป้า 31.50 บาท) คาด CPF มีกำไรสุทธิ 2Q22 ประมาณ 4.9 พันล้านบาทเพิ่มขึ้น 79%qoq และทรงตัว yoy หนุนจากราคาหมูในไทย เวียดนาม และจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาหมูในจีนที่เพิ่มขึ้นคาดว่าจะทำให้งบของ CTI พลิเป็นบวกจากที่ขาดทุนในไตรมาสก่อนหน้า
IVL (ปิด 45 บาทซื้อ/เป้า 60 บาท) ไม่มีปัจจัยกดดันจากการแทรกแซงของภาครัฐ, กำไรสุทธิ 1Q22 โตแกร่งที่ 1.4 หมื่นล้านบาท +161% qoq and +134% yoy แนวโน้ม 2Q22 ยังทรงตัวในระดับสูงเพราะจะรับรู้ปริมาณขายและรายได้จาก Oxitino ในบราซิลเข้ามาเต็มไตรมาส
บทวิเคราะห์วันนี้
CPF (ปิด 27 ซื้อ/เป้า 31.5 บาท), TTW (ปิด 10.6 ถือ/เป้า 11.5 บาท)
ประเด็นสำคัญวันนี้
(+) น้ำมันดิบ WTI ปิดบวก 4.2 ดอลลาร์รับข่าวรัสเซียสั่งปิดท่อส่งน้ำมันเป็นเวลา 1 เดือน: ราคาน้ำมันดิบกลับมาเพิ่มขึ้น 4.2 ดอลลาร์ หรือ 4.3% ปิดที่ 102.73 ดอลลาร์/บาร์เรล กังวลอุปทานน้ำมันตึงตัวหลังจากศาลรัสเซียมีคำสั่งให้โครงการแคสเปียน ไปป์ไลน์ (CPC) หยุดดำเนินการเป็นเวลา 1 เดือนจากปัญหาการรั่วไหล โดยท่อน้ำมัน CPC นับเป็นท่อส่งน้ำมันใหญ่สุดของโลก มีบริษัทของรัสเซีย เชฟรอน และ เอ็กซอน โมบิล ของสหรัฐร่วมลงทุน
(+/-) คืนนี้ติดตามตัวเลข Nonfarm payrolls วัดความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานสหรัฐ: ตัวเลขนี้จะชี้วัดความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานในสหรัฐหากตัวเลขออกมาดีและดีกว่าที่ตลาดคาด จะยิ่งกดดันให้เฟด เร่งขึ้นดอกเบี้ยอีกในการประชุมที่จะมีขึ้นในช่วงปลายเดือน ก.ค. แต่หากตัวเลขอ่อนแอเกินไปจะทำให้นักลงทุนกลับมาวิตกกังวลกับภาวะ ศก. ถดถอย นอกจากนี้ยังต้องติดตามตัวเลขอัตราการว่างงานด้วยว่าจะลดลงต่อเนื่องหรือจะกลับมาพุ่งขึ้นซึ่งนัยคล้ายกับตัวเลขของ Nonfarm payrolls
(-) สัปดาห์หน้าติดตามเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. ของสหรัฐบ่งชี้ทิศทางเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.5% หรือ 0.75%: สหรัฐจะรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในวันที่ 13 ก.ค. เบื้องต้น Consensus คาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะพุ่งขึ้นเป็น 8.7-8.8% จาก 8.6% ในเดือน พ.ค. นับเป็นอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 40 ปี ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะทรงตัวที่ระดับ 6% ตามเดิม