ข้อเสนอต่อรัฐในการรับมือ "เศรษฐกิจถดถอย-เงินเฟ้อสูง"

ข้อเสนอต่อรัฐในการรับมือ "เศรษฐกิจถดถอย-เงินเฟ้อสูง"

เศรษฐกิจโลกครึ่งหลังเสี่ยงถดถอย และเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงจนถึงปีหน้า ประเทศกำลังพัฒนารวมถึงไทยเสี่ยงได้รับผลกระทบสูง รัฐบาลไม่ควรประมาทสถานการณ์ และมุ่งใช้มาตรการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อจัดการเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียว

จากการประเมินของธนาคารโลกเมื่อ มิ.ย. ที่ผ่านมา พบว่า เศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังมีแนวโน้มขยายตัวน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ โดยโลกเผชิญความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโตต่ำ แต่เงินเฟ้อสูง

ทั้งนี้ ธนาคารโลกปรับประมาณการ GDP โลกปีนี้ลง จากที่เคยคาดการณ์เมื่อต้นปีว่า GDP โลกปีนี้จะขยายตัวที่ 4.1% เทียบกับปี 2021 ลดเหลือขยายตัวเพียง 2.9% เท่านั้น 

โดยประเทศพัฒนาแล้ว GDP ขยายตัวเฉลี่ยที่ 2.6% จากที่ประมาณการว่าขยายตัว 3.8% ส่วน GDP ของประเทศกำลังพัฒนาปีนี้ คาดว่าเฉลี่ยโตที่ 3.4% ต่ำกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา (ปี 2011-2019)

การปรับลดตัวเลข GDP โลกปีนี้ลงของธนาคารโลกสอดคล้องกับการประเมินจาก Morgan Stanley ที่คาดการณ์ GDP โลกปีนี้ว่าอยู่ที่ 2.9% เทียบกับปี 2021 ที่โต 6.2%

3 สาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอย เงินเฟ้อสูง ได้แก่

1. สงครามรัสเซีย-ยูเครน

2. มาตรการของรัฐบาลจีนในการรับมือปัญหาโควิด 19 

3. การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก

โดยสองปัจจัยแรกซ้ำเติมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากวิกฤตโควิด ซ้ำเติมปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานที่มีอยู่แต่เดิม เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการขนส่ง เพิ่มต้นทุนเศรษฐกิจและเงินเฟ้อให้กับทั้งโลก ขณะที่ปัจจัยที่สาม เกิดขึ้นเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ แต่เสี่ยงสร้างความถดถอยต่อเศรษฐกิจเพิ่มเติม

เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นอันเนื่องจากจากภัยสงคราม ส่งผลกระทบวงกว้าง กระทบรายได้ที่แท้จริงของภาคครัวเรือน กระทบต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่พึ่งพาพลังงานจากภายนอกประเทศ 

จากการประเมิน เชื่อว่าตลอดปีนี้เงินเฟ้อจะคงอยู่ในระดับสูงมากต่อไป และกว่าจะลดลงได้คือปีหน้า และแม้ปีหน้า เงินเฟ้อจะลดลง ก็จะยังสูงกว่ากรอบอัตราเงินเฟ้อที่หลายประเทศกำหนดไว้

ผลกระทบหลักตกกับประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศรายได้กลางและต่ำ

การถดถอยของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น กระทบหนักต่อประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศรายได้ขั้นกลางและต่ำ มีการประเมินว่า ผลจากโควิด 19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะทำให้รายได้ต่อหัวของประเทศกำลังพัฒนาเฉลี่ยลดลง 5% เทียบกับก่อนมีสถานการณ์โควิด 

จากการศึกษาของธนาคารโลก แม้ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศจะได้ประโยชน์จากรายได้ส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ หรือราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น แต่ประโยชน์ส่วนนั้นเมื่อหักลบกับปัญหาราคาพลังงานที่แพงขึ้น ประเทศกำลังพัฒนาก็ไม่เหลือประโยชน์ใดๆ หรือกลับเข้าเนื้อด้วยซ้ำ

ขณะที่นโยบายหลักของประเทศพัฒนาแล้ว ในการต่อสู้กับสงครามเงินเฟ้อ คือการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นของประเทศพัฒนาแล้วกลับส่งผลลบต่อประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจน เนื่องจากทำให้เงินทุนไหลออกจากประเทศกำลังพัฒนา ตลาดเงินและตลาดทุนตึงตัว กระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจ และผลตอบแทนในตลาดสินทรัพย์ต่างๆ ของประเทศกำลังพัฒนา ส่งผลให้กำลังซื้อประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจนถดถอย 

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาจะใช้การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเหมือนประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อสู้เงินเฟ้อและรักษาเงินทุนไม่ให้ไหลออก รัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาต้องใช้ความระมัดระวังในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า เพราะดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเสี่ยงกระทบรุนแรงต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อยในประเทศกำลังพัฒนามากกว่าคนกลุ่มอื่น 

ดังนั้นผลกระทบต่อกลุ่มคนรายได้น้อยสุด เป็นจุดสำคัญที่รัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนาต้องใส่ใจมากสุดหากจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ควรหามาตรการเสริมอื่นๆ นอกจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะมาตรการที่สนับสนุนภาคการผลิตให้สามารถดำเนินธุรกิจ ผลิตและจ้างงานต่อไป ภายใต้ต้นทุนต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น

ตัวอย่างมาตรการอื่นของรัฐนอกจากการขึ้นดอกเบี้ย 

1. ลดต้นทุนต่างๆ ที่รัฐเกี่ยวข้องหรือมาจากภาครัฐ เช่น ค่าเช่าอาคารสถานที่ต่างๆ ของรัฐสำหรับผู้มีรายได้น้อยหรือผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย ค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่รัฐเก็บจากธุรกิจขนาดกลางและเล็ก โดยอาจลด 3-6 เดือน เพื่อแบ่งเบาต้นทุนของภาคการผลิตให้ผ่านช่วงเงินเฟ้อสูงไปได้

2. รัฐบาลต้องเร่งลดอุปสรรคหรือข้อจำกัดทางการค้าระหว่างประเทศลงให้ได้มากสุด ไม่ว่าในรูปแบบภาษีหรือมิใช่ภาษี เพื่อลดทอนผลกระทบทางด้านต้นทุนและเงินเฟ้อที่ส่งผ่านจากต่างประเทศ รัฐควรเร่งให้ความรู้ อำนวยความสะดวกผู้ประกอบการในการใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงการค้าฉบับต่างๆ ดังที่เห็นท่วงทำนองของรัฐบาลสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ที่เริ่มส่งสัญญาณอยากสงบศึกสงครามการค้ากับจีน 

3. รัฐต้องพยายามลดต้นทุนที่เกิดจากกฎหมาย หรือระเบียบของรัฐ ให้สะดวก รวดเร็ว ไม่ซับซ้อน ภาคเอกชน/ประชาชนไม่ต้องติดต่อราชการหลายครั้ง หลายหน่วยงาน กิจกรรมใดที่ให้ทำผ่านออนไลน์ได้ ควรอนุญาตให้ทำผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของภาคเอกชนได้มาก เช่น การจดทะเบียนธุรกิจ การต่ออายุใบอนุญาตต่างๆ

4. รัฐต้องมีมาตรการพุ่งเป้าดูแลผู้ได้รับผลกระทบเฉพาะกลุ่มจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มคนที่มีหนี้มาก อย่างเกษตรกร ครู ผู้กู้ซื้อบ้าน

สิ่งที่ต้องระวังสำหรับประเทศกำลังพัฒนารวมถึงไทย คือ ยามเศรษฐกิจโลกหดตัวและเงินเฟ้อสูง มักนำมาซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาที่สุขภาพเศรษฐกิจอ่อนแอ ดังตัวอย่างที่เราเห็นในศรีลังกาหรือลาว

รัฐบาลไทยไม่ควรประมาทสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และมุ่งใช้มาตรการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อจัดการเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียว ภายใต้ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่จะสูงต่อเนื่องจนถึงปีหน้า รัฐบาลต้องผสมผสานเครื่องมือต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสุด เพื่อเป็นกันชนให้เศรษฐกิจไทยและภาคธุรกิจไทยผ่านไปให้ได้