TFG รุกรีเทล ขึ้นแท่นสตาร์ดวงใหม่ หนุมรายได้โต
“ทีเอฟจี” ปั้น “ธุรกิจรีเทล” ขึ้นแท่นสตาร์ดวงใหม่ วางเป้าเป็น “นิวเอสเคิร์ฟ” เสริมแกร่ง หนุนรายได้โตสม่ำเสมอ 3 ปี (65-67) สัดส่วนรายได้แตะ 30% ปีนี้รายได้โตอย่างมีนัยสำคัญ หลังราคา “ไก่-หมู” พุ่ง หลังดีมานด์ทั่วโลกสูงจากภาวะขาดแคลน
พลันที ! สงครามระหว่าง “รัสเซีย-ยูเครน” ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่ออุปทานอาหารทั่วโลก สะท้อนผ่าน “เนื้อไก่” ทั้งเนื้อดิบและปรุงสุกที่มี “ความต้องการ” (ดีมานด์) เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับหลายประเทศที่เป็นผู้ส่งออกเริ่มระงับการส่งออกบ้างแล้ว สะท้อนผ่าน กรณีประเทศมาเลเซียระงับส่งออกไก่ 3.6 ล้านตัวต่อเดือน โดยมีผล เมื่อ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อหวังแก้ปัญหาราคาไก่ในประเทศแพง จากต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น
เมื่อดีมานด์สูง , ค่าเงินอ่อนค่า , ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน และค่าระวางเรือพุ่ง สารพัด...ปัจจัยบวกดังกล่าว กำลังส่งผลดีต่อ บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG ผู้ผลิตอาหารแบบครบวงจรที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตไก่และสุกร โดยมีการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม
“เพชร นันทวิสัย” ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ถือเป็นปีทองของ TFG เนื่องจากธุรกิจเติบโตอย่างมีนัยสำคัญทั้งในและต่างประเทศ แต่ที่เติบโต “โดดเด่น” ต้องยกให้การส่งออก (Export) โดยเฉพาะตลาดยุโรปที่ขยายตัวระดับ 20% ขึ้นไปของปริมาณนำเข้า โดยปี 2565 คาดยอดส่งออกไก่ไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น 20% ทั้งในส่วนของไก่ดิบ ไก่แช่แข็ง และไก่ปรุงสุก
โดย “ธุรกิจเนื้อไก่” (เนื้อดิบและสุก) คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 40-50% คาดว่าปีนี้ “เนื้อไก่” ปริมาณการขายอยู่ที่ 75,000 ตัน เติบโต 25% จากปีก่อนอยู่ที่ 60,000 ตัน หลังดีมานด์เข้ามาจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้บริษัทมี “คำสั่งซื้อ” (ออเดอร์) ล่วงหน้าเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งเห็นตัวเลข ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565 สูงขึ้นมาก โดยเฉพาะ ยุโรป และ ยังเห็นออเดอร์ล่วงหน้าของประเทศญี่ปุ่น และจีน ที่เข้ามาในปริมาณที่สูงอีกด้วย
สำหรับ “ยุโรป” คาดว่าปีนี้จะส่งออกไปประมาณ 35,000 ตัน จากปีที่แล้วส่งออก 23,000 ตัน ส่วน ญี่ปุ่น-จีน ปีนี้คาดว่าจะส่งออกไปประมาณประเทศละ 18,000 ตัน จากปีก่อนที่ส่งออกไป 15,000 ตัน หรือเติบโตราว 20% และอีกประเทศที่เริ่มเห็นสัญญาณออเดอร์เข้ามาเพิ่มขึ้นโดดเด่นคือ ประเทศมาเลเซีย โดยปีนี้คาดว่าจะส่งออกไปราว 4,000 ตัน จากปีก่อนที่ส่งออกไปไม่ถึง 1,000 ตัน หรือเติบโต “3-4 เท่าตัว”
ขณะที่ “ไก่ปรุงสุก” ตลาดส่งออกหลักของบริษัทคือ ญี่ปุ่น แต่ปีที่แล้วบริษัทได้รับใบอนุญาต (ไลเซนส์) สามารถส่งออกไก่ปรุงสุกไปตลาดยุโรปด้วย รวมทั้งการเปิดตลาดเกาหลีใต้ ดังนั้น ปีนี้คาดว่าจะส่งออกไก่ปรุงสุกประมาณ 18,000 ตัน หรือเติบโต 20% จากปีก่อน 12,000 ตัน
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนศึกษาลงทุนในธุรกิจฟาร์มเลี้ยงไก่ในประเทศเวียดนาม โดยคาดว่าจะได้เห็นปลายปี 2566 คาดว่าจะทยอยใช้เงินลงทุนระดับ 500-1,000 ล้านบาท โดยเจาะตลาดในเวียดนามเป็นหลัก เนื่องจากปัจจุบันมีความต้องการสูงมาก
ส่วน “ธุรกิจเนื้อสุกร” (หมู) ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทมีการลงทุนไปมากแล้ว ดังนั้นปีนี้เริ่มเก็บเกี่ยวการลงทุนไปมากขึ้น สะท้อนผ่านโรงงานเนื้อหมูดิบที่ผลิตในไทยประมาณ 1.1 แสนตัน แต่ปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณขายแตะ 1.3 แสนตัน หรือ เติบโต 15% ส่วนโรงงานเนื้อหมูดิบที่ประเทศเวียดนาม ปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณขายราว 3.6 หมื่นตัน จากปีก่อน 1.8 หมื่นตัน
ทั้งนี้ บริษัทศึกษาขยายฟาร์มเลี้ยงหมูเพิ่มในประเทศเวียดนาม จากเดิมที่คาดว่าขยายฟาร์มเลี้ยงหมูไปในประเทศเมียนมา แต่ปัจจุบันติดปัญหาภายในประเทศเมียนมาทำให้บริษัทต้องศึกษาการลงทุนรูปแบบอื่นทดแทน ซึ่งคาดว่า 3 ปี ปริมาณขายหมูในเวียดนามแตะ “แสนตันต่อปี” จากเป้าหมายปีนี้ 3.6 หมื่นตัน คาดใช้เงินลงทุน 1,000-2,000 ล้านบาท เฉพาะการทยอยลงทุนเวียดนาม โดยบริษัทจะลงทุนเฉพาะโรงงานอาหารสัตว์ ส่วนฟาร์มเลี้ยงหมูใช้วิธีเช่าพื้นที่
“ธุรกิจอาหารสัตว์” ที่ผ่านมายังมีการเติบโตได้ดีระดับ 10% ในระยะ 5-7 ปี แต่อาจจะได้รับผลกระทบในเรื่องของผู้ประกอบการที่อาจจะลดลงไปบ้าง หลังจากต้นทุนวัตถุดิบแพง แต่ภาพรวมก็ยังเติบโตดีต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้คาดว่าธุรกิจดังกล่าวจะเติบโตได้ 10%
“เพชร” แจกแจงต่อว่า อีกหนึ่งธุรกิจน้องใหม่ล่าสุดของบริษัทคือ “ธุรกิจค้าปลีก” (รีเทล) ภายใต้แบรนด์ “ร้านไทย ฟู้ดส์ เฟรช มาร์เก็ต” ซึ่งบริษัทวางเป้าหมายเป็น “เอสเคิร์ฟ” (S-Curve) เพื่อมาต่อยอดความแข็งแกร่งธุรกิจเดิม และที่สำคัญบริษัทต้องการให้ธุรกิจค้าปลีกเข้ามากระจายความเสี่ยงของธุรกิจเดิมที่เป็นเหมือนธุรกิจคอมมูนิตี้ที่มีวัฏจักรขึ้นลงตามกลไกที่เหนือการควบคุม เนื่องจากธุรกิจค้าปลีกมี “กำไรขั้นต้น” (Gross Profit) ในระดับ 16-17% จากเดิมที่บริษัทมีกำไรขั้นต้นสูงสุดแค่ 10%
สะท้อนผ่าน ตัวเลขผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง (2562-2564) ค่อนข้างหวือหวาขึ้นลงตามราคาขายสินค้า “กำไรสุทธิ” อยู่ที่ 1,439.99 ล้านบาท 2,563.29 ล้านบาท และ 561.70 ล้านบาท ขณะที่รายได้ 29,105.51 ล้านบาท 31,702.08 ล้านบาท และ 35,074.25 ล้านบาท ตามลำดับ
โดยบริษัทวางเป้าหมาย 3 ปีข้างหน้า (2565-2567) สัดส่วนรายได้แตะ 30% ซึ่งอนาคตธุรกิจรีเทลจะเข้ามาลดผลกระทบสินค้าคอมมูนิตี้ (Community Effect) เนื่องจากบริษัทสามารถเพิ่มอัตรากำไรขึ้นต้น และมองเป็นโอกาสเพราะว่าบริษัทกำลังนำสินค้าอื่นๆ เข้ามาจำหน่ายในร้านค้าปลีกด้วย จากเดิมบริษัทจำหน่ายสินค้าตัวเองคิดเป็นเกือบ 100% แต่เมื่อปีก่อนบริษัทนำสินค้าของคนอื่นมาจำหน่ายด้วย ดังนั้นอนาคตสัดส่วนสินค้าของบริษัทจะเป็น 70% และอีก 30% จะเป็นสินค้าแบรนด์อื่นๆ
อย่างไรก็ตาม บริษัทตั้งเป้าขยายสาขาเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในต่างจังหวัด โดยปลายปีนี้คาดว่าจะมีสาขาทั้งหมด 250 สาขา จากปัจจุบันมีอยู่ 135 สาขา เพื่อช่วยกระจายผลิตภัณฑ์ของ TFG ให้ลูกค้ารายย่อยโดยตรงในราคาไม่แพง สามารถส่งต่อสินค้าคุณภาพในราคาเหมาะสม ซึ่งคาดว่ามีลูกค้าเข้ามาใช้บริการประมาณ 40,000 คนต่อวัน
สำหรับปี 2565 บริษัทปรับเป้ารายได้เติบโต 45,000 ล้านบาท เติบโต 10-15% จากต้นปีคาดโตอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย อีกทั้งยังได้รับปัจจัยหนุนจากราคาขายหมู และไก่ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ตามดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น
“แนวโน้มรายได้ปีนี้โตอย่างมีนัยสำคัญ จากการฟื้นตัวยอดขายและราคา โดยเฉพาะต่างประเทศ จากภาวะขาดแคลนอาหารที่เกิดขึ้นทั่วโลก”
ท้ายสุด “เพชร” บอกไว้ว่า เรามองการเติบโตธุรกิจต่อเนื่อง ขยายในส่วนของธุรกิจหมูและไก่ ทั้งในไทยและเวียดนาม พร้อมกันนี้ในส่วนของ Plant-based Foodบริษัทก็ไม่ได้ปิดกั้นโอกาสก็มีการศึกษาเช่นเดียวกัน