'กนอ.' โปรโมท 'นิคมฯ สงขลา' ชูศักยภาพชายแดนใต้รับลงทุน

'กนอ.' โปรโมท 'นิคมฯ สงขลา' ชูศักยภาพชายแดนใต้รับลงทุน

กนอ.เดินหน้าเตรียมแผนการตลาดดึงลงทุนนิคมอุตสาหกรรมสงขลา (สะเดา) ระยะที่ 1 และโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา เล็งส่งบริษัทลูกตั้งโรงผลิตไฟฟ้าเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมสงขลา (สะเดา) และนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จ. สงขลา เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่กนอ. ดำเนินงานเอง เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่รวมทั้งเป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน

"ขณะนี้หลายประเทศเริ่มทยอยเปิดประเทศแล้วจึงเป็นโอกาสดีของนักลงทุน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทยที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ได้เปรียบต่อการขนส่งสินค้าได้อย่างสะดวกทั้งทางบกและทางทะเล นอกจากนี้ การที่มาเลเซียมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำยังเป็นโอกาสให้ไทยรับการย้ายฐานการผลิตการลงทุนในพื้นที่ชายแดนไทยมากขึ้น"
 

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมสงขลา (สะเดา) มีการวางแผนก่อสร้างแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ฝั่งตะวันตก เนื้อที่ 927 ไร่ ปัจจุบันมีความพร้อมในการรองรับการลงทุน 100% โดยมีพื้นที่ให้เช่าประมาณ 345 ไร่ ซึ่งมีผู้ประกอบการเช่าพื้นที่เพื่อดำเนินธุรกิจแล้ว 3 ราย คิดเป็น 60% ของเนื้อที่ทั้งหมด เหลือพื้นที่ให้เช่าอีกเพียง 108 ไร่ ส่วนระยะที่ 2 ฝั่งตะวันออก พื้นที่ 298 ไร่ อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาราษฎรครอบครองใช้ประโยชน์ที่ดิน เมื่อแล้วเสร็จกรมธนารักษ์จะส่งมอบให้กนอ.เช่าต่อ คาดว่าจะได้รับพื้นที่ทั้งหมดภายใน 2 ปี

ทั้งนี้ กนอ. ได้ออกโปรโมชั่นส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสงขลา (สะเดา) ระยะที่ 1 โดยผู้เช่ารายใหม่ที่ทำสัญญาภายในสิ้นปี 2565  ได้รับสิทธิฟรีค่าเช่า 3 ปีแรกนับตั้งแต่วันที่ทำสัญญากับ กนอ. และฟรีค่าบริการรักษาบำรุงสิ่งอำนวยความสะดวก 3 ปีแรก นับจากวันที่ได้รับอนุญาตจาก กนอ. ขณะที่ผู้เช่ารายเดิมได้รับสิทธิฟรีค่าเช่า 3 ปีแรกนับจากวันทำสัญญา ฟรีค่าบริการรักษาบำรุงสิ่งอำนวยความสะดวก 3 ปีแรก นับจากวันที่ได้รับอนุญาตจาก กนอ. และยังได้ส่วนลด 25% ของค่าเช่าที่ดินในปีที่ 4

สำหรับจุดเด่นของนิคมอุตสาหกรรมสงขลา (สะเดา) มีศักยภาพเชิงพื้นที่ ตั้งอยู่ใกล้กับด่านสะเดา-บูกิตกายูฮิตัม ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีอัตราการส่งออกสูงที่สุดในประเทศไทย จึงเอื้อต่อการประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ และธุรกิจระหว่างไทย-มาเลเซีย นอกจากนี้ การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมสงขลา (สะเดา) ระยะที่ 1 ยังได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีสูงสุด 13 ปี ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) 

ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) พื้นที่ 1,218 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จ.สงขลา ก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนเม.ย. 2562 พร้อมรองรับการลงทุนในพื้นที่ โดยพื้นที่นิคมฯ ถือว่ามีศักยภาพและจุดเด่นที่สามารถรองรับอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้น้ำในกระบวนการผลิต มีอัตราค่าน้ำประปา/น้ำดิบต่ำกว่านิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ และยังมีความได้เปรียบเนื่องจากตั้งอยู่ในแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง เช่น น้ำยางพาราสด การคมนาคมที่สะดวกเนื่องจากใกล้สนามบินนานาชาติหาดใหญ่ 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการลงทุนในพื้นที่เพียง 11% ของเนื้อที่ให้เช่าทั้งหมด 300 ไร่ กนอ. จึงมีการศึกษาแนวทางการตลาดเพื่อชักจูงนักลงทุนเพิ่มเติม และมีการออกโปรโมชั่นส่งเสริมการลงทุน ผู้เช่ารายใหม่จะได้รับสิทธิฟรีค่าเช่า 1 ปีแรกนับตั้งแต่วันที่ทำสัญญากับ กนอ. และฟรีค่าบริการรักษาบำรุงสิ่งอำนวยความสะดวก 1 ปีแรก นับจากวันที่ได้รับอนุญาตจาก กนอ. ขณะที่ผู้เช่ารายเดิม ก็ได้รับสิทธิฟรีค่าเช่า 2 ปีแรก นับจากวันทำสัญญา ฟรีค่าบริการรักษาบำรุงสิ่งอำนวยความสะดวก 3 ปีแรก นับจากวันที่ได้รับอนุญาตจาก กนอ. และยังได้ส่วนลด 15% สำหรับผู้ซื้อรายใหม่ และได้ส่วนลด 20% สำหรับผู้ซื้อรายเดิม

นอกจากนี้ กนอ. เตรียมส่งบริษัทลูกด้านสาธารณูปโภค บริษัท ไพร์ม อินดัสเทรียล เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด โครงการร่วมทุนระหว่าง กนอ. และบริษัท ไพร์ม อินดัสเทรียล เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด เข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงไฟฟ้าเพื่อแก้ปัญหาการจ่ายไฟที่ไม่เสถียร และเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน เช่น โซลาร์รูฟท็อป และโซลาร์ลอยน้ำ กำลังผลิตไฟ 20 เมกกะวัตต์ โดยประเมินว่าหากมีการเช่าเต็มพื้นที่จะมีความต้องการใช้ไฟ 70 เมกกะวัตต์

“ทั้งนี้ แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันจะส่งสัญญาณชะลอตัว โดยเฉพาะด้านการบริโภคเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น แต่ภาคการลงทุนยังมีความเชื่อมั่นว่าจะมีเงินลงทุนไหลเข้าประเทศในครึ่งปีหลัง โดยกนอ. มีแผนจัดโรดโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อชักชวนให้เข้ามาขยายโครงการลงทุนในไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไฮเทค การแพทย์ ไบโอ และโรงไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจน"