การบริหารจัดการวัดในประเทศไทย ในยุค Digital Disruption (จบ)
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือมนุษย์ ทุกสิ่งทุกอย่างสิ้นสุดที่คน การบริหารจัดการ "วัดในประเทศไทย" จะต้องมีคนดีเข้าไปช่วยกันให้มาก ดั่งคำสอนของท่านพุทธทาสที่สอนว่า คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง
จากรายงานฉบับสมบูรณ์ เรื่องการบริหารการเงินของวัดในประเทศไทย ที่ดำเนินการโดย ผศ ดร.ณดา จันทร์สม เมื่อเดือน พฤษภาคม 2555 ได้นำเสนอผลการศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับรายรับ-รายจ่ายของวัด ที่ได้จากการสำรวจด้วยแบบสอบถามเจ้าอาวาส กรรมการวัด และไวยาวัจกร จากวัด ครอบคลุมพื้นที่ 15 จังหวัด 5 ภาค (ภาคเหนือ กลาง ตะวันออกเฉียงเหนือ ใต้ กรุงเทพและปริมณฑล) จำนวน 490 วัด ในด้านรายรับของวัดพบว่า รายรับรวมโดยเฉลี่ยเท่ากับ 3,235,692 บาทต่อปี เป็นเงินบริจาคเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะด้าน เช่น งานซ่อมแซม โบสถ์ หรือ ศาสนสถานอื่น เฉลี่ยเท่ากับ 2,022,501 บาท รายรับจากการสร้างเครื่องบูชา เฉลี่ยเท่ากับ 1,460,907 บาท และเงินบริจาคในโอกาสพิเศษ เช่น ทอดกฐิน ผ้าป่า พิธีฝังลูกนิมิต ฯลฯ เฉลี่ยเท่ากับ 1,054,324 บาทต่อปี รายจ่ายรวมเฉลี่ยของวัดเท่ากับ 3,235,692 บาทต่อปี ส่วนมากเป็นค่าก่อสร้างและซ่อมแซมอาคารสถานที่ในวัดเฉลี่ยเท่ากับ 2,384,146 บาทต่อ ค่าซ่อมบำรุงรักษาสถานที่และอุปกรณ์เฉลี่ย 451,832 บาทต่อปี
เมื่อรวมรายรับของวัดต่อปีจากวัด 490 วัด จะมีจำนวนสูงถึง 1,388 ล้านบาท ในขณะที่รายจ่ายรวมจำนวน 1,327 ล้านบาท รายรับที่นอกเหนือจาการสำรวจของบางวัดที่มีการกันที่ดินของวัดให้เป็นที่จัดประโยชน์ โดยการเช่าที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์สามารถทำสัญญาได้ 3 ปี บางวัดมีที่ดินที่อยู่ในย่านเศรษฐกิจที่สำคัญทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด จะมีรายรับที่สูงมาก
ถ้าไม่มีการวางระบบการเงินบัญชี ที่สามารถตรวจสอบได้ก็จะทำให้เกิดการผิดพลาดและรั่วไหล่ได้ จากบทความของพระมหาเสริมชัย ชยมงคโล ได้เสนอความเห็นว่า เรื่องการเงินของวัดเป็นเรื่องที่ “ล่อแหลม” อย่างที่สุดประการหนึ่งสำหรับพระภิกษุ เจ้าอาวาส ผู้บริหารงานวัด หรือผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบในการรับ-จ่าย เก็บรักษาและ/หรือในการฝากธนาคาร ถอนเงินจากธนาคาร
เพราะมีโอกาสผิดพลาดและรั่วไหลได้ทุกจุด เพราะความที่พระภิกษุหรือ แม่ชี อุบาสิกา ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเงินทุกระดับไม่มีความรู้ในเรื่องระบบบัญชี และมักปฏิเสธ ต่อต้าน เมื่อนำระบบบัญชีและการเงินที่ถูกต้องมาใช้การเก็บรักษาเงินของวัดพบว่าส่วนใหญ่ฝากไว้ที่ธนาคาร/สถาบันการเงิน เจ้าอาวาสหรือกรรมการวัด ลงนามเบิกร่วมกัน บางวัดกำหนดเงื่อนไขที่รัดกุม ให้ลงนามเบิกถอน 3 คน บางวัดเจ้าอาวาสกับไวยาวัจกรลงลายมือชื่อ 2 ใน 3 แต่ยังมีบางวัดที่เจ้าอาวาสลงนามเบิกจ่ายได้แต่เพียงผู้เดียว ในด้านของการเก็บรักษาสมุดบัญชีเงินฝาก เจ้าอาวาสเป็นผู้ดูแลเกินกว่า 70 % ของวัดที่ทำการสำรวจ
บทบาทของพระสงฆ์ตามหลักศาสนาคือการศึกษาพระธรรม ปฎิบัติธรรม เผยแพร่พระธรรม ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของศาสนาพุทธ แต่เมื่อสังคมไทยเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ระบบทุนนิยมที่มีเรื่องของผลประโยชน์แซกแทรงเข้าไปทุกองคาพยพ ไม่เว้นแม้แต่วัดทุกแห่ง การวางระบบการเงินและบัญชีที่ถูกต้องจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันรักษาพระพุทธศาสนาไว้ ไม่ให้เกิดเรื่องอื้อฉาวเป็นข่าวให้ชาวพุทธเสื่อมศรัทธามากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันกรมการศาสนาได้มีระเบียบปฎิบัติที่ให้วัดทุกแห่งปฏิบัติ แต่ยังไม่มีการให้ความรู้ อย่างจริงจังกับกรรมการวัด ไวยาวัจกร มีการฝึกอบรมก่อนปฎิบัติหน้าที่ ทำอย่างไรที่จะวางบทบาทของเจ้าอาวาสโดยเฉพาะพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่ไม่ต้องมาแบกภาระเกี่ยวกับเรื่องเงิน ได้ทำหน้าที่ชี้ธงให้ผู้เกี่ยวของปฎิบัติตามในสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง การนำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ เช่นการับเงินบริจาคผ่านแอพต่าง ๆ การบริจาคโดยพัฒนาระบบดิจิตอล เพื่อให้สังคมวัดเป็น Cashless Sociaty สามารถตรวจสอบได้อย่างถูกต้อง ทุกฝ่ายทั้งวัด กรมการศาสนา และสถาบันการเงินที่เป็นผู้เก็บรักษาเงินของวัดต้องช่วยกันวางระบบที่มีประสิทธิภาพ
วัดตัวอย่างที่มีระบบการจัดการทางด้านบัญชีที่จัดทำขึ้นอย่างเป็นระบบรวมทั้งการบริหารจัดการทรัพย์สินและครุภัณฑ์ของวัด มีคณะกรรมการวัดที่มีองค์ประกอบของฆราวาส ที่มีความรู้ความชำนาญมาช่วยในการวางระบบบัญชีคือวัดวัดปทุมวนารามและวัดญาณเวศกวัน และวัดสวนแก้วใช้รูปแบบการบริหารแบบมูลนิธิใช่กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการมูลนิธิเป็นข้อกำหนด ทั้ง 3 วัด มีการแต่งตั้งไวยาวัจกรและคณะกรรมการวัดถูกต้องเป็นไปตามระเบียบของมหาเถรสมาคม และมอบหมายให้ดำเนินการในภาระหน้าที่ต่าง ๆ ภายในวัดเป็นฝ่ายต่าง ๆ อย่างชัดเจน จึงควรเป็นต้นแบบที่วัดทุกแห่งทั่วประเทศถือปฎิบัติ
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือมนุษย์ ทุกสิ่งทุกอย่างสิ้นสุดที่คน การบริหารจัดการวัดในประเทศไทย จะต้องมีคนดีเข้าไปช่วยกันให้มาก ดั่งคำสอนของท่านพุทธทาสที่สอนว่า คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง…