"นกแอร์" ฝ่าคลื่นความผันผวน สร้างบลูโอเชี่ยน หวังพลิกมีกำไรปี 67
เมื่อ “ความผันผวน” กับ “เศรษฐกิจโลก” กลายเป็นของคู่กัน! สารพัดปัจจัยต่างรุมกดดันการฟื้นตัวของธุรกิจ “สายการบิน” ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 จากการระบาดของโควิด-19 ที่ลากยาวเข้าสู่ปีที่ 3 ทั้งราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ สงครามรัสเซีย-ยูเครน และภาวะเศรษฐกิจถดถอย
กลายเป็น “วิกฤติซ้อนวิกฤติ” ที่ไม่อาจหลีกหนี และคาดการณ์ได้ยากลำบากกว่าครั้งไหนๆ !!!
วุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ความท้าทาย” ของธุรกิจสายการบินในช่วงครึ่งปีหลัง มีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ทั้งเรื่อง “ราคาน้ำมันแพง” ปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 170 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากระดับ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเมื่อเดือน ต.ค.2564 ทำให้สัดส่วนต้นทุนน้ำมันเพิ่มขึ้นจาก 40% ของค่าใช้จ่ายสายการบินทั้งหมดก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 เป็นมากกว่า 50% ในตอนนี้ พอมีปัจจัยการแข่งขันหรือ “สงครามราคา” กดดันเอาไว้ ทำให้สายการบินนกแอร์ไม่สามารถปรับราคาตั๋วบินได้
ปัจจัยเรื่อง “ค่าเงินบาท” ปัจจุบันอ่อนค่ากว่า 8% ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของสายการบิน ซึ่งส่วนใหญ่ต้องจ่ายด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันสถานการณ์ “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” ซึ่งทำให้มีการปิดน่านฟ้า สายการบินต่างๆ ต้องปรับแผนทำการบินเพื่อหลบเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง เปลี่ยนศูนย์กลางทางการบิน ส่งผลต่อการบินแบบเชื่อมต่อ (Connecting Flight)
แม้ธุรกิจสายการบินจะถูกห้อมล้อมไปด้วยสารพัดปัจจัยลบ แต่ปัจจัยบวกก็ยังพอมี อย่าง “นโยบายภาครัฐ” สนับสนุนการท่องเที่ยวและการลงทุนเพื่อดึงชาวต่างชาติเข้ามาจับจ่ายในประเทศไทยมากขึ้น รวมถึงนโยบายการเงินการคลัง โดยเฉพาะการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันอากาศยาน ซึ่งล่าสุดภาครัฐต่ออายุไปถึงสิ้นปี 2565 ทำให้นกแอร์ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ราว 500-600 ล้านบาทในช่วงครึ่งปีหลังนี้
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามนโยบายของ “ประเทศจีน” อย่างใกล้ชิด! เนื่องจากเป็นฐานตลาดใหญ่อันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย โดยในช่วงปลายปีนี้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีจีน ต้องดูว่าจะยังคงดำเนินนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” (Zero Covid) หรือไม่!
สำหรับแผน “ขยายฝูงบินและเส้นทางบิน” นกแอร์จะเช่าเครื่องบินโบอิ้ง B737-800 เพิ่มจำนวน 6 ลำในช่วงครึ่งหลังปี 2565 จนถึงปี 2566 จากปัจจุบันนกแอร์มีฝูงบินรวม 17 ลำ แบ่งเป็น โบอิ้ง B737-800 จำนวน 14 ลำ และเครื่องบินใบพัด รุ่น Q400 จำนวน 3 ลำ
“นกแอร์จะทยอยนำเครื่องบินโบอิ้ง 6 ลำใหม่ดังกล่าวเข้ามา ทันทีที่เริ่มเห็นดีมานด์การบินระหว่างประเทศฟื้นตัวมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีนและตลาดประเทศเพื่อนบ้าน หลังจากภาครัฐผ่อนปรนมาตรการคุมโควิด-19 ทำให้นกแอร์กลับมาทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศอีกครั้ง ประเดิมด้วย 2 เส้นทางในเดือน ก.ค.นี้ ได้แก่ กรุงเทพฯ-โฮจิมินห์ ซิตี้ และ กรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง”
วุฒิภูมิ เล่าด้วยว่า เพื่อหนีจากสงครามราคา!! นกแอร์จึงมุ่งสู่การเป็น “พรีเมียม แอร์ไลน์” (Premium Airline) เตรียมเปิดให้บริการเลาจน์ของตลาดเส้นทางบินในประเทศที่สนามบินดอนเมือง เหมือนกับสายการบินฟูลเซอร์วิส ภายในไตรมาส 4 ปีนี้รับไฮซีซั่น ด้วยพื้นที่ใช้สอยขนาด 250 ตารางเมตร ตกแต่งภายในด้วยคอนเซ็ปต์ 4 ภาคทั่วไทย รองรับผู้โดยสารกลุ่มองค์กร กลุ่มผู้ซื้อตั๋วแบบ Nok X-Tra และ Nok Max ส่วนผู้โดยสารทั่วไป ถ้าต้องการใช้บริการ สามารถจ่ายเพิ่มในราคาที่จับต้องได้
ทั้งนี้นกแอร์มีแผน “เพิ่มฐานปฏิบัติการบินใหม่” ที่สนามบิน “สุวรรณภูมิ” ด้วย เนื่องจากการแข่งขันราคาตั๋วบินยังต่ำ และมีสลอตหรือตารางการบินที่ดีเหลืออยู่มาก จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้สายการบินปรับลดซัพพลายเครื่องบิน จึงมีโอกาสเข้าไปแทนที่ จับจองสลอตดีๆ เหล่านั้น รองรับผู้โดยสารกลุ่ม Connecting Flight จากต่างประเทศในช่วงการบินฟื้นตัว ขณะเดียวกันยังสามารถเจาะฐานลูกค้าใหม่ เช่น กลุ่มองค์กรในแถบฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม และมองด้วยว่าสามารถทำการบินเส้นทางจากสุวรรณภูมิไปเมืองรองอื่นๆ ได้ เช่น ชุมพร ระนอง และสกลนคร ซึ่งปัจจุบันมีให้บริการเฉพาะที่สนามบินดอนเมือง
ธีรพล โชติชนาภิบาล ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เล่าเสริมว่า หนึ่งในกลยุทธ์ของนกแอร์คือการดึงตัวเองออกมาจาก “Red Ocean” ของการแข่งขันในสนามบินดอนเมือง และสร้าง “Blue Ocean” ของตัวเอง! เพราะทุกวันนี้คนส่วนใหญ่นึกถึงดอนเมืองว่าเป็นสนามบินของสายการบินต้นทุนต่ำ แต่ในความเป็นจริงมีตลาดข้าราชการและนิคมอุตสาหกรรมมาใช้บริการจำนวนมาก เรื่องราคาไม่ใช่ตัวขับเคลื่อนหลัก จึงเป็นที่มาของการพัฒนาบริการต่างๆ ในดอนเมืองเพิ่มเติมเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้
ด้านการขยาย “เส้นทางบินระหว่างประเทศ” นกแอร์ตั้งเป้าไว้ว่ากลางปี 2566 จะมีรายได้จากเส้นทางบินระหว่างประเทศเพิ่มเป็น 15% ของรายได้ทั้งหมด จากเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด นกแอร์เคยมีรายได้เส้นทางบินระหว่างประเทศกว่า 10% โดยเตรียม “เพิ่มความถี่เที่ยวบิน” ใน 2 เส้นทางที่เปิดให้บริการไปแล้ว ทั้งเส้นทาง กรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง เพิ่มจาก 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 10 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และเส้นทาง กรุงเทพฯ-โฮจิมินห์ ซิตี้ เพิ่มจาก 1 เที่ยวบินต่อวัน เป็น 2 เที่ยวบินต่อวัน ภายในสิ้นปีนี้
เส้นทางระหว่างประเทศอื่นๆ นกแอร์ได้ขอทำการบินเส้นทางสู่ประเทศอินเดีย 4 เมือง ได้แก่ นิวเดลี, มุมไบ, กัลกัตตา และไฮเดอราบัด ขึ้นอยู่กับการพิจารณาสิทธิการบิน หวังเริ่มบินได้ในไตรมาส 4 เพื่อรองรับดีมานด์นักท่องเที่ยวอินเดียซึ่งมาเที่ยวไทยมากเป็นอันดับ 1 ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้
ขณะที่ตลาดจีน ยังต้องรอการผ่อนปรนมาตรการเดินทางเพิ่มเติม หลังจากล่าสุดทางการจีนเพิ่มโควตาให้สายการบินในไทยสามารถทำการบินไปจีน 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ นกแอร์ได้ทำการบิน 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-เจิ้งโจว 1 เที่ยวบินต่อเดือน และ กรุงเทพฯ-หนานหนิง 1 เที่ยวบินต่อเดือน ส่วนเส้นทางบินอื่นๆ ที่สนใจทำการบิน มีทั้งเส้นทางไปมาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน และญี่ปุ่น (โตเกียว, โอซาก้า และฮิโรชิมะ) ซึ่งต้องรอให้ทางการญี่ปุ่นเปิดประเทศมากกว่านี้
สำหรับ “เส้นทางภายในประเทศ” ปัจจุบันนกแอร์เปิดครบทุกเส้นทางสู่ทุกจุดบินแล้ว แต่ยังไม่ครบ 100% เนื่องจากความถี่เที่ยวบินยังไม่กลับไปเท่าปี 2562 ต้องรอการฟื้นตัวของ “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” มาช่วย “เติมทราฟฟิก” โดยเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา มีความถี่เที่ยวบินในประเทศไม่ถึง 50% เมื่อเทียบกับปี 2562
ผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา นกแอร์มีอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 70% เพราะสายพันธุ์ “โอมิครอน” ระบาด กระทั่งฟื้นตัวดีขึ้นในเดือน พ.ค.-มิ.ย. มีเคบินแฟคเตอร์ค่อนข้างดีเฉลี่ย 80-85% จึงคาดว่าในครึ่งปีหลังนี้ จะมีเคบินแฟคเตอร์เฉลี่ย 80% โดยตลอดทั้งปีนี้นกแอร์จัดแคมเปญใหญ่ แจกรถเบนซ์ ทอง และตั๋วเดินทางในประเทศ เพื่อกระตุ้นยอดขายตั๋ว ผลตอบรับดี ยอดขายจากต่างจังหวัดพุ่งอย่างเห็นได้ชัด
ไต้ ซอง อี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า ประเมินว่านกแอร์จะ “เทิร์นอะราวด์” พลิกกลับมามีกำไรอีกครั้งในปี 2567 ตามการฟื้นตัวของธุรกิจการบินและที่ได้ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ
“ตามแผนฟื้นฟูกิจการ 5 ปี นกแอร์จะออกจากแผนฟื้นฟูฯในปี 2569 โดยจะมีเงินก้อนใหม่เข้ามา 3 ช่วง ได้แก่ ปี 2565 ได้รับเงินกู้จากผู้ถือหุ้นเพิ่มเติม 280 ล้านบาท เงินจากการเพิ่มทุนในปี 2566 จำนวน 600 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้เป็นกระแสเงินสด หมุนเวียนธุรกิจ และในปี 2569 จะเพิ่มทุนจำนวน 4,000 ล้านบาท รวมมีเงินก้อนใหม่เข้ามา 4,880 ล้านบาท”
และจากที่ศาลล้มละลายกลางเห็นชอบแผนฟื้นฟูฯ เมื่อ 29 ก.ย.2564 ด้วยจำนวนหนี้สินราว 2.7 หมื่นล้านบาท จากเจ้าหนี้ 16 กลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นหนี้จากการเช่าเครื่องบิน (รวมค่าเช่าล่วงหน้า) รวมหนี้เงินกู้จากผู้ถือหุ้นใหญ่ 2,700 ล้านบาท โดยปัจจุบันหนี้สินได้รับการปรับลดมูลค่าหนี้ (แฮร์คัท) และยืดชำระหนี้ โดยเฉพาะสัญญาซ่อมบำรุงส่วนที่ไม่ใช่เครื่องยนต์ ได้แฮร์คัทไป 40% ส่วนสัญญาซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ ได้แฮร์คัทไป 15%
“หลังจากเจรจากับเจ้าหนี้แล้ว นกแอร์มีหนี้สินภายใต้แผนฟื้นฟูฯที่ต้องจ่ายประมาณ 4,000 ล้านบาท”
ด้านจำนวนผู้โดยสารปีนี้ นกแอร์ตั้งเป้าไว้เกือบ 6 ล้านคน โดยในช่วง 6 เดือนแรกมีจำนวนผู้โดยสารสะสมแล้ว 1.8 ล้านคน หลังจากปี 2561 และ 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนโควิด-19 ระบาด มีจำนวนผู้โดยสาร 8.86 ล้านคน และ 8.25 ล้านคนตามลำดับ จากขนาดฝูงบินให้บริการ 24 ลำ ส่วนปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกที่เกิดโควิด มีจำนวนผู้โดยสาร 4.19 ล้านคน