หุ้นส่งออกเฮ! "เงินบาทอ่อนค่า" ทุบสถิติรอบ 6 ปี

หุ้นส่งออกเฮ! "เงินบาทอ่อนค่า" ทุบสถิติรอบ 6 ปี

ช่วงนี้ตลาดเงินตลาดทุนเผชิญกับสารพัดปัจจัยรุมเร้า ทั้งความวิตกกังวลต่อ “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” กดดันเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่ “เงินเฟ้อ” พุ่งไม่หยุดตามทิศทางราคาพลังงาน จากผลกระทบภาวะสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ลากยาวมาตั้งแต่ต้นปีและดูแล้วไม่น่าจะจบง่ายๆ

ส่งผลให้เงินเฟ้อพุ่งแรงทั่วโลก นำโดยพี่ใหญ่สหรัฐเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 41 ปี ส่วนยูโรโซนเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมานานกว่า 1 ปี เดินหน้าทำนิวไฮใหม่ ขณะที่ไทยตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดเดือน มิ.ย. พุ่ง 7.66% สูงสุดในรอบ 13 ปี

เงินเฟ้อขาขึ้นกลายเป็นปัจจัยสำคัญให้ธนาคารกลางต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย โดยปีนี้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง และมีแผนจะขึ้นอีกในการประชุมทุกครั้งที่เหลือของปีนี้ โดยมีเป้าหมายว่าสิ้นปีอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 3.4% จาก ระดับ 1.50-1.75% ในปัจจุบัน

เมื่อประตูดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐถูกเปิดออก เม็ดเงินจากทั่วทุกมุมโลกแห่ไหลเข้าทันที ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งโป๊ก! สวนทางเงินบาทอ่อนค่าแรงมากที่สุดในรอบ 6 ปี ทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อย จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐกับไทยที่ห่างออกไปเรื่อยๆ หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงดอกเบี้ยไว้ 0.5% หวังช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ

โดยปีนี้เงินบาทอ่อนค่าขึ้นมาแล้วกว่า 8% จากระดับปิดสิ้นปี 2564 ที่ 33.25 บาทต่อดอลลาร์ และยังมีโอกาสที่จะอ่อนค่าได้อีก หากแบงก์ชาติยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย หรือเกิดการระบาทระลอกใหม่ขึ้นในประเทศซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยว ผลักดันให้เงินไหลออก

แน่นอนว่าเมื่อเงินบาทอ่อนค่าย่อมมีทั้งฝั่งที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ โดย “ผู้นำเข้า” จะได้รับผลกระทบเต็มๆ จากเงินบาทอ่อนค่า เพราะต้องใช้เงินบาทมากขึ้นในการนำเข้าสินค้า

ส่วน “ผู้ส่งออก” ที่รับเงินเป็นดอลลาร์ เมื่อแลกกลับมาเป็นเงินบาทจะได้จำนวนเงินที่มากขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อเงินบาทอ่อนค่าจะทำให้สินค้าส่งออกของไทยมีราคาถูกลงในสายตาคู่ค้า

นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทยังส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองไทย นำสกุลเงินต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น ขณะที่สินค้าต่างๆ ดูมีมูลค่าลดลง

 

หุ้นที่จะได้รับอานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่า

- กลุ่มส่งออก

  • ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
  • อาหาร
  • สินค้าเกษตร

- หุ้นท่องเที่ยวและกลุ่มโรงพยาบาล

ทั้งนี้ หากเงินบาทอ่อนค่าต่อจนทะลุระดับ 36.40 บาทต่อดอลลาร์ จะทำให้เงินบาททำสถิติอ่อนค่าที่สุดในรอบ 16 ปี โดยนักค้าเงินส่วนใหญ่ประเมินว่ากรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทรอบนี้มีแนวต้านใหญ่อยู่ที่ 36.50 บาท

และมีโอกาสที่เงินบาทจะแกว่งอ่อนค่าตลอดช่วงไตรมาส 3 นี้ ก่อนพลิกกลับมาแข็งค่าในช่วงปลายปี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบ

หุ้นส่งออกเฮ! \"เงินบาทอ่อนค่า\" ทุบสถิติรอบ 6 ปี

โดยบล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า หากย้อนกลับไปตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 เมื่อปลายปี 2562 เป็นต้นมา ค่าเงินบาทอ่อนค่ามากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค -13.06% รองจากเงินเยนที่อ่อนค่า -18.19% เป็นผลจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและนโยบายการเงินที่สวนทางกับฝั่งตะวันตก

ขณะที่เงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับค่อนข้างสูง 7.66% ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายยังถูกตรึงไว้ที่ระดับต่ำ 0.5% แม้ว่าในการประชุมล่าสุดมติจะออกมาไม่เป็นเอกฉันท์ 4 ต่อ 3 และส่งสัญญาณ Hawkish มากขึ้น โดยมีคณะกรรมการ 3 ท่าน สนับสนุนให้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

โดยฝ่ายวิจัยคาดว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในรอบการประชุมที่เหลือของปีนี้อีก 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสิ้นปีไปอยู่ที่ระดับ 1.25% แต่ก็ยังต่ำกว่าคาดการณ์การเร่งขึ้นดอกเบี้ยในประเทศพัฒนาแล้ว

ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นส่งออก แนะนำ GFPT ราคาเป้าหมาย 20 บาท, CPF ราคาเป้าหมาย 28 บาท, SAPPE ราคาเป้าหมาย 43 บาท, MEGA ราคาเป้าหมาย 65 บาท, ASIAN ราคาเป้าหมาย 21.60 บาท และ KCE ราคาเป้าหมาย 80 บาท มองว่าหุ้นเหล่านี้น่าจะ Outperform ฝ่าเงินเฟ้อได้