ภาคธุรกิจตั้งการ์ดเข้ม รับมือปัจจัยเสี่ยง "ต้นทุน-บาทอ่อน"
การขับเคลื่อนธุรกิจเวลานี้เต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงทั้งสถานการณ์เงินบาทอ่อนค่า ต้นทุนพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ในสภาพไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ผู้ประกอบการหลากหลายวงการฉายมุมมองและแนวทางตั้งรับ
ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อนค่าส่งผลบวกต่อภาคท่องเที่ยวไทย เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเข้ามาใช้จ่ายได้มากกว่าเดิม ส่วนจะกระตุ้นมากน้อยแค่ไหน ยังต้องประเมินสถานการณ์เพิ่มเติม
เนื่องจากขณะนี้ “ไทย” และประเทศต้นทางเพิ่งทยอยประกาศเปิดประเทศ ภาพรวมเศรษฐกิจในแต่ละประเทศยังมีปัญหา ทำให้การเดินทางเที่ยวต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่าย ไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่กลุ่มทั่วไปยังคงไม่เดินทางท่องเที่ยว
“เวลานี้เป็นช่วงปรับปรุงและฟื้นฟูโครงสร้างการทำงานของภาคธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อเร่งฟื้นรายได้ หลังโควิด-19 ระบาดกว่า 2 ปี สร้างผลกระทบสูงมาก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภาวะสินค้าและบริการที่ปรับขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่เผชิญปัญหาเหมือนกันทั่วโลก ทำให้ภาพรวมการเดินทางยังไม่ฟื้นตัวมากนัก”
สำหรับเงินบาทที่อ่อนค่าลง อาจส่งผลให้คนไทยบางส่วนที่วางแผนเที่ยวต่างประเทศ ชะลอแผน เพราะต้องใช้จ่ายเงินมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้สามารถแลกเงิน 1 ดอลลาร์ ในอัตรา 32 บาท แต่ขณะนี้ต้องใช้เงินมากขึ้นในอัตรา 34-36 บาท
++ “ต้นทุนพุ่ง” อุปสรรครับทัวริสต์ Q4
มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า จากผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม เดือน มิ.ย.2565 จัดโดยสมาคมโรงแรมไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำรวจระหว่างวันที่ 13-26 มิ.ย. จากผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 137 แห่ง (รวมโรงแรมที่เป็น AQ, Hospitel และ Hotel Isolation) ระบุว่า ต้นทุนการดำเนินการสูงตามราคาสินค้าและพลังงานที่เพิ่มขึ้น เป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อการเตรียมรองรับปริมาณลูกค้าที่อาจเพิ่มมากขึ้นในช่วงไฮซีซั่นไตรมาส 4 ปีนี้
“ไตรมาส 4 ซึ่งเข้าสู่ไฮซีซั่น ปริมาณลูกค้าอาจเพิ่มขึ้นมาก ธุรกิจราว 3 ใน 4 (72%) เห็นว่าต้นทุนในการเปิดดำเนินการที่สูง เช่น ค่าสาธารณูปโภค ราคาสินค้าและพลังงานจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุด รองลงมา คือ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน (46%) และต้นทุนแรงงานที่อาจเพิ่มขึ้น (45%) ขณะที่ ผู้ประกอบการที่กังวลต่อปัญหา Supply chain และขาดแคลนเงินทุนคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่า”
++ จูงใจต่างชาติซื้ออสังหาฯ แต่ต้นทุนเพิ่มขึ้น
อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ริชี่เพลซ 2002 กล่าวว่า สถานการณ์เงินบาทอ่อนค่า น่าจะเป็นผลดีต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพราะต่างชาติซื้อได้ราคาถูกลง ยิ่งถ้าซื้อที่อยู่อาศัยราคา 10-20 ล้านบาท แต่ต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มโดยเฉพาะเหล็กราคาเพิ่มขึ้น 10% ยกตัวอย่าง คอนโดมิเนียมของริชี่เพลซ ที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จจากเดิมที่ต้นทุนราคาเหล็กอยู่ที่ 20 บาท/ กก. ขยับไป 28 บาท สะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องสั่งเหล็กมาจากต่างประเทศรวมทั้งวัสดุอื่นๆ เช่น ส่วนผสมของสี สายไฟ ทองแดง ฯลฯ คาดว่าทำให้ต้นทุนเพิ่ม 5-10%
“นักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะได้ผลดีจากค่าบาทอ่อน ทำให้อยากเข้ามามากขึ้น ส่วนการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นคงขึ้นไม่มาก เพราะประชาชนจะเดือดร้อน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจทยอยขึ้น 2-3 รอบตามความเหมาะสม”
ที่ผ่านมาไทยเคยมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ถึง 16% ช่วงที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 หลังจากนั้นมาคาอยู่ที่ 7% นานมาก เรียกได้ว่าอยู่ในฐานที่ต่ำ ทั้งนี้จะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ไม่ได้เพราะเงินจะไหลออกนอกประเทศ แต่ต้องยอมรับว่าจะได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อย เพราะทำให้คนต้องประหยัดขึ้น
ส่วนความรุนแรงเรื่องเงินเฟ้อกระทบต้นทุน ยังมีข่าวดีในแง่การส่งออกที่เพิ่มขึ้นทำให้มีเงินมาซื้อพลังงานและ โชคดีที่เป็นประเทศที่ผลิตอาหารมั่นใจว่าไม่เกิดปัญหาการแย่งชิงอาหาร ขณะที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่เข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นสัญญาณบวก หากมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในไตรมาส4 ปีนี้น่าจะเป็นข่าวดีในการกระตุ้นกำลังซื้อคนในประเทศ
ส่วนแนวทางการช่วยเหลือลูกค้าที่ผ่อนบ้าน ด้วยการขอโปรโมชันธนาคารราคาพิเศษให้กับลูกค้า ส่วนดีเวลลอปเปอร์อาจต้องลดราคาลงบ้างเพื่อทำให้ลูกค้าจ่ายเงินน้อยลง เพื่อผ่อนภาระให้ลูกค้า และเพิ่มพื้นที่ส่วนกลางมากขึ้น เพื่อรองรับการใช้ชีวิตหรือการให้เฟอร์นิเจอร์กับลูกค้าทำให้ลูกค้าไม่ต้องซื้อเพิ่ม เป็นต้น
++ ผู้ประกอบการเสมอตัวเหตุนำเข้าวัตถุดิบแพงขึ้น
เกศมณี เลิศกิจจา นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สถานการณ์เงินบาทอ่อนค่าแตะระดับ 36 บาท/ดอลลาร์ ผู้ผลิตเครื่องสำอางไม่ได้รับประโยชน์มากนัก เนื่องจากอีกขาหนึ่งของการผลิตต้องนำเข้าวัตถุดิบจำเป็น เช่น กลีเซอรีน สารลดแรงตึงผิว(Surfacant) ปาล์มที่ใช้ผลิตสบู่ฯ จากต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนถึง 90%
ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตสินค้าโดยเฉลี่ยพุ่งไม่ต่ำกว่า 30-40% เมื่อหักลบตัวแปรค่าเงินที่เปลี่ยนแปลง จึงค่อนข้างจะเสมอตัว
“เครื่องสำอางมูลค่าแสนล้านบาท ส่วนใหญ่ผลิตตอบสนองผู้บริโภคในประเทศราว 60% และส่งออกราว 40% การที่เงินบาทอ่อนค่าขึ้นต่อเนื่องอาจส่งผลดีต่อการส่งออก แต่การผลิตสินค้าเราต้องนำเข้าวัตถุดิบจำเป็นหลายตัวจากต่างประเทศ พอเงินบาทอ่อนค่า การนำเข้าจึงได้รับผลกระทบสวนทางกับการส่งออกที่ได้อานิสงส์”
รายงานข่าวจากบริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่สินค้าความงาม และเครื่องสำอาง ฯ ระดับโลก สินค้าที่จำหน่ายในประเทศไทยล้วน “นำเข้า” จากต่างประเทศทั้งสิ้น บริษัทไม่มีโรงงานผลิตในไทย สถานการณ์เงินบาทอ่อนค่า บริษัทมีการบริหารจัดการค่าเงินล่วงหน้าแล้ว
++ เข้มบริหารจัดการรับความผันผวน
พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA กล่าวว่า เงินบาทที่อ่อนค่าแม้บริษัทจะส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” ไปต่างประเทศราว 30% แต่อีกด้านได้มีการนำเข้าวัตถุดิบการผลิตสินค้าจากต่างแดนเช่นกัน เช่น แป้งสาลีต้องนำเข้า 100% แม้จะมีโรงงานผลิตแป้งสาลีในเครือ แต่ต้องซื้อจากบริษัทภายนอกด้วย
“สถานการณ์นำเข้าวัตถุดิบ ยังเผชิญต้นทุนพุ่งต่อเนื่อง แป้งสาลีราคากระโดดขึ้น 2 เท่าตัว และมีแนวโน้มขยับเพิ่มอีกเล็กน้อย”
การนำเข้าได้รับผลกระทบจากเงินบาทอ่อนค่า แต่การส่งออกสามารถขายได้ในราคาดีขึ้น แต่ยังมีเพดานการปรับราคากับลูกค้า เพราะอีกมิติ ลูกค้าเดือดร้อนจากการซื้อสินค้าแพงขึ้น อาจส่งผลให้การสั่งซื้อน้อยลง รวมถึงราคาแพงทำให้สูญเสียขีดความสามารถด้านการแข่งขันในตลาดด้วย กรณีลูกค้าแบกรับภาระต้นทุน สินค้าแพงไม่ไหว อาจต่อรองขอลดราคาลง
“ถือว่าเสมอตัว เพราะบริษัทมีทั้งนำเข้าวัตถุดิบ และส่งออกสินค้า ขณะที่การปรับตัว เชื่อว่าผู้ประกอบการมีความสามารถอยู่แล้ว ตอนเงินบาทแข็งค่าแตะ 28 บาท ยังพอค้าขายได้"
ทั้งนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการมอง คือการบริหารจัดการหรือดูแลค่าเงินมีให้มีเสถียรภาพ เพราะช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินผันผวนรุนแรงเกินไปจาก 33 บาท เป็น 36 บาทต่อดอลลาร์ เพราะระยะเวลา 2 เดือน ในแง่การค้าขายปรับตัวค่อนข้างยาก แต่ละรายมีศักยภาพในการปรับตัวเร็ว-ช้าแตกต่างกัน หากรายใดปรับตัวไม่ทันกับค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงจะประสบปัญหาได้”