ผ่างบอุ้มพลังงาน 2 แสนล้าน “คลัง” เฉือนภาษีสู้วิกฤติน้ำมัน

ผ่างบอุ้มพลังงาน 2 แสนล้าน “คลัง” เฉือนภาษีสู้วิกฤติน้ำมัน

ครม.ต่อมาตรการลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท อีก 2 เดือน รวมลด 3 ครั้ง รวมรัฐเสียรายได้ 5.7 หมื่นล้าน ช่วยต่อลดหายใจกองทุนน้ำมัน เผยวงเงินดูแลพลังงาน 2 ปีครึ่ง ช่วง “โควิด-สงคราม” 2 แสนล้าน เฉพาะ 5 เดือนแรกปีนี้ดูแลน้ำมัน 5.3 หมื่นล้านบาท “สุพัฒนพงษ์” ยืนยันรัฐบาลดูแลเต็มที่ 

สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.2565 ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ในระดับสูง และส่งผลให้หลายประเทศเจอปัญาหาเงินเฟ้อ รวมถึงประเทศไทยที่อัตราเงินเฟ้อทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี

การดูแลเสถียรภาพพลังงานของประเทศไทยใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 10 ก.ค.2565 ติดลบ 110,917 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • บัญชีน้ำมันติดลบ 72,534 ล้านบาท
  • บัญชีแอลพีจีติดลบ 38,383 ล้านบาท

ผ่างบอุ้มพลังงาน 2 แสนล้าน “คลัง” เฉือนภาษีสู้วิกฤติน้ำมัน รวมทั้งที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล รวม 3 ครั้ง เพื่อลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกระทบรายได้รัฐ 57,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 

1.ลดภาษี 3 เดือน ระหว่างวันที่ 18 ก.พ.-20 พ.ค.2565 ลดลงลิตรละ 3 บาท กระทบรายได้รัฐ 17,000 ล้านบาท

2.ลดภาษี 2 เดือน ระหว่างวันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค.2565 ลดลงลิตรละ 5 บาท กระทบรายได้รัฐ 20,000 ล้านบาท

3.ลดภาษี 2 เดือน ระหว่างวันที่ 21 ก.ค.-20 ก.ย.2565 ลดลิตรละ 5 บาท กระทบรายได้รัฐ 20,000 ล้านบาท

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันครั้งที่ 3 ได้รับควมเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (12 ก.ค.) โดยเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกันในอัตราลิตรละ 5 บาท อีกเป็นเวลา 2 เดือน จากเดิมที่จะสิ้นสุดมาตรการวันที่ 20 ก.ค.2565

“มาตรการนี้จะส่งผลให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้จากภาษีน้ำมันดีเซลได้ลดลงเดือนละ 1 หมื่นล้านบาท รวม 2 เดือนสูญเสียรายได้ 2 หมื่นล้านบาท แต่กระทรวงการคลังได้รายงาน ครม.ว่าการลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตลงอัตราดังกล่าวจะช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชนลงได้ เพราะหากไม่ลดภาษีสรรพสามิตลงในอัตรานี้ราคาน้ำมันดีเซลจะปรับเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5 บาท ซึ่งผลกระทบต่อราคาสินค้า การขนส่ง และต้นทุนของภาคธุรกิจได้” นายธนกร กล่าว

 

ลดภาษีต่อลมหายใจกองทุน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลิตรละ 5 บาท ออกไปอีก 2 เดือน เป็นมาตรการที่ดีเพราะช่วยลดภาระการอุดหนุนเงินจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้ดี และยังช่วยให้ระดับราคาน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ปรับเพิ่มขึ้นมากไปกว่าในระดับปัจจุบันที่่จำหน่ายที่ราคาลิตรละ 35 บาท จากการอุดหนุนปัจจุบันที่ลิตรละ 3 บาท 

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานไม่นิ่งนอนใจ โดยจะมอนิเตอร์ราคาน้ำมันตลอดทุกวัน เพราะหากราคาปรับขึ้นก็อาจต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะปรับขึ้นราคาดีเซลตามมติครม.มาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล 50% ในส่วนที่ราคาขายสูงกว่าลิตรละ 35 บาท หรือไม่

“หากมองในสภาวะราคาน้ำมันตลาดโลกขณะนี้ บวกกับการต่ออายุการลดภาษีไปอีก ถือว่าช่วยลดภาระกองทุนน้ำมันได้ระดับหนึ่ง ต้องเข้าใจว่าเงินเข้ากองทุนน้ำมันไม่ได้เยอะ แต่รายจ่ายยังคงมีมากอยู่ และหากเลวร้ายราคาน้ำมันโลกขยับขึ้น การอุดหนุนก็ต้องปรับเพิ่มมากขึ้นจากจำนวนผู้ใช้น้ำมันวันละกว่า 60 ล้านลิตร” แหล่งข่าว กล่าว

“พลังงาน”เร่งเจรจาโรงกลั่น

ทั้งนี้ กองทุนน้ำมันยังต้องหาแหล่งเงินมาเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันอีก เพราะการติดลบกว่า 100,000 ล้านบาท ถือเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก อีกทั้งความสามารถในการชำระเงินในช่วงนี้เรียกได้ว่าลำบากมาก กระทรวงพลังงานจึงได้เร่งเจรจากับกลุ่มโรงกลั่นเพื่อหวังว่าจะได้เงินมาช่วยเติมเข้าระบบ แต่การดำเนินการจะต้องรอบคอบโดยเฉพาะข้อกฎหมาย ส่วนเรื่องเงินกู้ยังคงเดินหน้ากู้เงินก้อนแรก 20,000 ล้านบาทเข้าระบบ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้

“ตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เดิมเคยกำหนดเพดานวงเงินกู้ไว้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท แต่ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง วรรค 3 ขยายกรอบเพดานเงินกู้ได้ตลอดเวลาตามความเหมาะสม ซึ่งขณะนี้กองทุนน้ำมันได้ขออยายกรอบวงเงินกู้ไว้แล้วที่ 30,000 ล้านบาท แต่ยังอยู่ในขั้นตอนของการขอกู้เงิน ซึ่งก็ยังไม่ได้มีการกู้เงินเลยแม้แต่ก้อนเดียว ดังนั้นการขอขยายกรอบวงเงินกู้ตอนนี้ก็ยังไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น”

นายกฯห่วงกฎหมายดึงค่ากลั่น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความคืบหน้าในการหารือกับเอกชนเพื่อดึงค่าการกลั่นจากเอกชนมาช่วยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องดูว่าจะเป็นรูปธรรมได้มากน้อยแค่ไหน เพราะมีการเรียกร้องให้ใช้ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อกำหนดค่ากลั่นให้นำเงินเข้าช่วยเหลือกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ต้องไปดูกฎหมายว่าทำได้หรือไม่และต้องฟังเอกชนชี้แจงด้วย

“การใช้ พ.ร.บ.ฉบับใดต้องระมัดระวังอย่างที่สุด เพราะไม่ได้มีแค่ผู้ประกอบการไทยแต่มีผู้ประกอบการต่างประเทศด้วย และต้องไปพิจารณาค่าการกลั่นให้เหมาะสมเข้าใจหรือไม่ และวันนี้ก็พยายามทำ” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมันอาจจะช้าในขั้นตอนการดำเนินการ เพราะการที่โรงกลั่นจะให้เงินมาต้องตรวจสอบว่าทำได้หรือไม่ โดยเฉพาะการที่ไม่เป็นความผิดกฎหมายเพราะกลุ่มโรงกลั่นเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่วนภาษีลาภลอยอาจต้องดูยาวๆ ในการออกพระราชกำหนด ดังนั้น กระทรวงพลังงานจะทำงานในลักษณะขอความร่วมมือมากกว่าและจะได้ข้อสรุปในเดือน ก.ค.2565

 

วงเงินดูแลพลังงาน2แสนล้าน

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า กระทรวงพลังงานได้สรุปข้อมูลการช่วยเหลือด้านพลังงานให้ประชาชนช่วงวิกฤติโควิด-19 ถึงช่วงวิกฤติพลังงาน ตั้งแต่ปี 2563 ถึงเดือน พ.ค.2565 ใช้วงเงิน 206,903 ล้านบาท แบ่งเป็น

1.ผู้ใช้น้ำมัน วงเงิน 69,510 ล้านบาท โดยตรึงราคาน้ำมันดีเซล ให้อยู่ในกรอบไม่เกิน 30-35 บาทต่อลิตรในปัจจุบัน, ลดการเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน, ปรับสัดส่วนผลสมไบโอดีเซลเหลือ B5, ผู้ประกอบการค้าน้ำมันคงค่าการตลาดน้ำมันกลุ่มดีเซลไม่เกินลิตรละ 1.4 บาท, ปรับลดภาษีสรรพสามิต และช่วยเหลือกลุ่มขับขี่รถจักรยานยนต์ที่มีใบอนุญาต

2.ก๊าซหุงต้ม วงเงิน 31,635 ล้านบาท โดยตรึงราคาขายปลีกนานกว่า 2 ปี และทยอยขึ้นราคาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565 กิโลกรัมละ 1 บาท, ช่วยผู้มีรายได้น้อย 3.63 ล้านคน ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จากเดิมคนละ 45 บาท/3 เดือน เป็นคนละ 100 บาท/3 เดือน, ขยายเวลาช่วยส่วนลดราคา LPG กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอย โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ

3.ไฟฟ้า วงเงิน 101,035 ล้านบาท ประกอบด้วย ปรับลดและตรึงค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ตลอดจนบริหารจัดการให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด, ลดค่าไฟฟ้าครัวเรือน และกิจการขนาดเล็ก รวม 22 ล้านราย และคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้ารวม 8 ล้านราย 

ทั้งนี้รัฐบาลได้ดูแลผู้ที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่าเดือนละ 300 หน่วย ที่ถือว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง 80% ของครัวเรือนทั้งประเทศให้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่เพิ่มขึ้นจากรอบเดือนไตรมาสที่ 1 ปี 2565

4.กลุ่มผู้ใช้ก๊าซ NGV วงเงิน 4,722 ล้านบาท ประกอบด้วย ตรึงราคาขายปลีกรถทั่วไป, ตรึงราคาขายปลีกรถสาธารณะ และตรึงราคาขายปลีกรถแท็กซี่ภายใต้โครงการ NGV เพื่อลมหายใจเดียวกัน ของ ปตท. กว่า 10 ล้านคน

 

เพิ่ม9มาตรการดูแลถึง ก.ย.

นอกจากนี้ รัฐบาลได้กำหนด 9 มาตรการช่วยเหลือด้านพลังงาน เพื่อบรรเทาภาระประชาชนในเดือน ก.ค.-ก.ย.2565 แบ่งเป็น 9 มาตรการ คือ

1.อุดหนุนราคาดีเซล 50% ส่วนที่เกิน 35 บาทต่อลิตร ผ่านกลไกกองทุนน้ำมันและภาษีสรรพสามิต 

2.คงส่วนผสมไบโอดีเซล B5

3.ขอความร่วมมือโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซ นำส่งกำไรส่วนหนึ่งจากค่าการกลั่นดีเซลและเบนซินเข้ากองทุนน้ำมัน 

4.บรรเทาผลกระทบผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์สาธารณะไม่เกิน 250 บาทต่อคนต่อเดือน รวม 3 เดือน (พ.ค.-ก.ค. 2565) รวม 12.3 ล้านราย

5.ลดค่า Ft ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยูอาศัยและกิจการขนาดเล็กที่มียอดใช้ไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน (พ.ค.-ก.ค. 2565) จำนวน 18.81 ล้านราย 

6.ทยอยปรับราคา LPG ขึ้นเพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชน โดยมีราคาเป้าหมาย 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (ราคาเดือน ก.ค.อยู่ที่ 378 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม) รวม 20 ล้านครัวเรือน

7.ขยายเวลาช่วยเหลือส่วนลดราคา LPG กลุ่มหาบเร่ แผงลอย ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมกว่า 80,000 ราย 

8.ขยายเวลาช่วยเหลือส่วนลดราคา LPG ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวม 4 ล้านราย

9.คงราคา NGV ที่กิโลกรัมละ 13.62 บาท ให้กับแท็กซี่ภายใต้โครงการ NGV เพื่อลมหายใจเดียวกันและที่กิโลกรัมละ 15.59 บาท สำหรับรถทั่วไป รวมกว่า 300,000 คัน

ยืนยันรัฐบาลดูแลเต็มที่

นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ราคาน้ำมันดีเซลที่รัฐบาลช่วยตรึงถือว่าเกือบจะเรียกว่าต่ำมาก แม้จะทยอยปรับขึ้นมาบ้าง แต่ก็ตรึงอยู่ในระดับที่ประคับประคองท่ามกลางที่อัตราเงินเฟ้อจะมีผลต่อประชาชนในภาครวมด้านสินค้าราคาแพงที่เกิดขึ้น 

"อยากให้ประชาชนได้รับทราบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นทั้งโลก เป็นวิกฤตต่อเนื่องซ้อนวิกฤต ที่ทุกคนในโลกนี้ต้องเผชิญ รัฐบาลทั่วโลกได้พยายามทำอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ รัฐบาลไทยก็เช่นกัน และสินค้าใดจำเป็นต้องขึ้นราคาก็ต้องปรับให้สอดคล้องกับกลไกตลาดเสรี ในกลุ่มใดที่ได้รับผลกระทบก็จะมุ่งเป้าให้มากขึ้น เป็นทิศทางที่รัฐบาลจะพยายามรักษาไว้” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว