องค์กรชั้นนำภาคธุรกิจ ชู “ESG” เป็นแนวคิดสำคัญในการดำเนินธุรกิจยุคใหม่
องค์กรชั้นนำภาคธุรกิจ ชู “ESG” เป็นแนวคิดสำคัญในการดำเนินธุรกิจยุคใหม่ ด้าน "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" เผย "ESG” เป็นแนวคิดที่สำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
จากงานสัมมนาออนไลน์ Redefining the future “ESG” in Thailand (ESG นิยามใหม่สู่อนาคตแห่งความยั่งยืน) จัดโดย The Nation และ Asia News Network: ANN เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565
โดยมีวิทยากร และผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์ชั้นนำของไทยและต่างประเทศ มาร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการนำ “ESG” (Environmental Social and Governmental) มาปรับใช้ เพิ่มสร้างความยั่งยืนและเติบโตให้กับบริษัท พร้อมยกระดับธุรกิจไปสู่มาตรฐานสากลและเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน
พร้อมกันนี้ยังได้รับเกียรติจาก ฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แสดงวิสัยทัศน์พิเศษให้หัวข้อ “นำแนวคิด "ESG" สู่การพลิกโฉมกรุงเทพมหานคร"
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า กทม. ได้นำแนวคิด ESG มาใช้ในการบริหารเมือง สาธารณสุข การจัดการสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนความคิดสร้าง และการศึกษา ซึ่ง "ESG” เป็นแนวคิดที่สำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
ในด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) กทม. ได้ริเริ่มแนวคิดเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง เช่น การปลูกต้นไม้ 1 ล้านตัน และการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 รวมถึงยังได้ริเริ่มโครงการ BMA net-zero เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย
"การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ กทม. ต้องเริ่มคุยเรื่อง BMA net-zero มิเช่นนั้นการแก้ไขปัญหาจะไม่ยั่งยืน" ชัชชาติกล่าว
สำหรับด้านสังคม (Social) นั้น กทม. ให้ความสำคัญในการปรับปรุงการบริการเพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีควบคู่ไปกับการส่งเสริมความเท่าเทียมในหลายมิติ รวมถึงไปถึงการส่งเสริมความเท่าเทียม ซึ่งมีความสำคัญต่อการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต
นายชัชชาติยังกล่าวว่า กทม. ได้นำแพลตฟอร์ม "ทราฟฟี่ฟองดูว์" มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานในสังกัด นอกจากนี้ กทม. ยังเปิดเผยข้อมูลการทำงานเพื่อความโปร่งใสขององค์กรอีกด้วย และทิ้งท้ายว่าเมืองเปรียบเสมือนตลาดแรงงาน กทม.ไม่ได้สร้างตลาดแรงงาน แต่เอกชนต่างหากที่เป็นผู้สร้าง ดังนั้นความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในอนาคต นายชัชชาติกล่าวทิ้งท้าย
- แนวคิด ESG คือหัวใจบริหารธุรกิจเพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต
ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า นักลงทุนกำลังให้ความสนใจในองค์กรที่นำแนวคิด ESG มาใจในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งแนวคิด ESG กำลังเป็นเทรนด์โลกซึ่งทุกองค์กรควรทำทันที
หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ยังแนะนำนักลงทุนให้ลงทุนในองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงในทุกมิติ นอกจากนนี้ยังแนะนำให้องค์กรใช้แนวคิด ESG เป็นเครื่องมือในการค้นหาโอกาสและหุ้นส่วนใหม่ รวมถึงการพัฒนาองค์กรให้มีความยั่งยืน
"แนวคิด ESG ช่วยให้องค์กรสามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะถ้าหากองค์กรไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม หรือธรรมาภิบาล มันอาจจะส่งผลร้ายต่อองค์กรในที่สุดได้" ดร.ศรพลกล่าว
ในขณะเดียวกันนาย Goh Jia Kai ผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์ Accenture ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่าความยั่งยืนช่วยเพิ่มมูลค่าขององค์กรในด้านการเติบโตของรายได้ การลดต้นทุน ภาพลักษณ์ของแบรนด์ และการบริหารความเสี่ยง
นาย Goh ยังกล่าวด้วยว่า SME ที่มีศักยภาพหลากหลายสามารถร่วมมือกันเพื่อบรรลุ ESG ความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)
- โมเดลธุรกิจเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นางสาวธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่าหลายองค์กรกำลังขับเคลื่อนโมเดลธุรกิจการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ net-zero เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ซึ่งองค์กรที่ไม่ขับเคลื่อนโมเดลธุรกิจ net-zero กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง
“ร้อยละ 65 ของซีอีโอทั่วโลกกล่าวว่าพวกเขาได้เริ่มพัฒนาโมเดลธุรกิจ net-zero แล้ว นอกจากนี้ องค์กรที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐกำลังขับเคลื่อนในเรื่องนี้” นางสาวธันยพรกล่าว
- เทคโนโลยีและความร่วมมือในการสร้างความยั่งยืน
นายวีรกร สายเทพ Digital Construction Director บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด บริษัทในเครือเอสซีจี (CPAC-SCG) กล่าวว่าเอสซีจีได้ลงทุนระยะยาวในแนวคิด ESG และกำหนดโร้ดแมปสำหรับเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและการจัดการพลังงาน น้ำ และของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ บีไอจี (BIG) กล่าวว่าบริษัทจำเป็นต้องนำนวัตกรรมที่ลดการใช้น้ำมันในการผลิตไฟฟ้าเพราะกระบวนการผลิตออกซิเจนและไฮโดรเจนใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมาก และยังได้ดำเนินผลิตพลังงานทางเลือกให้กับบริษัทพลังงานชั้นนำในประเทศอีกด้วย
ด้านนาย Anthony Watanabe รองประธานและหัวหน้าฝ่ายความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม Indorama Ventures หรือ IVL กล่าวว่าสิ่งที่ยากที่สุดในการนำแนวคิด ESG มาใช้กับองค์กรคือการให้ความรู้เกี่ยวกับพลาสติกพอลิเอทิลีน เทเรฟทาเลต (Polyethylene terephthalate: PET) แก่ประชาชนซึ่งสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบัน IVL สามารถโน้มน้าวให้ประชาชนทั่วโลกใช้งานพลาสติกอย่างถูกวิธีเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
- แนวคิด ESG ช่วยเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
นาย Marco Toscano-Rivalta หัวหน้าสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for Disaster Risk Reduction: UNDRR) กล่าวว่าโลกกำลังเผชิญกับการสูญเสียของมนุษย์ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจอย่างมหาศาลจากภัยพิบัติ ซึ่งแนวคิด ESG มีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้ภาครัฐและเอกชนก้าวไปข้างหน้าได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืน นอกจากนี้ยังแนะนำให้องค์กรปรับแนวคิด ESG ให้เข้ากับบริบททางเศรษฐกิจและภัยพิบัติ ซึ่งจะช่วยให้องค์กรตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ
นางสาวอภิญญา สิระนาท หัวหน้าฝ่ายงานวิจัย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UN Development Program: UNDP) กล่าวเสริมว่า นอกจากแนวคิด ESG แล้ว SDGs ยังช่วยให้ธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยระบุว่าหากองค์กรดำเนินงานตามแนวทาง SDGs ก็จะพบว่ามีโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคต และการลงทุนด้าน ESG จะช่วยให้องค์กรปลดล็อกวิธีการทำธุรกิจรูปแบบใหม่
ขณะที่นางสาว Cosima Stahr ที่ปรึกษาอาวุโส Adelphi Research กล่าวว่าแนวคิด ESG ช่วยให้องค์กรบริหารงบประมาณและก้าวข้ามขีดจำกัดในปัจจุบัน โดยเมื่อองค์กรตระหนักถึงจุดอ่อนและคุณค่าของธุรกิจ องค์กรจะเข้าใจวิธีการบริหารการเงินและการลงทุนในระยะยาวเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนและสังคมที่เท่าเทียม พร้อมแนะนำให้องค์กรและบริษัทนำแนวคิด ESG มาใช้ในแผนการดำเนินธุรกิจเพื่อฟื้นฟูธุรกิจในระยะยาว