เครดิตบูโรย้ำ “ไม่มีการบังคับ”สหกรณ์ เข้าเป็น สมาชิกเครดิตบูโร
เครดิตบูโรขอชี้แจง “ไม่มีการบังคับสหกรณ์ที่มีธุรกรรมสินเชื่อต้องเข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโร” จากกรณีความเห็นเกี่ยวกับ “ร่างกฎกระทรวง การบริหารจัดการ และการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน
ตามที่ปรากฏข่าวจากหลายสำนักเกี่ยวกับงานจัดเวทีเสวนา เรื่อง “ร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับที่ 2 มุมมองของคนสหกรณ์ จะไปต่อหรือพอแค่นี้ ?” และรับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (ร่างกฎกระทรวง การบริหารจัดการ และการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ..) โดย สสท. ความตอนหนึ่งสรุปผลการถก และเสนอความคิดเห็นระบุ ถึงประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสหกรณ์ และสมาชิกจากร่างกฎกระทรวงฯ อันเกี่ยวกับการตรวจสอบข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิต (เครดิตบูโร)
ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต ว่า “ร่างกฎกระทรวงฯ ได้กำหนดให้การกู้เงินทุกประเภทที่เกิน 2 ล้านบาท จะต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบเครดิตบูโร ส่งผลให้สมาชิกเข้าสู่ระบบการกู้เงินของสหกรณ์ได้ยากขึ้น เนื่องจากมีระบบการตรวจสอบ ที่เข้มข้นแต่ระบบสหกรณ์เป็นระบบที่มีความพิเศษแตกต่างจากธนาคาร และสถาบันการเงินอื่นๆ
เช่น สหกรณ์มีการค้ำประกันโดยสมาชิก มีทุนเรือนหุ้น มีเงินฝาก และสามารถหัก ณ ที่จ่ายได้ การบังคับเข้าระบบเครดิตบูโร อาจส่งผลกระทบต่อสมาชิกโดยตรง
คือ สมาชิกส่วนใหญ่อาจจะกู้ไม่ได้ หรือกู้ได้ยากขึ้น และเป็นการผลักดันให้สมาชิกต้องกู้นายทุน และกู้นอกระบบ ที่ดอกเบี้ยแพง ส่งผลต่อปากท้องของประชาชนคนรากหญ้า...........”
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ขอชี้แจงทำความเข้าใจต่อกรณีดังกล่าวว่า “จากความเห็นข้างต้นประกอบถ้อยคำของร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 6. (1) ที่กำหนดว่า
"การให้กู้ยืมเงินที่รวมกันทุกสัญญาแล้วตั้งแต่สองล้านบาทขึ้นไป สหกรณ์ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ให้สมาชิกผู้กู้ส่งข้อมูลเครดิตจากบริษัทข้อมูลเครดิตตามกฎหมายว่า ด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตเพื่อประกอบการพิจารณาให้เงินกู้” นั้น
จะเห็นได้ว่าร่างกฎกระทรวงฯ ระบุให้ผู้กู้มาตรวจสอบข้อมูลของตนเองที่เครดิตบูโร (ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตคือ การใช้สิทธิตรวจสอบข้อมูลของเจ้าของข้อมูลตามมาตรา 25) แล้วนำส่งให้แก่สหกรณ์ที่ตนเองขอกู้ยืมเพื่อประกอบการพิจารณา
มิใช่การบังคับให้สหกรณ์เข้าระบบเครดิตบูโร กรณีการนำสหกรณ์เข้าสู่ระบบเครดิตบูโรจะต้องเป็นการที่สหกรณ์มาสมัครเป็นสมาชิกเครดิตบูโร สามารถเรียกดูข้อมูลตรงมายังเครดิตบูโรภายใต้ความยินยอมของผู้กู้ (ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตดำเนินการในฐานะสมาชิกตามมาตรา 20)
และต้องส่งข้อมูลประวัติการชำระหนี้สัญญาเงินกู้ด้วยทุกเดือน ซึ่งเป็นคนละกรณีกับร่างกฎกระทรวงฯ นี้โดยสิ้นเชิง และสหกรณ์นั้นๆ จะต้องสมัครใจ และมีความพร้อมจึงจะเข้าระบบเครดิตบูโรได้"
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีสหกรณ์ออมทรัพย์หลายรายที่ได้เข้าสู่ระบบเครดิตบูโรแล้วในฐานะสมาชิกแม้ไม่มีร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้ ด้วยความสมัครใจเนื่องจากเห็นประโยชน์ในภาพรวมของการบริหารจัดการเงินฝากของสมาชิกที่นำมาปล่อยกู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ สหกรณ์หลายแห่งก็ยังดำเนินการออกเกณฑ์การกู้ยืมเงินโดยให้ผู้กู้มาตรวจสอบข้อมูลของตนเองที่เครดิตบูโรแล้วนำส่งให้แก่สหกรณ์ประกอบคำขอกู้เป็นปกติแม้วงเงินกู้ยืมไม่ถึงสองล้านบาทเช่นกัน
การที่ผู้ให้กู้ยืมนำข้อมูลจากเครดิตบูโรไปร่วมพิจารณาถึงความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อให้ได้เห็นวงเงินเป็นหนี้รวมตามความจริงว่าจะเป็นภาระในการผ่อนชำระแก่ผู้กู้มากเกินไปหรือไม่
ตามหลักการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) กล่าวคือ ผู้ให้กู้ยืมจะต้องดูให้แน่ใจว่าให้สินเชื่อไปแล้วคุณภาพชีวิตลูกหนี้ดีขึ้นหรือเลวลงนั่นเอง
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์