เงินเฟ้อพุ่ง สัญญาณเตือน! ผู้บริโภครับมือสินค้าแพงไม่หยุด
ผ่านพ้นครึ่งปีแรกแบบหืดจับ สำหรับการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค เพราะการเผชิญภาวะ “เงินเฟ้อ” ที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ข้าวของเครื่องใ้ช ค่าครองชีพปรับตัวเพิ่มขึ้น
ที่ผ่านมา สินค้าหลายรายการปรับขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค(FMCG) ไม่ว่าจะเป็น ข้าวถุง น้ำมัน กระดาษชำระ เครื่องดื่ม ทั้งน้ำอัดลม เครื่องดื่มเกลือแร่ ไม่เว้นกระทั่ง “เบียร์”
ส่วนครึ่งปีหลัง ยังมีสินค้าที่จ่อคิวขึ้นราคาอีกเพียบ โดยเฉพาะสินค้าควบคุม ขณะนี้รอเพียงรัฐ “ไฟเขียว” เท่านั้น ทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องสำอาง เครื่องดื่มหมวดอื่นๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม “เงินเฟ้อ” ที่ทะลุกว่า 7% สูงสุดในรอบเกิน 1 ทศวรรษ ยังคงเป็นหนึ่งในแรงกดดันราคาสินค้า ซึ่งผู้ผลิตหลายรายต้องจับตาดูต่อเนื่อง เพราะนี่คือ “ระเบิดเวลา” ทางเศรษฐกิจลูกใหม่
รวิศ หาญอุตสาหะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด เจ้าของแบรนด์ศรีจันทร์ ให้มุมมองสถานการณ์เงินเฟ้อน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะสิ่งที่ทั้งโลกกำลังเผชิญ ยังไม่มีใครเคยมีประสบการณ์เจอ “เงินเฟ้อพุ่ง” เป็นประวัติการณ์เช่นนี้
ต้นทุนเงินเฟ้อ 7% กว่า เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคกำลังประมือ เพราะข้าวของหลายรายการขยับราคาเรียบร้อยไปแล้ว แต่ฝั่งผู้ผลิตแบกรับเงินเฟ้อที่แตะ 15% และผลัก 7% ไปยังราคาสินค้า จนกระทบการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในเวลานี้นั่นเอง
“ศรีจันทร์” มีผลิตภัณฑ์ความงามหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสีสัน(เมกอัพ) แป้งรองพื้น ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว โลชั่น เจลอาบน้ำกลิ่นน้ำหอม ฯ หลายรายการ บริษัทยัง “ไม่ปรับขึ้นราคา” แต่ครึ่งปีหลัง ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะ “ตรึงราคาเดิม” แบกภาระต้นทุนพุ่งไหวนานแค่ไหน
บริษัทจึงพยายามบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ มานั่งดูทั้งสินค้าแบบละเอียด กลุ่มไหนขายดี-ขายไม่ดี เพื่อจะบริการจัดการ “โละทิ้ง” สินค้าที่ไม่ทำกำไร เพราะการมีสินค้าจำนวนมก หากขายไม่ได้ ล้วนเป็นการ “แบกต้นทุน” ทั้งสิ้น ด้านสินค้ายังต้องออกสินค้า “ไซส์เล็ก” เช่น ซองซาเช่ เพื่อให้ซื้อง่ายขายคล่องมากขึ้นในยุคข้าวของแพง กำลังซื้อลด เป็นต้น
ส่วนการเงิน ต้องคุมเข้ม และดูละเอียดยิบว่า “เจ้าหนี้” เป็นใคร ต้นทุนทางการเงินเท่าไหร่ เพื่อหาทางลดภาระรายที่ต้องจ่ายหนี้สูง เป็นต้น
“เราต้องผ่าตัดละเอียด ดูทุกเรื่อง ทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ แบงก์ไหนต้องปิด(ใช้หนี้)ก่อนหลัง ต้นทุนมาไล่ดูทีละตัว ตรงไหนลดได้ สิ้นเปลืองต้องหาทางประหยัด เพราะตอนนี้ต้นทุนพุ่ง และแนวโน้มยังขึ้นต่อ รวมถึงเงินเฟ้อที่ยังไม่เห็นจุดสูงสุด อีก 6 เดือนข้างหน้าเงินเฟ้อจะลงยังไง ส่วนดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น กระทบต้นทุนทั้งสิ้น แต่เรายังไม่ขยับราคา แต่จะยันราคาเดิมให้นาน”
เกศมณี เลิศกิจจา นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เล่าถึงสถานการณ์ผลิตสินค้าความงาม เครื่องสำอาง ไม่ต่างจากศรีจันทร์ ที่ต้องเจอ ไต้นทุนพุ่ง” ตั้งแต่ปลายปี 2564 ไม่ว่าจะเป็น กลีเซอรีน ที่มีคุณสมบัตรในการกักเก็บและดูดความชื้นสู่ผิวพุ่งขึ้น 50% สาร Surfacant ที่ช่วยลดแรงตึงผิวในเครื่องสำอาง ราคาขยับสูงมาก รวมถึงปาล์มที่ราคาพุ่งหลายเท่า เป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำหรับผลิตสบู่ เป็นต้น
ทั้งนี้ ภาพรวมต้นทุนขยับไปแล้วไม่ต่ำกว่า 30-40% ส่วนค่าขนส่งขยับตัวแรงไม่แพ้กันราว 40% แต่ผู้ประกอบการยังต้องจำหน่ายสินค้า “ราคาเดิม”
จึงต้องจับตาต่อ หากการแบกต้นทุนชนเพดานเกินจะรับไหว ผู้ประกอบการเครื่องสำอาง คงทยอยขึ้นราคาสินค้า หรืออาจปรับกลยุทธ์ “ลดไซส์” ลดปริมาณ เพื่อให้ขายราคาเดิมได้ และไม่กระทบการทำ “กำไร-ขาดทุน”
ต้นปีสถานการณ์ต้นทุนการผลิตสินค้า กระทบให้ผู้ประกอบการต้องขึ้นราคา “สปอนเซอร์” เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ปรับราคาขายไปแล้ว ส่วนสินค้าหลักอื่น ยัง “คงราคาเดิม” ไว้
ประไพภักตร์ ไวเกิล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดโกลเบิล (F&B) กลุ่มธุรกิจ TCP เล่าว่า บริษัทให้ความสำคัญด้านการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมาก นอกจากซื้อวัตถุดิบในปริมาณมาก ยังต้องประสานงานกับซัพพลายเออร์อย่างใกล้ชิด เพราะทุกฝ่ายต่างได้รับแรงกดดัน “วัตถุดิบแพง” ในทิศทางเดียวกัน
ทั้งนี้ บางอย่างที่เกินจะควบคุม ต้องปล่อยให้เป็นไปตามสถานการณ์กลไกตลาด
ท่ามกลางสินค้าราคาแพง บางหมวดหมู่เลือกที่จะปรับกลยุทธ์การทำตลาดและขาย เน้นไซส์เล็กเป็นหัวหอกในการดึงเงินจากกระเป๋าของผู้บริโภค ทว่า กลุ่มเครื่องดื่ม การขายสินค้า “ยกลัง” เป็นสูตรขายที่ร้อนแรงมากตั้งแต่โควิด-19 ระบาด เนื่องจากผู้บริโภคไม่ต้องการซื้อสินค้าทีละน้อยชิ้น หรือออกจากบ้านไปซื้อบ่อยๆ
“ภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อชะลอตัว ทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าปริมาณมาก เพื่อสต๊อกไว้บริโภคทุกวัน การซื้อสินค้ายกลัง หรือปริมาณมาก เมื่อถัวเฉลี่ย ราคาต่ำกว่าซื้อปลีกด้วย”