รองประธานเฟดเตือน ธนาคารลงทุน'คริปโท' เสี่ยงต่อความมั่นคงทางการเงิน

รองประธานเฟดเตือน ธนาคารลงทุน'คริปโท' เสี่ยงต่อความมั่นคงทางการเงิน

'เลล เบรนาร์ด' รองประธานเฟด เตือน ธนาคารลงทุนคริปโท-สเตเบิลคอยน์ ความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางการเงิน จากขาดกฎระเบียบรองรับ และ DeFi คือความท้าทายใหม่ กังวล เทคโนโลยีอาจมีช่องว่างในการก่ออาชญากรรมทางการเงิน

เว็บไซต์ cryptopotato.com รายงานว่า 'เลล เบรนาร์ด' รองประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด เรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายเข้มงวดการตรวจสอบกฎระเบียบในอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี่ ในการกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม Bank of England เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2565

รวมทั้งยังเน้นย้ำถึงความเสี่ยงของความล้มเหลวของตลาดคริปโท ที่ส่งผลกระทบไปยังสถาบันทางการเงินหลัก เนื่องจากขาดกฎระเบียบที่เป็นเป้าหมายสำหรับสถาบันการธนาคารและผู้ออกเหรียญสเตเบิลคอยน์อย่างชัดเจน

ความไม่แน่นอนดังกล่าว แสดงให้เห็นความเสี่ยงในแพลตฟอร์มในตลาดคริปโท ดังที่เห็นได้ชัดเจนในบริษัทต่างๆ ที่เพิ่งสั่งระงับการถอนเงินและนำไปสู่การล้มละลายท่ามกลางภาวะตลาดตกต่ำ

“ผู้เล่นคริปโทรายใหญ่ที่ใช้เลเวอเรจเพื่อเพิ่มผลตอบแทน กำลังดิ้นรนเพื่อสร้างรายได้จากการถือครอง จากมาร์จิ้นที่ขาดหายไป และเผชิญกับการล้มละลายที่อาจเกิดขึ้นได้ในท้ายที่สุด” เบรนาร์ดระบุ

การล่มสลายของบริษัทให้กู้ยืมคริปโท ‘Three Arrows Capital ’เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำให้ผู้กำหนดนโยบายต้องกระชับช่องโหว่เกี่ยวกับแพลตฟอร์มดังกล่าวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามข้อกำหนดสำหรับการเงินแบบดั้งเดิม แพลตฟอร์มที่ให้บริการทั้งการเงินแบบกระจายอำนาจและแบบรวมศูนย์ไม่ควรได้รับการปฏิบัติด้วยข้อยกเว้นที่แตกต่างกัน

DeFi คือ ความท้าทายใหม่ เนื่องจากลักษณะการทำงานแบบ peer-to-peer ของระบบการเงินดังกล่าว การไม่มีตัวตนที่ผ่านการตรวจสอบและอีกมากมาย และความกังวลเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถเป็นช่องว่างในการก่ออาชญากรรมทางการเงินที่อาจเกิดขึ้น

“การแลกเปลี่ยนทรัพย์สินโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งทำให้เราไม่ทราบถึงแหล่งที่มาของเงินทุน นั่นไม่เพียงแต่เป็นช่องว่างในการทำโจรกรรม แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงของการโจรกรรม การแฮ็ก และการโจมตีเรียกค่าไถ่อีกด้วย “ เบรนาร์ดระบุ

ธนาคารมีส่วนร่วมเพิ่มขึ้นในคริปโทและสเตเบิลคอยน์ ตั้งแต่การเป็นสิทธิประโยชน์ของลูกค้า ไปจนถึงการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า อาจจุดประกายให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเงินได้ เนื่องจากธนาคารมักทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างบริษัทสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ใช้ 

แม้ว่าความเชื่อมโยงระหว่างคริปโท และระบบการเงินหลักยังไม่ถึงระดับที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงเท่าที่มีความกังวล แต่เรื่องเกี่ยวกับสถาบันการเงิน ธนาคารที่เกี่ยวข้อง และผู้ออก สเตเบิลคอยน์คือสิ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลควรให้ความสนใจ