ส่งออก "เครื่องปรุงรส" โกยเงินเข้าไทยรายได้พุ่ง ประเทศไหนซื้อเยอะสุด?
หนึ่งในกลุ่มสินค้าที่ไทยส่งออกและโกยรายได้เข้าประเทศได้อย่างโดดเด่น ได้แก่ หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ปีนี้ขยายตัวได้ 27.7% มีมูลค่ารวม 2,163 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีสินค้าสำคัญ คือ "เครื่องปรุงรส"
ภาวะ "เศรษฐกิจถดถอย" ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจและภาคธุรกิจทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะภาคธุรกิจส่วนใหญ่พบว่ารายได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ไม่ใช่กับผู้ส่งออกสินค้ากลุ่ม "เครื่องปรุงรส" ของไทย ที่ปีนี้ทำรายได้พุ่งแรงแซงโค้งธุรกิจอื่นๆ จนน่าอิจฉา!
ย้อนกลับไปเมื่อปลายปีที่แล้ว กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยข้อมูลว่า สิ่งปรุงรสอาหารไทยเป็นสินค้ามาแรงช่วงโควิด ดันยอดส่งออกตลาดโลก ปี 2564 พุ่งถึง 949.11 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 12% เผยไทยครองแชมป์ผู้ส่งออกเป็นอับดับ 4 ของโลก รองจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน
ตลาดสิ่งปรุงรสอาหารไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เพราะผู้บริโภคในต่างประเทศนิยมอาหารไทยมากขึ้น จึงเป็นปัจจัยหนุนให้มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยเติบโตในระยะยาว โดยสินค้าส่งออกกลุ่มเครื่องปรุง เติบโตได้ดีเกือบทุกรายการ อาทิ ซอสพริก ขยายตัว 37% ซอสถั่วเหลือง ขยายตัว 27% น้ำปลา ขยายตัว 20% ผงปรุงรส ขยายตัว 11% และสิ่งปรุงรสอื่นๆ ขยายตัว 6%
ถัดมาในไตรมาสแรกของปีนี้ ณ เดือนมีนาคม 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนมีนาคม 2565 ขยายตัวได้ 19.5% มีมูลค่ารวม 28,859.6 ล้านดอลลาร์ (922,313 ล้านบาท) ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าการส่งออกสูงที่สุดในรอบ 30 ปี
โดยหนึ่งในกลุ่มสินค้าที่ไทยส่งออกและโกยรายได้เข้าประเทศได้อย่างโดดเด่น ได้แก่ หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ที่ปีนี้การส่งออกขยายตัวได้ 27.7% มีมูลค่ารวม 2,163 ล้านดอลลาร์ มีสินค้าสำคัญ คือ
- น้ำมันพืช
- น้ำตาลทราย
- เครื่องปรุงรส
- อาหารสัตว์เลี้ยง
- อาหารทะเลกระป๋อง
- อาหารทะเลแปรรูป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ส่งออก มี.ค. 2565 มูลค่าพุ่งสูงสุดในรอบ 30 ปี
เมื่อเจาะลึกลงไปในหมวด “เครื่องปรุงรส” ของประเทศไทย มีข้อมูลล่าสุดในเดือน พ.ค. 2565 พบว่า มีความต้องการสินค้าเพิ่มสูงมากขึ้นจากลูกค้าต่างประเทศในแถบยุโรป สหรัฐ และเอเชีย โดยเฉพาะเครื่องปรุง 5 ชนิดที่มียอดรายได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยปีนี้ทำรายได้เพิ่มสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว เมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน ระหว่างเดือน ม.ค. - พ.ค. ปี 2564 และเดือน ม.ค. - พ.ค. 2565)
ยืนยันจากข้อมูลในรายงาน “ตลาดส่งออกของไทย กระทรวงพาณิชย์” ล่าสุด ณ เดือน พ.ค. 2565 ที่แยกตามหมวดหมู่สินค้า (อ้างอิง : รายงานตลาดส่งออกไทย กระทรวงพาณิชย์) ระบุเอาไว้ดังนี้
- ซอสปรุงรส
มูลค่าส่งออกปี 2564 : 2,129.65 ล้านบาท
มูลค่าส่งออกปี 2565 : 3,083.35 ล้านบาท
กลุ่มประเทศผู้ซื้ออันดับ 1 : สหรัฐอเมริกา , อันดับ 2 : ลาว , อันดับ 3 : เยอรมนี , อันดับ 4 : เนเธอร์แลนด์ , อันดับ 5 : มาเลเซีย
- ซอสพริก
มูลค่าส่งออกปี 2564 : 1,500.37 ล้านบาท
มูลค่าส่งออกปี 2565 : 2,300.97 ล้านบาท
กลุ่มประเทศผู้ซื้ออันดับ 1 : สหรัฐอเมริกา , อันดับ 2 : เยอรมนี , อันดับ 3 : มาเลเซีย , อันดับ 4 : สหราชอาณาจักร , อันดับ 5 : เนเธอร์แลนด์
- ซอสถั่วเหลือง
มูลค่าส่งออกปี 2564 : 502.26 ล้านบาท
มูลค่าส่งออกปี 2565 : 661.97 ล้านบาท
กลุ่มประเทศผู้ซื้ออันดับ 1 : สหรัฐอเมริกา , อันดับ 2 : ลาว , อันดับ 3 : เนเธอร์แลนด์ , อันดับ 4 : ออสเตรเลีย , อันดับ 5 : เวียดนาม
- ผงปรุงรส
มูลค่าส่งออกปี 2564 : 2,805.11 ล้านบาท
มูลค่าส่งออกปี 2565 : 3,122.56 ล้านบาท
กลุ่มประเทศผู้ซื้ออันดับ 1 : ฟิลิปปินส์ , อันดับ 2 : สหรัฐอเมริกา , อันดับ 3 : กัมพูชา , อันดับ 4 : เมียนมา , อันดับ 5 : มาเลเซีย
- น้ำปลา
มูลค่าส่งออกปี 2564 : 919.01 ล้านบาท
มูลค่าส่งออกปี 2565 : 1,139.06 ล้านบาท
กลุ่มประเทศผู้ซื้ออันดับ 1 : สหรัฐอเมริกา , อันดับ 2 : เมียนมา , อันดับ 3 : ลาว , อันดับ 4 : ญี่ปุ่น , อันดับ 5 : ออสเตรเลีย
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับหนุนตัวเลขการส่งออก คือ การส่งเสริมผ่านนโยบายซอฟพาวเวอร์ของกระทรวงพาณิชย์ ที่ผลักดัน 4 กลุ่มสินค้าสำคัญ คือ อาหาร ดิจิทัลคอนเทนต์ สุขภาพความงาม และสินค้าที่มีจุดขายเป็นอัตลักษณ์ของไทย
โดยในครึ่งปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 กระทรวงพาณิชย์ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยด้าน Soft Power ไปแล้วทั้งอบรมให้ความรู้และช่วยเหลือให้การส่งออกบรรลุผลจำนวน 1,878 ราย การจัดทำมาตรการเชิงรุกด้านการบริหารจัดการผลไม้ มีผลทำให้ตัวเลขการส่งออกในภาพรวมของปีนี้เป็นบวก
------------------------------------
อ้างอิง : กรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, มูลค่าส่งออกซอส, มูลค่าส่งออกซอสพริก, มูลค่าส่งออกซอสถั่วเหลือง, มูลค่าส่งออกผงปรุงรส, มูลค่าส่งออกน้ำปลา